ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทยจัดเสวนารับฟังภาคท่องเที่ยว เสนอชุดมาตรการ “เปิด-ป้องกัน-ฟื้นฟู” แนะตั้ง “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว”

คณะกรรมการนโยบายและวิชาการ พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาผ่าน Zoom หัวข้อ “ท่องเที่ยวไทย ทำอย่างไรให้ไปรอด” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ พัลลพ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ฐิติภัสร์ ศิรณัฐศรีกุล นายกสมาคมแหล่งท่องเที่ยวชลบุรี พล.ต.ต.ปชา รัตนพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่

สรัสนันท์ อัศวชัยโสภณ กรรมการสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยมีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย นพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคและผู้อำนวยการศูนย์นโยบายฯ จักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการพรรคประธานอนุกรรมการนโยบายท่องเที่ยว และ รินทิรา วัฒนวงษ์ภิญโญ ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต.3

ตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายให้กับภาคเอกชนเป็นอย่างมากธุรกิจภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะโรงแรมที่พักปิดตัวไปมากกว่า 50% ขณะที่การเยียวยาภาครัฐไม่เคยมาถึงภาคท่องเที่ยวทั้งที่เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล 

ทั้งนี้ภาคเอกชนมองว่า จากนี้ไปภาครัฐควรสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านแนวคิด Quality than Quantity หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาพำนักในไทยได้นานขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้  จากเดิมการท่องเที่ยวแบบเน้นปริมาณ ยอดใช้จ่ายการท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 ต่อคนต่อเที่ยว หากปรับมาเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพจะเพิ่มยอดใช้จ่ายท่องเที่ยวเป็น 7,000-8,000 บาท รวมทั้งเปิดให้สายการบินเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้มากขึ้น หากสามารถปรับแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพไปพร้อมกับการเพิ่มเที่ยวบิน จะช่วยให้จังหวัดมีรายได้มากขึ้น รวมถึงการเยียวยาให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย การกระตุ้นการท่องเที่ยวันธรรมดา และปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน 

ขณะที่พรรคเพื่อไทย เสนอทางออกของภาคท่องเที่ยวไทย ภายใต้ชุดมาตรการ “เปิด-ป้องกัน-ฟื้นฟู” ได้แก่

1. “เปิด”

เปิดประเทศผ่านมาตรการ “วัคซีนพาสปอร์ต” (Vaccine Passport) โดยสนับสนุนให้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ต้องผ่านการกักตัว ภายใต้เงื่อนไขหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประสิทธิภาพของวัคซีน เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โดยยึดหลักรักษาสมดุลระหว่างการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวและความปลอดภัยด้านสาธารณสุข

2. “ป้องกัน”

ป้องกันภาคเอกชนด้านท่องเที่ยวล้มละลาย โดยปรับเงื่อนไขและกลไกของ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ให้สามารถใช้ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “ใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการปล่อยสิน” เชื่อแทนธนาคารพาณิชย์ในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่พร้อมรับความเสี่ยงได้ รวมทั้งยกระดับบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อภาคท่องเที่ยว ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้มากขึ้น

ป้องกันแรงงานภาคท่องเที่ยวตกงาน โดยใช้ “มาตรการคงการจ้างงาน” โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างโดยจ่ายตรงไปยังนายจ้าง ส่งต่อไปยังลูกจ้างที่ 50-60% โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องรักษาระดับการจ้างงานที่ 90%

3. “ฟื้นฟู”

“โยกงบฟื้นฟู 100,000 ล้านบาท” สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ภายใต้มาตรการ “1 อำเภอ 1 แหล่งท่องเที่ยวใหม่” รวมทั้งบูรณะแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมสภาพที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างจุดหมายแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เพราะแหล่งท่องเที่ยวคือแหล่งรายได้ มาตรการนี้ยังช่วยเรื่องการสร้างงานสร้างอาชีพจำนวนมหาศาลในพื้นที่ และดูดซับแรงงานที่ตกงานจากวิกฤติโควิด-19 และสร้างความเจริญให้ประเทศในระยะยาวอีกด้วย  

ก่อตั้ง “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว” เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลัก สำหรับการให้สินเชื่อภาคท่องเที่ยวและบริการในระยะยาว เพราะธุรกิจท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศ แต่ลักษณะธุรกิจมีความไม่เป็นทางการสูง อยู่นอกระบบ รายได้แปรปรวนตามฤดูกาลและภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบปกติ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐในการกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านทิศทางการให้สินเชื่ออีกด้วย  

ทั้งนี้ข้อเสนอของภาคเอกชนทั้งหมดและมาตรการของพรรคเพื่อไทยจะถูกนำไปพัฒนาและต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบของภาคท่องเที่ยวจากการระบาดของโควิด-19 ให้เกิดผลจริงต่อไป