ไม่พบผลการค้นหา
คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ประจำวันที่ 24 มกราคม 2566
อนุมัติ 5,945 ล้านบาท ให้ กกต. จัดการการเลือกตั้ง

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (24 มกราคม 2566) อนุมัติหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง จำนวน 5,945,161,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็นค่าใช้จ่าย ดังนี้ 

1. รายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ดำเนินการโดยสำนักงาน กกต. จำนวน 5,104,546,750 บาท อาทิภารกิจในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภารกิจเตรียมความพร้อมบุคลากร วิทยากร และเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกระดับ รวมทั้งภารกิจจัดการเลือกตั้งกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการลงคะแนน เลือกตั้งใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่าง

2. รายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการโดยหน่วยงานสนับสนุน ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ รวม 10 หน่วยงาน วงเงิน 840,614,250 บาท อาทิ ภารกิจสนับสนุนการควบคุมและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักร โดย กระทรวงการต่างประเทศ  ภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภารกิจสนับสนุนการรณรงค์เผยแพร่ความรู้การเลือกตั้ง  โดยกระทรวงศึกษาธิการ ภารกิจขนส่งบัตรเลือกตั้งและวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้ง หนังสือแจ้งเจ้าบ้านและอื่นๆ โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  เนื่องจากอายุของสภาผู้แทนราษฎรว่า จะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ


ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลาง วงเงิน1,514.6172ล้านบาท

ขณะเดียวกันที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย ตามที่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาคลาวด์ข้อมูลสุขภาพ สธ. เพื่อวางแผนร่วมกันและดำเนินการพัฒนาระบบบริการและระบบบริหารจัดการสุขภาพ

เชื่อมโยงระบบการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่ออนาคต (Digitally connected health care system of the future) ให้ข้อมูลสุขภาพสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไร้รอยต่อและได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ หน่วยบริการสามารถจัดบริการให้เกิดการรักษาทุกที่ทุกเวลาแบบไร้รอยต่อ และได้ร่วมกันเสนอโครงการฯ เพื่อขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว 

โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียม/พัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย (National Health Information Platform) สำหรับบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ และเพื่อเช่าใช้ระบบคลาวด์พื้นฐานเป็นแพลตฟอร์มกลางภายใต้การดูแลของภาครัฐ รองรับการบูรณาการข้อมูล และการเก็บข้อมูลในรูปแบบ Private Cloud มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นในการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งในกรอบวงเงิน 1,514.6172 ล้านบาทสำหรับระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) ซึ่งจะประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก

คือ 1.การพัฒนาระบบบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ ครอบคลุมการจัดหาระบบซอฟต์แวร์ (Application Software) การจ้างพัฒนาระบบและการฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 1,129.3157 ล้านบาท และ 2.การจัดหาบริการระบบคลาวด์กลาง (Cloud Server) ครอบคลุมการเช่าคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข จำนวน 4,311 VM การเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่ม และการบริหารจัดการ Log และ Managed Security Service วงเงิน 385.3014 ล้านบาท ซึ่งจะมีแหล่งเงินงบประมาณจากงบประมาณ ปี 2566 งบกลางฯ จำนวน 553.8203 ล้านบาท และจำนวน 960.7969 ล้านบาทเป็นงบผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2567-2568

กรอบแนวคิดของระบบงาน คือ พัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงการให้บริการสุขภาพทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยมีระบบงานที่สำคัญประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพสำหรับเขตสุขภาพ (MOPH Data Exchange Gateway) เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการภาครัฐในสังกัดอื่นๆ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ และเก็บข้อมูลทางสถิติงานบริการจัดการสุขภาพ สร้างรายงาน เพื่อใช้งาน การวางแผน พัฒนา จัดการทางกลยุทธ์ต่างๆ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลบริหารจัดการจากส่วนงานต่างๆ

2. ระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Central Data Exchange Service) เป็นตัวแทน (Proxy/Broker) ในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้ามหน่วยงานต่างๆ

3. พัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศกลาง เพื่อให้บริการผู้ป่วยนอก สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อการบันทึกข้อมูลสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูลในการรับ - ส่งต่อ และการส่งรายงานด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ แพลตฟอร์มสารสนเทศกลางจะเปิดโอกาสให้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากระบบสารสนเทศจากระดับปฐมภูมิ และระบบต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว

“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพการบริการในหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ผ่านระบบดิจิทัลอย่างเป็นสากล เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะทำให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ รวม 901 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 9,000 แห่งเข้าใช้คลาวด์กลางด้านสาธารณสุข

"และทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างน้อย 4,500 แห่งเข้าใช้ระบบสารสนเทศเพื่อให้บริการผู้ป่วยนอกได้ ในกรณีฉุกเฉินแพทย์ผู้รักษาสามารถดูข้อมูลคนไข้เพื่อให้การรักษาชีวิตของคนไข้ได้อย่างรวดเร็วและยังรองรับการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นตามสิทธิของเจ้าของข้อมูลด้วย” ทิพานัน กล่าว


ไฟเขียววงเงิน 7,985,786,100 บาท แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำการศึกษา

รวมถึงมีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเสนอ ซึ่งประกอบไปด้วย 9 แผนงาน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น วิจัยและพัฒนาร่วมกับพันธมิตรและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติต่างๆ กรอบวงเงินงบประมาณ 267.50 ล้านบาท

2. พัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (ปฐมวัย-ภาคบังคับ) เช่น พัฒนาระบบคัดกรองและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในครัวเรือนยากจนที่สุดร้อยละ 15 ล่างของประเทศเพื่อให้เข้าถึงการเรียนรู้ การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบ มีเงื่อนไขสำหรับ(นักเรียนทุนเสมอภาค โดยผลักดันให้มีการปรับอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน รวมทั้งติดตามนักเรียนเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา กรอบวงเงินงบประมาณ 5,359.05 ล้านบาท

3. พัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ เช่น พัฒนากลไกและสร้างเครือข่ายโรงเรียนเชิงพื้นที่ในระดับจังหวัดให้เป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษา กรอบวงเงินงบประมาณ 280 ล้านบาท

4. จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้/สังเคราะห์ข้อมูลระหว่างคณะทำงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ กรอบวงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท

5. พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เช่น ส่งเสริมนักเรียนยากจนพิเศษและครูตำรวจตระเวนชายแดนประจำการพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในวิชาชีพครูได้เรียนครูและกลับไปเป็นครูยังภูมิลำเนาของตนเอง กรอบวงเงินงบประมาณ 394.11 ล้านบาท

6. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ เช่น สนับสนุนเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อในสายอาชีพที่เสมอภาคกับเยาวชนทุกคน กรอบวงเงินงบประมาณ 1,025.92 ล้านบาท

7. ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชน และประชากรวัยแรงงานนอกระบบ เช่น ส่งเสริมให้ได้รับโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถจนมีทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพตามศักยภาพ กรอบวงเงินงบประมาณ 251 ล้านบาท

8. สื่อสารความรู้และระดมความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เช่น สนับสนุนให้เกิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ กรอบวงเงินงบประมาณ 46.50 ล้านบาท

9. บริหารและพัฒนาระบบงานโดยพัฒนาระบบตามแผนดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยลดภาระงานเชิงปริมาณ เกิดความแม่นยำ ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดเชิงปฏิบัติงาน กรอบวงเงินงบประมาณ 291.71 ล้านบาท

“ผลผลิตสำคัญ ผลต่อประชาชนและประเทศ ของการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่สำคัญเช่น เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้รับการอุดหนุนเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษา ที่สอดคล้องกับความจำเป็นตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2,636,304 คน/ครั้ง

"เยาวชนและแรงงานนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือตามความจำเป็นหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่เหมาะสม และ 3.ครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษาได้รับการพัฒนาคุณภาพทั่วถึง” ทิพานัน กล่าว


อนุมัติปรับเพิ่มอัตราจ่ายให้สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. .... ปรับเพิ่มให้สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับสมาชิกในอัตราที่กำหนดตามช่วงอายุไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การจ่ายเงินสะสมสูงสุดของสมาชิก  ขั้นต่ำ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (จากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2558 เดิมขั้นต่ำ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน ไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี) ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 16,800 บาท

2. การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาล 

-สมาชิกอายุไม่เกิน 30 ปี บริบูรณ์  

ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน  600 บาทต่อปี )

-สมาชิกอายุเกิน 30 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 50 ปีบริบูรณ์  ในอัตราร้อยละ 80 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 960 บาทต่อปี 

-สมาชิกอายุเกิน 50 ปีบริบูรณ์  ในอัตราร้อยละ 100 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี) 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม การเพิ่มจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบ เป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ประมาณ 19 ล้านคนทั่วประเทศ ให้เข้าร่วมกองทุน ซึ่งเป็นการออมร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน รวมทั้งกระตุ้นสมาชิก กอช. เพิ่มการออม

สร้างความมั่นคงในอนาคตให้สมาชิกมีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง ยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัยในอัตราที่เพิ่มขึ้น ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรียังเน้นเป้าหมายของกองทุน ฯ มุ่ง ให้การดูแลบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใดๆ อย่างเช่น เกษตรกร โดยหวังให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังมีรายได้ในการดำรงชีวิตในยามชรา ซึ่งในปี 2566  มีสมาชิก กอช. ประมาณ 2,575,000 คน  

อนึ่ง กระทรวงการคลัง ยังประเมินว่า จำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม โดยเงินบำนาญที่คาดว่าจะได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในบัญชีประกอบด้วยเงินสะสมของสมาชิก เงินสมทบจากรัฐ และผลตอบแทนจากการนำเงินดังกล่าวไปลงทุน 


หนุน 686 ลบ. พัฒนาเครือข่ายดูแลสุขภาพจิต เพิ่ม 2,950 คน

นอกจากนี้ รัชดา ธนาดิเรก เผยว่าครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต กรอบวงเงิน 686.07 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 – 2570 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีบุคลากรด้านสุขภาพจิตรวม 5,946 คน (คิดเป็น 8.99 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก) และแต่ละปีจะผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตได้ 488 คนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริการประชาชน 

โครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และยกระดับคุณภาพบริการสุขภาพจิตให้ประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล โครงการนี้มีเป้าหมาย คือ เพิ่มกำลังคนด้านสุขภาพจิต จำนวน 2,950 คน แบ่งเป็น 1.ด้านจิตแพทย์ทั่วไป 150 คน 2.ด้านพยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวช 1,500 คน

3.ด้านพยาบาลเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช 100 คน 4.ด้านนักจิตวิทยาคลินิก 400 คน 5.ด้านนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช 400 คน 6.ด้านนักกิจกรรมบำบัดจิตเวช 250 คน 7.ด้านเภสัชกรจิตเวช 150 คน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 – 2570 ส่วนวิธีการดำเนินโครงการ

อาทิ 1.ประสานความร่วมมือกับสภาวิชาชีพ สถาบันฝึกอบรมของทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อจัดทำแผนร่วมกัน โดยพัฒนาบุคลากรเดิมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น 2.พัฒนาศักยภาพสถานบริการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มหน่วยผลิตบุคลากรจิตเวชจากต้นทุนที่มีอยู่ และ 3.ติดตามประเมินผลการพัฒนาบุคลากรแต่ละสาขาและระบบบริการจิตเวชและยาเสพติด

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ 1.สามารถเพิ่มการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตของไทยได้ปีละ 590 คน รวม 2,950 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี 2.โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ มีสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิตเพียงพอต่อการจัดบริการให้ประชาชนในทุกอำเภอ 3.ประชาชนที่มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ก่อความรุนแรง ได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพใกล้บ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ก่อความรุนแรงในชุมชน และ 4.ผู้ป่วยจิตเวชสามารถเข้าถึงบริการจิตเวชอย่างต่อเนื่อง


ครม.เคาะ ร่างพ.ร.ก.จัดการอาชญากรรมออนไลน์

ทั้งนี้ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยายตัวรวดเร็วและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 ตุลาคม 2565 มีคดีออนไลน์เกิดขึ้นกว่า 114,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 22,000 ล้านบาท เฉลี่ย 800 คดีต่อวัน อีกทั้ง ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ สามารถระงับการทำธุรกรรมใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเป็นธุรกรรมที่กระทำผิดทางอาญา โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีผู้อื่นที่อยู่ในขบวนการเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า บัญชีม้า ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระงับการทำธุรกรรมหรืออายัดเงินได้ทันท่วงที  

ดังนั้น ครม.จึงมีมติอนุมัติร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. .... เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างเร่งด่วน ร่างพระราชกำหนดนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่หลอกลวงประชาชนให้โอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และลงโทษผู้ที่เปิดบัญชีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาใช้ในการกระทำความผิดอาญา โดยมีรายละเอียด อาทิ

1.กำหนดให้มีกลไก “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกำหนดหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน

2.สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล 

3.ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้

4.สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเท่าที่จำเป็น เกี่ยวกับข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ข้อความสั้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกัน

5.ขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรม อาทิ 1)กรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงาน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรม แล้วแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมต่อไปทันทีเป็นการชั่วคราว หากตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุสงสัย ให้สามารถดำเนินการทำธุรกรรมต่อไปได้

2)กรณีได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรมและแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 48ชั่วโมง และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นภายในเวลา 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง

6.การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน สามารถแจ้งผ่านทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ กรณีแจ้งทางโทรศัพท์ให้ผู้ระงับการทำธุรกรรมบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

7.กำหนดบทลงโทษ แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ 1)ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2)ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่ประชุมให้รับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบทั้งหมดทุกประเด็นเสียก่อน เพื่อให้การตรวจพิจารณาร่างพระราชกำหนดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคุ้มครองและปกป้องประชาชนจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ ทั้งนี้ ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานในวันเดียวกันว่า เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกินกว่า 1 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 ของ 14 กระทรวง 25 หน่วยงานรับงบประมาณ วงเงินรวม 3.6 แสนล้านบาทเศษ โดยมีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณในปี 2567 ที่น่าสนใจ เช่น กระทรวงมหาดไทยเสนอขอผูกพันงบประมาณ ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 7 โครงการ 

รวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป “การจัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น”