วันที่ 30 มิย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐาะนะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือร้องเรียนจาก ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้อำนวยการกองการสื่อสาร พรรคไทยสร้างไทย เรื่อง ขอให้ตรวจสอบสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่แต่งตั้งเครือญาติของตนมาเป็นคณะทำงานว่าผิดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ และขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ตรีรัตน์ ระบุว่า สืบเนื่องจากข้อมูลโดยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเคลือบแคลงสงสัยว่าการกระทำเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ ทั้งเรื่องของจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาล ต้องนำเรื่องนี้ถ่ายทอดสู่ประชาชนอย่างเที่ยงธรรมที่สุด เพราะ ส.ว.ก็มาจากภาษีประชาชน หากการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์เครือญาติจริง ประชาชนก็ควรได้รับทราบ
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนเคยพูดที่ จ.ลำปาง แล้วว่า ในความเห็นส่วนตัวของตน กรณีนี้ยังไม่ถึงกับผิดรัฐธรรมนูญ แต่ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ก็จะนำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการเพื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่นด้วยไม่ใช่แค่ความเห็นของตน หากผลออกมาว่ามีการกระทำผิดกฎหมายจริง ป.ป.ช.ก็จำเป็นต้องดำเนินคดี
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังระบุว่า เรื่องนี้เท่าที่ทราบก็ปรากฏว่าเป็นข้อเท็จจริง การเอาเครือญาติเข้ามาก็อาจจะช่วยได้แต่คงไม่ช่วยทั้งหมด หรือบางทีก็ไม่ได้ช่วยเลย แต่เป็นการหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองให้ลูกหลานเฉยๆ ถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของพี่น้องประชาชน
"ในช่วงที่ข้าวยากหมากแพง อะไรที่ประหยัดได้มันต้องประหยัด ในส่วนนี้นอกจากตัวจะศึกษาว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบแล้วหรือไม่ ยังมีประเด็นเรื่องความเหมาะสมว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว.มีผู้ช่วยในลักษณะใด จำนวนเท่าไหร่ เพื่อเสนอสภาแก้ไขข้อบังคับต่อไป ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสม แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเช่นนี้อีก" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ยังได้กล่าวถึงการแต่งตั้งผู้ช่วยของ ส.ส. ซึ่งระบุว่าส่วนใหญ่จะแต่งตั้งจากอดีตผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการตอบแทน สำหรับตนนั้นแม้ตั้งผู้ช่วยไว้แล้วก็แทบจะไม่ได้ใช้เอง แต่ให้คนอื่นใช้ ส่วนตนก็ใช้คนในพรรคมาเป็นผู้ช่วยเพียงคนเดียวเท่านั้น โดยไม่ได้เสียเงินเดือนใดๆ ทางราชการ ในประเด็นนี้สิ่งที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดก็คือต้องลดจำนวนที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ จะเชิญ ส.ว บางส่วนมาชี้แจงในกรรมาธิการ ป.ป.ช.
ส่วนในกรณีที่ ส.ว.บางคน ซึ่งอาจเห็นได้ง่ายว่าเป็นพี่น้องกันเพราะนามสกุล แต่บางส่วนก็อาจจะนามสกุลต่างกันได้ โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พาดพิงถึง พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ ซึ่งส่วนใหญ่อาจยังไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วเป็นน้องเขยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงจะเห็นได้ว่าเป็นการแต่งตั้งเครือญาติของตัวเองมาเป็น ส.ว.