ไม่พบผลการค้นหา
นักวิเคราะห์ตลาดเงินธนาคารไอเอ็นจีประเมินค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้อีก หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมา พบข่าวเซอร์ไพร์สตลาด ทำเงินบาทอ่อนค่าร้อยละ 1 สะท้อนความเสี่ยงทางการเมืองไทยก่อนการเลือกตั้ง แม้วันนี้จะเปิดตลาดแข็งค่าขึ้นแล้วมาอยู่ที่ระดับ 31.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ก.พ.) ส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าลดลงเกือบร้อยละ 1 ซึ่งนับว่าลดลงสูงสุดเป็นครั้งแรกหลังจาก 22 ต.ค. 2561 โดยค่าเงินบาทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 31.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

รายงานจาก CNBC ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิเคราะห์ และยิ่งมีเพิ่มขึ้นหลังจากมีพระราชโองการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ระบุว่า การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง เป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

'ปรากัซ ซัคพาล' นักเศรษฐศาสตร์เอเชีย ธนาคารไอเอ็นจี กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีนัยสะท้อนความเสี่ยงของการเมืองไทยในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ที่จะส่งผลต่อตลาด ขณะที่เงินบาท เป็นหนึ่งในสกุลเงินเอเชียที่มีแข็งค่าสูงสุดในปีที่ผ่านมา ในระยะข้างหน้าอาจมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของรอยเตอร์สชี้ว่า เงินบาทเมื่อวันที่ 8 ก.พ. อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 31.64 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2561 แต่วันนี้ (11 ก.พ.) เงินบาทได้ดีดกลับมาแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับแข็งค่ากว่าช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งอยู่ที่ 33 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ซัคพาลมองว่าค่าเงินบาทอาจอ่อนลงไปถึง 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 24 มี.ค. นี้ โดยมีเหตุผลหลักมาจากความเสี่ยงทางการเมือง ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศเกิดความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น และอาจนำเงินออก หรือ ไม่เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมเป็นต้น

ทั้งนี้ รายงานจากห้องค้าเงิน ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ที่ 11 ก.พ. ที่ระดับ 31.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.3 จากระดับปิดเมื่อวันศุกร์ที่ระดับ 31.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปีถึง 8 ก.พ. เงินบาทมีค่าเฉลี่ยที่ 31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดเมื่อวันสิ้นปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง; CNBC