ไม่พบผลการค้นหา
'ชวลิต' แนะรัฐบาลแก้ปัญหา 3 สารพิษ "สุขภาพอนามัยประชาชน" ต้องมาก่อน แต่ไม่ทิ้งปัญหาอื่น ต้องเยียวยาทุกปัญหา

ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณีมีผู้ขอให้ทบทวนการแบนพาราควอต โดยมีความเห็นโดยสังเขป ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่บุรุษไปรษณีย์ที่จะส่งปัญหาข้อร้องเรียนไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา แต่ฝ่ายบริหารมีหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบายระดับประเทศให้ส่วนราชการหรือองค์กรที่รับผิดชอบรับไปปฏิบัติ เพื่อดูแลทุกข์ สุข ประชาชนในภาพรวมของประเทศ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์กลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง

กรณีนี้หากมีหลายปัญหาเข้ามาพร้อม ๆ กัน 'สุขภาพอนามัยประชาชน' จะต้องเป็นทางเลือกลำดับแรกก่อน

ส่วนปัญหาอื่น รัฐบาลก็ทิ้งไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าสารเคมีที่มีสต๊อกสินค้าค้างอยู่โดยสุจริต เกษตรกรที่เคยใช้ ต้องเยียวยา ต้องหาวิธีอื่นในการกำจัดวัชพืช ซึ่งรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาทุกปัญหา 

ทั้งนี้ กมธ.ได้เคยเสนอแนะไว้ในรายงาน ฯ ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ไปแล้ว จึงควรนำมาปรับใช้ตามสถานการณ์

2. ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์สำหรับผู้ที่ใช้ยาฆ่าหญ้าจำนวนมากกว่า 90% เป็นเกษตรแปลงใหญ่

ที่สำคัญกว่านั้น เจ้าของเกษตรแปลงใหญ่ ไม่ได้ฉีดยาฆ่าหญ้าด้วยตนเอง แต่จ้าง 'คนจน' รับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า แล้วคนจนเหล่านั้นตายผ่อนส่ง หรือพิการ ต้องตัดแข้ง ตัดขา ดังภาพที่ กมธ.ลงไปเยี่ยมเกษตรกรจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานซึ่งฟ้องด้วยภาพ แม้แต่พระภิกษุที่มาต้อนรับก็เท้าเน่าจากการเหยียบย่ำหญ้าระหว่างเดินบิณฑบาต

3. มีงานวิจัยมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศวิจัยพิษภัยของพาราควอต จน 53 ประเทศทั่วโลกแบนพาราควอตไปนานแล้ว

สำหรับในประเทศ เมื่อวานนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลโดยคณาจารย์ระดับนายแพทย์อาวุโสหลายท่านได้แถลงข่าวยืนยันงานวิจัยของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สุ่มตัวอย่างพบพาราควอตในซีรั่มหญิงตั้งครรภ์, ในน้ำนมมารดา และในขี้เทาทารก ซึ่งส่งผบกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารก รายละเอียดตามแถลงข่าวที่แนบ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ที่ตรวจพบพาราควอตปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้ผลิตน้ำประปา โดยได้เผยแพร่งานวิจัยนี้อย่างแพร่หลายเป็นข่าวอย่างกว้างขวาง

ดังนั้นเมื่อมีงานวิจัยรองรับเช่นนี้ ผู้บริหารประเทศทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญกับ 'สุขภาพอนามัยประชาชน' ก่อน ส่วนปัญหาอื่น รัฐบาลก็ทอดทิ้งไม่ได้ เมื่ออาสาเข้ามาทำงานแก้ไขปัญหาประเทศ

"การจะแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน ผมเห็นว่าควรน้อมนำพระราชดำริ 'เกษตรทฤษฏีใหม่' ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะปลอดภัยทั้งเกษตรกรเอง และผู้บริโภค ทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของคนเองและบุคคลในครอบครัว เฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นครัวอาหารปลอดภัยของโลก จะได้เป็นจริง มิใช่ฝันลมๆ แล้งๆ" ชวลิต ระบุ