ไม่พบผลการค้นหา
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยสถิติธุรกิจเลิกประกอบกิจการครึ่งปีแรก 6,227 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตั้งใหม่ 33,337 ราย ลดลงจากร้อยละ 13 ขณะที่เดือน มิ.ย.2563 เลิกประกอบกิจการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 มากสุดในกลุ่มธุรกิจ 'ก่อสร้างอาคารทั่วไป-อสังหาริมทรัพย์-ให้คำปรึกษาด้านการจัดการ'

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือน มิ.ย.2563 และครึ่งปีแรก 2563 ว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 33,337 ราย ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 4,885 ราย หรือลดลงร้อยละ 13 จาก 38,222 ราย  

โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 3,394 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,665 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร จำนวน 932 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ ส่วนมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในครึ่งปีแรก 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 104,571 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 13,185 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 11 จากจำนวน 117,756 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจจัดตั้งใหม่ที่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จดทะเบียนมากที่สุดจำนวน 24,471 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.40 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 8,336 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.01 ลำดับต่อมาคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 468 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.40 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 62 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.19   

มิ.ย.เลิกกิจการ 1,336 ราย ประเภทธุรกิจ 'ก่อสร้างอาคารทั่วไป' มากสุด

สำหรับสถิติธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือน มิ.ย.2563 พบว่า มีจำนวน 5,731 ราย เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3 มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 14,757 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3

โดยธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปเป็นประเภทที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่มากที่สุด จำนวน 612 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 271 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 188 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ

โดยช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,323 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.43 รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,326 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.14 ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 69 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.20 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 13 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.23 ตามลำดับ   

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในเดือนมิ.ย. 2563 มีจำนวนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการจำนวน 1,336 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6 มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,132 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 111 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 69 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ

ส่วนช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 923 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.09 รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 350 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.20 ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 59 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.41 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.30 ตามลำดับ   

ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.2563) มีจํานวนเลิกกิจการ 6,227 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติและสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ธุรกิจมีทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ยังครองสัดส่วนมากสุด

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ ณ เดือนมิ.ย.2563 มีจำนวน 765,775 ราย มูลค่าทุน 18.44 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 186,682 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.38 บริษัทจำกัด จำนวน 577,822 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.46 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,271 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.16 ตามลำดับ

โดยธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 452,511 ราย สัดส่วนร้อยละ 59.09 รวมมูลค่าทุน 0.40 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.17 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 225,544 ราย สัดส่วนร้อยละ 29.45 รวมมูลค่าทุน 0.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.07 ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 71,858 ราย สัดส่วนร้อยละ 9.39 รวมมูลค่าทุน 1.95 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.57 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,862 ราย สัดส่วนร้อยละ 2.07 รวมมูลค่าทุน 15.34 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.19 ตามลำดับ 

6 เดือนแรกของปี ต่างชาติได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 22 ราย

ส่วนการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือน มิ.ย. 2563 พบว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้นจำนวน 56 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 22 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 34 ราย โดยมีนักลงทุนต่างชาติลงทุนเพิ่มขึ้น 11 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 24 และมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 11,401 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 87 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.77 โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 386 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 623 ล้านบาท และจีน จำนวน 2 ราย เงินลงทุน 330 ล้านบาท

ขณะที่สถิติการลงทุนประกอบธุรกิจภายใต้กฎหมายต่างด้าวในไทย ในช่วงครึ่งปีแรก 2563 พบว่า คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 355 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,407 ล้านบาท ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 22 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3,653 ล้านบาท (ร้อยละ 7) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งธุรกิจที่ต่างชาติเข้ามาดำเนินการเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ และนโยบายในการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และบริการให้คำปรึกษาแนะนำและตรวจสอบการทำงานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และบริการออกแบบพร้อมติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ รวมทั้งซ่อมแซมบำรุงรักษาสินค้าประเภทแผงโซลาเซลล์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จากมาตรการทางการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งในด้านอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจผ่านการให้สินเชื่อซอฟต์โลนแก่ภาคเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ คาดว่าภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) จะเริ่มตอบสนองนโยบายของภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลังจากมาตรการทางการคลังของรัฐบาล อาทิ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศทดแทนนักท่องเที่วต่างชาติที่หายไป และการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันระยะยาว