“ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องเปิดประเทศทั้งประเทศ ให้ได้ภายใน 120 วัน”
"เราได้เห็นกันแล้วและต้องทำใจว่า ทั่วโลกยังจะต้องอยู่กับไวรัสนี้ต่อไปอีก ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถรอจนไวรัสนี้หมดไปจากโลก และเราก็ไม่สามารถรอ จนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสกันถ้วนหน้าก่อน แล้วจึงค่อยเปิดประเทศ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้เหมือนกับโรคภัยอื่นๆ จัดการโควิดให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับออกมาทำมาหากินกันได้อีกครั้ง นี่คือนโยบายของผม และเป็นเป้าหมายที่ผมตั้งไว้"
"ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง หากความเสี่ยงนั้น เราได้ประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่า อยู่ในระดับที่พอจะรับได้"
16 มิ.ย. 2564
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกแถลงการณ์ “ตั้งเป้า ประเทศไทยต้องเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน” ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ประกาศกร้าว ขีดเส้นวันเปิดประเทศ โดยไม่มีการเปิดเผยแนวทางหรือมาตรการที่เป็นรูปธรรม ท่ามกลางความห่วงกังวลของคนไทยทั้งประเทศ ต่อประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้
44 วันผ่านไป อะไรเกิดขึ้นกับประเทศไทยบ้าง 'วอยซ์ ออนไลน์' รวบรวมเหตุการณ์สำคัญ ไว้ดังนี้
17 มิ.ย. - 30 ก.ค. 2564
มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ากำลังแพร่เชื้ออย่างหนัก โดยมีผู้ป่วยสะสม รวม 205,896 คน จากทั้งหมด 543,361 คน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อจากการระบาดทั้งหมด
เมื่อเฉลี่ย 44 วัน มีผู้ติดเชื้อ 4,679 คน เสียชีวิต 1,157 คน จากทั้งหมด 4,397 คน คิดเป็น 1 ใน 4 ของการระบาดทั้งหมด เฉลี่ย 44 วันเสียชีวิตวันละ 26 คน
ขณะที่ยอดผู้ป่วยใหม่พุ่งทุบสถิติใหม่ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 แค่เพียงวันเดียวก็มีรายงานว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 17,669 ราย พร้อมทั้งเป็นมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มที่เป็นยอดสถิติใหม่สูงสุด 165 ราย
24 มิ.ย. 2564
กลุ่มมวลชนจากหลายภาคส่วนร่วมชุมนุม เนื่องในวันครบรอบเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง
26 มิ.ย. 2564
กลุ่มไทยไม่ทนฯ นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำจัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
สัญญาเตือนของสายพันธุ์เดลต้ากำลังเริ่มแผลงฤทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ ราชกิจจาเบุกษาทำคนไทยทั้งประเทศตื่นตระหนกในเวลา 01.00 น.วันที่ 27 มิ.ย. 2564 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ต้องงัดอำนาจออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) มีสาระสำคัญคือการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) พร้อมทั้งล็อกดาวน์ปิดแคมป์ก่อสร้างเป็นเวลา 30 วัน ส่วนการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซื้อซื้อเฉพาะนำกลับเท่านั้น
30 มิ.ย. 2564
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยอมรับเอกสารสรุปการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ค้านการฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 เนื่องจากจะเป็นการยอมรับว่า Sinovac ไม่มีประสิทธิภาพ
1 ก.ค. 2564
พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะลงพื้นที่เปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ภายหลังมีภาพหลุดการร่วมรับประทานอาหารริมทะเลร่วมกับรัฐมนตรีและคณะทำงานพร้อมพูดคุยอย่างมีความสุขท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโควิดกำลังพุ่งสูงขึ้นรายวัน จนถูกวิจารณ์เรื่องความเหมาะสมจากพฤติกรรม
3 ก.ค. 2564
บก.ลายจุด หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ จัดคาร์ม็อบ (Car Mob) เปิดมิติใหม่การชุมนุมในช่วงการระบาดของโควิด-19 รณรงค์ให้ประชาชนร่วมชุมนุมโดยขับรถ ไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บีบแตรไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และตระเวนไปยังสถานที่ทำการพรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรคสำคัญ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยให้ทบทวนการร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ
6 ก.ค. 2564
พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกักตัวทันทีเป็นเวลา 7 วัน หลังใกล้ชิดกับเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด จากการร่วมงานภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หลังถ่ายภาพร่วมกับผู้ร่วมงานที่ได้รับเชื้อ ต้องกักตัว 14 วัน
8 ก.ค. 2564
พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ภาพระหว่างกักตัวโดยทำงานในบ้านพักหรือ เวิร์กฟรอมโฮม (WFH) โดยสวมในชุดสูท ด้านหลังมีภาพพระถูกปิดทองที่ด้านหลัง บนโต๊ะมีเอกสารจำนวนหนึ่ง โน๊ตบุ๊ก 1 เครื่อง แจกกันดอกไม้ 1 ช่อ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่า เป็นการจัดฉาก
10 ก.ค. 2564
Car Mob ครั้งที่ 2 ผู้คนตอบรับเข้าร่วมอย่างล้นหลาม พร้อมป้ายเขียนข้อความด่าทอที่รุนแรงขึ้น ตามระดับของสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่รุนแรงขึ้น และไม่มีมาตรการที่ชัดเจนจากภาครัฐ ทั้งการจัดหาวัคซีน
พล.อ.ประยุทธ์ ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ประกาศยาแรงเข้มเคอร์ฟิวในเขตกรุงเทพมหานคร -ปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00 -04.00 นาฬิกา ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน
12 ก.ค.2564
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมผ่านระบบออนไลน์รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากประเทศญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดส
16 ก.ค. 2564
สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตภายในประเทศไทย จะต้องเลื่อนการส่งมอบไปยังเดือน พฤษภาคม 2565 ซึ่งเท่ากับว่า การฉีดวัคซีนให้คนไทย 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศไว้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นจริง
18 ก.ค. 2564
กลุ่มเยาวชนปลดแอก นัดชุมนุม เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล มีประชาชนทั้งเดินเท้าและใช้รถยนต์เข้าร่วมจำนวนมาก ท่ามกลางการปิดกั้นของเจ้าหน้าที่และตู้คอนเทนเนอร์อย่างแน่นหนา มีการใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถเคลื่อนขบวนไปถึงบริเวณถนนนางเลิ้ง ก่อนจะทำการเผาหุ่นฟาง สะท้อนถึงการเสียชีวิตด้วยโควิด 19 ของประชาชนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการบริการสาธารณสุข จนเสียชีวิตที่บ้านหรือริมถนน อันเป็นผลจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์
ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ ลงนามออกข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 (ฉบับที่ 28) ยกระดับควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า สั่งปรับพื้นที่เข้มงวดสูงสุดเคอร์ฟิวรวม 13 จังหวัดต่ออีก14วัน พร้อมกำชับประชาชนนให้เลี่ยงออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น พร้อมทั้งสั่งปิดกิจการเสี่ยงอีก 14 วัน
22 ก.ค. 2564
พบเอกสาร "ด่วนมาก" ของกองพิธีการ กรมสารบรรณทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ถึงสภากาชาดไทย เรื่อง ขอรับการสนับสนุนวัคซีน ชนิด mRNA ก่อนยอมรับภายหลังว่าเป็นเอกสารจริง แต่ไม่เป็นทางการ
23 ก.ค. 2564
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 13) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมติเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. พ.ศ.2564 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. พ.ศ.2564
27 ก.ค. 2564
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยเอกสารการจัดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ตำรวจนครบาล สอดคล้องกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ตำรวจ จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่ที่ไม่ติด 10 อันดับแรกของการเร่งด่วนการฉีดวัคซีน แต่ได้รับการจัดสรรมาเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ ในขณะที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มแรก และถูกเลื่อนคิวอย่างไม่มีกำหนด
28 ก.ค. 2564
สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ประกาศบริจาค วัคซีนแอสตร้าเซเนกา 415,000 โดส แก่ประเทศไทย พร้อมนำส่งถึงไทยในเดือนสิงหาคม
29 ก.ค. 2564
พล.อ.ประยุทธ์ งัดข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกครั้งเป็นฉบับที่29 ห้ามสื่อมวลชนเสนอนำเสนอข่าวในลักษณะเฟคนิวส์ สร้างความหวาดกลัวบิดเบือน พร้อมทั้งมอบอำนาจ กสทช.แบนไอพีแอดเดรส และแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ขณะเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตยังลงนามคำสั่งปิดจังหวัด 14 วัน ห้ามเดินทางผ่านเข้า-ออกทุกช่องทางยกเว้นมีผลตรวจยืนยันที่ชัดเจน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3-16 ส.ค. รวมเปิดรับท่องเที่ยว เพียง 30 วัน
ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาว่า ภาพผู้เสียชีวิตริมถนนจากวิกฤตโควิด-19 เป็นการจัดฉาก หากมีการจัดฉากจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
นอกจากนี้วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกนับแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยย้ำถึงกระแสกดดันให้ตัวเองลาออกจากนายกฯ ว่ายังไม่ใช่เวลา วันนี้ทำงานหนักทุกวันหลายคนก็บอกว่าทำงานหนักแล้วไม่เห็นได้งานก็ขอไปหาให้เจอว่ามีงานอะไรที่ออกมาแล้วบ้าง ซึ่งคิดว่าตนก็พยายามทำอย่างที่สุดแล้ว ด้วยการฟังเสียงประชาชน พร้อมติดตามสถานการณ์จากคณะแพทย์ และสาธารณสุข
"วันนี้เห็นใจคนเหล่านี้สอบถามบางคนทำงานติดต่อกัน 60 วันไม่ได้พักเป็นปีแล้ว วันนี้ผมเห็นใจและให้ไปดูแลค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้ตามระเบียบราชการโดยเบิกให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ โดยต้องขอบคุณทั้งอาสาสมัคร จิตอาสา แพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และทุกคนที่เกี่ยวข้อง"
30 ก.ค. 2564
วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาบริจาค ถึงประเทศไทย โดยยังเหลือการรับบริจาคอีก 1 ล้านโดส ตามที่ แทมมี่ ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐเชื้อสายไทยเปิดเผย
1 ส.ค. 2564
นัด Car Mob ครั้งที่ 3 โดยมีภาคประชาสังคมหลายภาคส่วนเข้าร่วมทั้งนิสิต นักศึกษา สหภาพแรงงาน ประชาชนหลากสาขาอาชีพ ควบคู่กับบุคคลมีชื่อเสียง ดารานักแสดงที่ร่วมกัน call out ส่งเสียงสะท้อนความไม่พอใจต่อความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังมีอดีตแกนนำผู้ชุมนุมหลายรายทีต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง เข้าร่วมการชุมนุม เช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
เหตุการณ์สำคัญตลอด 44 วัน ที่ผ่านไป แทบไม่ต่างจากหายนะที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย และไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุเศร้าสลดขึ้นอีกกี่ครั้ง โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป การเมืองจะกลับมาร้อนระอุอีกครั้งทั้งในท้องถนนและในสภา โดยแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดย พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล ล็อกคิวช่วงปลายเดือนส.ค. เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์
และวันที่ 14 ต.ค. จะเป็นวันครบกำหนดโรดแมป 120 วัน จึงยังไม่มีใครรู้ว่า จะได้เปิดประเทศ หรือจะเป็นการปิดฉาก พล.อ.ประยุทธ์ อันเป็นจุดจบของเผด็จการทหารเหมือนเช่นในประวัติศาสตร์ไทยอีกหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง