นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยชาว กทม.จำนวน 41 คน เดินทางมายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 1 นายกรัฐมนตรีที่ 2 และผู้ว่าฯ กทม. ที่ 3 ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ศรีสุวรรณ จรรยา และชาว กทม.ยื่นฟ้องศาลปกครอง
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นพิษ หรือ PM2.5 แพร่กระจายเกินมาตรฐานปกคลุม กทม.และปริมณฑลมาหลายสัปดาห์ จนเป็นเหตุให้ประชาชนเจ็บป่วย และก่อปัญหาตามมามากมาย โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมทั้งไม่มีมาตรการหรือแผนงานที่สามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรมในระยะยาวได้ หากปล่อยไปก็อาจจะเกิดวังวนของปัญหาเช่นนี้กลับมาอีกในแต่ละปี ซึ่งจะกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ ดังนั้น สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาว กทม.จึงรวมตัวกันนำความายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ดังนี้
1. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ภายใน 30 วันนับแต่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเป็นที่สุด
2. ขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้ผู้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 สั่งดังนี้
(1) สั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร กระทำหรือร่วมกันกระทำการใด ๆ อันจะมีผลเป็นการควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากฝุ่นพิษหรือ PM 2.5 นั้นได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ก่อให้เกิดภาวะมลพิษดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งบุคคลนั้นไม่ให้กระทำการใดอันจะมีผลเป็นการเพิ่มความรุนแรงแก่ภาวะมลพิษในระหว่างที่มีเหตุภยันตรายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ภายใน 3 วันนับแต่ศาลมีคำสั่ง
(2) สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดออกประกาศ กำหนดมาตรการห้ามเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต และห้ามเผาซังนาข้าวหลังการเก็บเกี่ยว และบังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เฉกเช่นเดียวกันกับผู้ว่ากำแพงเพชร ภายใน 3 วัน
3. ให้ผู้ว่า กทม. ใช้อำนาจตามมาตรา 32 แห่งพ.ร.บ.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 และกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ในการออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการระงับและป้องกันการแพร่กระจายของฝุ่นละอองขาดเล็กหรือฝุ่นพิษ PM 2.5 พร้อมกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับฝุ่นพิษ หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครให้ได้มากที่สุด และออกคำสั่งห้ามมีการตัดต้นไม้บริเวณทางเท้าริมถนนโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะเป็นการตัดแต่งเพื่อความสวยงามและหรือป้องกันอุบัติภัยเท่านั้น ทั้งนี้ตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร