เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่อาคารไทยซัมมิท คณะก้าวหน้าจัดกิจกรรมเสวนาในประเด็น ‘จาก The Look of Silence ถึงความเงียบแห่งเดือนพฤษภาคม’ ซึ่งเป็นการเสวนาถึงเหตุการณ์สลายชุมนุมในปี 2535 และ 2553 รวมถึงกิจกรรมการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Look of Silence เหตุการณ์การสังหารหมู่ประชาชนที่อินโดนีเซีย ซึ่งทางคณะจัดร่วมกับทาง Documentary club ผู้ถือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยมี รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและสื่อมวลชน, นายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรและนักแสดง และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า โดยมีพรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มต้นการเสวนามีการพูดถึงกิจกรรมการฉายเลเซอร์พร้อมแฮชแท็ก #ตามหาความจริง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในโซเชียล และมีการนำเสนอข้อมูลความจริงชุดต่างๆ ออกมาเผยแพร่อีกมา อาทิ กรณีทำไมคนเสื้อแดงถึงต้องบุกไปโรงพยาบาลจุฬาฯ หรือ กรณี สายชล แพบัว ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ปี 2553 จากภาพถือดับเพลิงแต่ถูกบิดเบือนว่าเป็นถังแก๊ส แต่สุดท้ายศาลตัดสินยกฟ้อง ทำให้เขาต้องติดคุกโดยไม่มีความผิดเป็นเวลานาน
ศิโรตม์ ดันปลดล็อกประเทศครั้งใหญ่ ดันประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ
นายศิโรตม์ กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุการณ์ พ.ค. 2535 ตนยังเป็นนักศึกษา ซึ่งในช่วงที่มีการยิงกันครั้งแรกนั้น เกิดจากการที่ประชาชนจะเดินขบวนจากสนามหลวงไปทำเนียบรัฐบาล โดยมีคนถูกยิงจุดแรกตรงแยกผ่านฟ้า ซึ่งคำถามที่เราต้องการคำตอบ คือ การเดินขบวนของประชาชนไปทำเนียบรัฐบาล เป็นเหตุให้คนถูกยิงทิ้งได้เหรอ เป็นภาพสะเทือนใจ เพราะจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งมีเวทีหนึ่งไปตรงผ่านฟ้าซึ่งมีอีกเวทีหนึ่งใช้เวลาเดินทางค่อนข้างนาน เพราะผู้ชุมนุมเยอะมาก ขณะเดียวกันเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปสะพานผ่านฟ้า ก็สวนกับคนได้รับบาดเจ็บที่ถูกยิง สำหรับเหตุการณ์ปี 2553 ตนได้รับเชิญจากสื่อไปร่วมรายการหลายรายการ ก็ได้พบเรื่องการสร้างวาทกรรม สร้างความจริงอีกชุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ คนตายโดนชายชุดดำยิง เป็นต้น คิดว่า เป็นความพยายามของสื่อจำนวนหนึ่งที่มีอคติกับเสื้อแดงและมีอคติคนที่ต้องการประชาธิปไตยหลังรัฐประหาร 2549 รวมถึง นักวิชาการ หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีส่วนด้วย
"สำหรับการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ฝ่ายนี้ก็จะทำงานกันอย่างเต็มที่ แแทรกแซงโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นตุลาการภิวัฒน์ หรือองค์กรอิสระก็ไม่อิสระ หลังรัฐประหาร 2557 เราไม่สามารถพูดได้แล้วว่ามีกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ ทั้งหมดนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ประเทศนี้จำเป็นต้องมีการปลดล็อกครั้งใหญ่ ปลดล็อกพันธนาการต่างๆ ที่ทำให้ตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งที่ทำลายประชาธิปไตย ถ้าไม่ปลดล็อกเราไม่สามารถสร้างความยุติธรรมได้ ความยุติธรรมไม่สามารถแยกออกจากเรื่องอำนาจการเมือง และที่ผ่านมาถูกเหยียบใต้อำนาจทางการเมือง 10 กว่าปีแล้ว ต้องปลดล็อกก่อน ต้องมีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ เราถึงจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาได้" นายศิโรตม์ กล่าว
นักวิชาการจุฬาฯ ชี้กองทัพยิงประชาชนมือเปล่าเกินกว่าเหตุ
ด้าน รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า สำหรับคนที่ตามรายงานเรื่องการสลายชุมนุมปี 2553 ถ้าไปค้นสิ่งแรกที่จะเจอคือรายงาน คอป. ซึ่งสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มักนำไปใช้ ซึ่งรายงาน คอป. สำหรับตนนั้นคือใบอนุญาตให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ลอยนวลและโยนความผิดให้กับผู้ชุมนุม คือ ชายชุดดำ เพราะรายงานระบุว่า ชายชุดดำเป็นพวกเดียวกันกับคนเสื้อแดง และทุกจุดที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมีชายชุดดำโผล่มา และทหารป้องกันตัวเอง ยิงใสชายชุดดำ กระสุนพลาด โดนประชาชน นี่เป็นรายงานที่อธิบายให้ความเห็นอกเห็นใจทหารเยอะมาก
แต่สำหรับรายงาน ศปช. ของเรา พบว่าจุดที่มีชายชุดดำโผล่ จุดเดียว คือ วันที่ 10 เม.ย. 2553 ตรงแยกคอกวัว แต่ส่วนอื่นๆ ไม่เกิดขึ้น และการที่กองทัพยิงประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุ คนเสียชีวิต 84 คนไม่มีใครมีอาวุธร้ายแรงในมือที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่เรากลับพบว่าแทนที่เจ้าหน้าที่จะป้องกันตัว แต่เป็นเป็นการยิงระดับหัวขึ้นไป เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิยิงคนไม่มีอาวุธให้ตาย หลักฐานนี้คือการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ นี่เป็นความจริงอีกชุดที่ต่างจาก คอป.
ยกศาลการันตีไม่มีชายชุดดำ ชี้ผู้เสียชีวิตมาจากการกระทำของทหาร
"ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายเรื่องในรายงานของเรา ได้รับการยืนยันว่าถูกต้องโดยศาลมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการไต่สวน 18 ราย ศาลยืนยันผู้เสียชีวิตมาจากกระสุนฝั่งทหาร หรือกรณี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม รายงานของ คอป. บอกมีชายชุดดำ แต่การไต่สวนการตายของศาลอาญาระบุว่าไม่มีชายชุดดำอยู่เลย และในวัดซึ่งมีคนอยู่เป็นร้อยยืนยันตรงกันว่าไม่มีใครเห็นชายชุดดำ ส่วนอาวุธที่ทหารบอกว่าค้นได้จากในวัด ก็เกิดจากค้นได้หลังสลายชุมนุมหลายวัน พยานสำคัญคือตำรวจ 3 คน จากตึกสำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกว่าไม่เห็นมีการยิงออกมาจากวัด เห็นแต่ทหารยิงฝ่ายเดียว ดังนั้น ศาลจึงฟันธงว่าไม่มีชายชุดดำ ผู้เสียชีวิต 6 คน เสียชีวิตการกระทำของทหาร ข้อมูลหลายอย่างเราได้รับรองแล้วจากศาล เพียงแต่กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องถูกทำให้ชะงักงันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังรัฐประหาร 57 เป็นต้นว่า 3 เดือนให้หลังรัฐประหาร ศาลอาญาที่รับฟ้องคดีนี้ กลับบอกว่าตนไม่มีอำนาจในการพิจารณา สำหรับดิฉัน การรัฐประหาร 57 แยกไม่ออกจากกระบวนการยุติธรรมสลายชุมนุมปี 2553" รศ.ดร.พวงทอง กล่าว
ธนาธร ชูไต่สวนผู้กระทำผิดทุกเหตุการณ์ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-กองทัพ
ด้าน นายธนาธร กล่าวว่า ทำไมเหตุการณ์ที่โหดเหี้ยมอำมหิตขนาดนี้ ถึงไม่ได้รับการชำระ ทำไมเราไม่ยอมรับง่ายๆว่า รัฐปราบปราบประชาชนแบบนี้ไม่ได้ ตนรู้สึกโกรธมาก เราจะปล่อยให้สิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า สำหรับรัฐสมัยใหม่คนตาย คนเจ็บขนาดนี้ โดยไม่รู้ใครทำ มีการคนยิงกลางเมือง แต่สังคมไม่รู้ใครเป็นผู้กระทำนี่คือความล้มเหลวของรัฐ ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรม พูดเรื่องความยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเป็นประชาธิปไตย ถามว่าอะไรต้องเกิดก่อน คำตอบคือ ต้องทำทั้ง 3 เรื่องนี้พร้อมกัน นี่คือเครือข่ายกลุ่มอภิสิทธิ์ชน
อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าข้อเสนอหลักๆ ที่จะเดินก้าวไปข้างหน้าและปลดวิกฤตความขัดแย้งได้ คือ 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อย่าให้มีการประวิงเวลา อย่าให้มีการใช้เทคนิคทางกฎหมาย ทำให้กลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในการปราบปรามประชาชนทุกกลุ่มรอดพ้นเงื้อมือกฎหมาย เพื่อที่จะไม่เกิด 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ, พฤษภาฯ 35, พฤษภาฯ 53 ซ้ำอีก โดยที่หลังเหตุการณ์มักมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อ้างว่าเพื่อไม่ให้ประชาชนที่ร่วมเหตุการณ์ต้องติดคุก หรือมีการดำเนินคดีโดยเลือกปฏิบัติ ใช้เทคนิคกฎหมายประวิงเวลาเพื่อปกป้องผู้กระทำผิด คณะก้าวหน้าเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายในทุกความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม ต้องมีการไต่สวนหาตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ และชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม
"2. ปฏิรูปกองทัพ ทำให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพให้ได้ กองทัพต้องไม่สามารถสั่งเคลื่อนกำลังพลเองได้หากปราศจากการยินยอมของรัฐบาลพลเรือน กองทัพต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ และการดูแลการชุมนุม ต้องไม่ใช้กำลังทหารเป็นกำลังหลัก รวมถึงไม่มีการใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังต้องจัดวางโครงสร้างและความคิดอุดมการณ์ของกองทัพให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วย และ 3. เปิดประวัติศาสตร์บาดแผล ทำเรื่องต่างๆ ให้เป็นสาธารณะ คนพูดคุยอย่างสันติ เอาข้อเท็จจริงมาถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล การจดจำและพูดถึงประวัติศาสตร์นองเลือด ไม่ใช่การฟื้นฝอยหาตะเข็บ รื้อฟื้นความขัดแย้ง แต่เป็นวิธีการสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมถึงความสูญเสียจากในอดีต เมื่อสังคมจดจำถึงความเลวร้ายของการสังหารประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น เราจึงจะสามารถสร้างความรู้สึกร่วมที่มีพลังมากพอจะเรียกร้องป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นองเลือดเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต" ธนาธร กล่าว
นอกจากนี้ นายวิญญู ซึ่งวิดีโอคอลมาร่วมเสวนา กล่าวว่า กระแสแฮชแท็ก #ตามหาความจริง มาแรงมาทางโซเชียล ทำให้ตนรู้สึกดีที่เรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงนี้คนไม่มองข้าม เพราะทุกคนที่ทราบเรื่องราวนี้ย่อมสะเทือนใจ เพราะเหตุการณ์นี้ได้ทำให้เขาตาสว่าง ว่าเขาอยู่ในสังคมที่รัฐเองก็สามารถทำร้ายประชาชนได้เหมือนกัน ตื้นตันใจที่คนให้ความสนใจกับแฮชแท็กนี้ มีการพูดถึง และส่งต่อความจริงต่างๆ กันมากมาย ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือไม่ควรจบแค่เดือนนี้ ควรเป็นสิ่งที่มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องกับภาคประชาชนให้ความจริงเสนอออกมา
ส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวต้องนำมาลงโทษ เป็นสิ่งที่ประชาชนสมควรได้รับ ใครทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชนต้องรับผิดชอบ เหตุการณ์ปี 2553 คนถูกทำร้ายร่างกาย คนถูกสังหารเยอะ ไม่อยากเชื่อว่าตนโตมาในประเทศที่ปล่อยให้มีคนถูกสังหารกลางเมืองเยอะขนาดนี้ ครั้งนั้นเป็นสิ่งที่เปิดตาตนอย่างมาก และสำหรับความจริงที่ถูกเปิดเผยขึ้นมา ที่สะเทือนใจมาก และต้องขอบคุณทุกคนช่วยกันนำเสนอ ข้อมูล ข้อเท็จจริงตามแฮชแท็กนี้ ก็คือกรณาผู้เสียชีวิตวัดปทุมวนาราม เราทราบว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิต แต่ที่ตกใจคือในร่างผู้เสียชีวิตนั้น ถูกยิงถึง 11 นัด ซึ่งเหลือเชื่อมาก ที่ผู้ติดอาวุธทำกับผู้บริสุทธิ์แบบนี้ ทำกับผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ได้ขนาดนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง