ไม่พบผลการค้นหา
แพนด้าไม่ใช่แค่สัตว์หายาก แต่มีฐานะเป็น “การทูตแพนด้า” เป็นสัญลักษณ์ของไมตรีจิตว่าจีนให้ความสำคัญแก่ประเทศผู้ได้รับแพนด้าว่าอยู่ในฐานะประเทศที่เป็นมิตรสนิทของจีน ดังนั้น เมื่อแพนด้าเสียชีวิต ก็น่าจับตาดูว่าจีนจะให้ยืมแพนด้าตัวใหม่อีกหรือไม่

เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา “ช่วงช่วง” แพนด้าเพศผู้ วัย 19 ปี ได้เสียชีวิตลงที่ส่วนจัดแสดงแพนด้า ของสวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่ง “ช่วงช่วง” กับ “หลินฮุ่ย” แพนด้าเพศเมียคู่ชีวิตของ “ช่วงช่วง” ได้พำนักอยู่ ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.2003

“ช่วงช่วง” กับ “หลินฮุ่ย” มิได้มีฐานะเป็นเพียงสัตว์หายากใกล้สูญพันธ์ของโลกเท่านั้น แต่ยังมีฐานะสัญลักษณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีน หรือ เป็นส่วนหนึ่งของ “การทูตแพนด้า” ของจีนอีกด้วย

จีนสถาปนาการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.1949 ในเวลานั้นจีนมีสถานะไม่ต่างจากประเทศเกิดใหม่ในโลก มีรัฐบาลไม่กี่ประเทศที่ยอมรับสถานะของรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่ง บรรดารัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังถือว่ารัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งที่หนีความพ่ายแพ้พรรคคอมมิวนิสต์ไปตั้งมั่นที่กรุงไทเปเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของจีน

ดังนั้น รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์จึงพยายามหาเครื่องมือทางการทูตหลายรูปแบบมาใช้ในการสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศอื่นๆ เช่น การส่งคณะนาฏศิลป์ไปแสดงยังต่างประเทศ การส่งทีมนักกีฬาไปแข่งขันยังต่างประเทศ เป็นต้น ที่สำคัญคือการใช้ “การทูตแพนด้า” (Panda Diplomacy)

รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ตระหนักดีว่า แพนด้าเป็นสัตว์หายากที่พบเพียงในแผ่นดินจีนเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่ดูไม่น่ากลัว ไม่ดุร้าย แต่น่ารักน่ากอด จึงเหมาะกับการให้เป็นของขวัญแก่ประเทศอื่นที่จีนต้องการผูกสัมพันธไมตรี โดยมีนัยยะว่าประเทศคอมมิวนิสต์ขนาดใหญ่ที่ดูน่าเกรงขามประหนึ่งพญามังกรอย่างจีนนั้น มิได้เป็นภัยคุกคามใคร แต่มีความเป็นมิตรและน่ารักน่ากอดอย่างแพนด้า  

Reuters-แพนด้ากินไผ่ในสวนสัตว์ปักกิ่งของจีน.JPG
  • แพนด้าในสวนสัตว์ปักกิ่ง

รัฐบาลจีนเริ่มใช้การทูตแพนด้าใน ค.ศ.1957 โดยส่งแพนด้าเพศเมียชื่อ “ผิงผิง” ให้แก่สหภาพโซเวียต มหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น ซึ่งจีนหวังพึ่งในช่วงสถาปนาประเทศใหม่ๆ แต่เมื่อจีนพบว่าสหภาพโซเวียตไม่ได้มองจีนอย่างมิตรประเทศ แต่มองจีนว่าเป็นเพียงบริวาร อีกทั้งยังไม่ให้ความช่วยเหลือดังที่จีนเคยหวัง หนำซ้ำยังก่อสงครามกับจีนในปี ค.ศ.1969 เพราะข้อพิพาทเรื่องแขตแดน ทำให้จีนตีตัวออกห่างจากสหภาพโซเวียต

ดังนั้น เมื่อสหรัฐฯ ทอดไมตรีให้จีนด้วยการส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปเยือนจีน จีนจึงยอมผูกมิตรกับสหรัฐฯ ทั้งที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันมาตลอด หลังจากนั้นเมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม นิกสัน ประกาศว่าจะเยือนจีนอย่างเป็นทางการ จีนก็แสดงน้ำใจไมตรีด้วยการส่ง “หลิงหลิง” กับ “ชิงชิง” ให้เป็นของขวัญแก่สหรัฐอเมริกา ในเดือนเมษายน ค.ศ.1972 ซึ่งปรากฏว่าชาวอเมริกันตื่นเต้นมาก และมีประชาชนอมริกันหลั่งไหลไปดูแพนด้าทั้งสองที่สวนสัตว์ในกรุงวอชิงตันดีซีตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้เข้าชมมากถึงสองหมื่นคน และมีบันทึกว่าตลอดเวลาปีแรกมีประชาชนเข้าชมมากถึง 1.1 ล้านคน 

ต่อมาในปี ค.ศ.1974 นายกรัฐมนตรีเอ็ดเวิร์ด ฮีธ ของอังกฤษ ได้เยือนทางไปเยือนจีน และได้ขอแพนด้าจากจีน ซึ่งทางการจีนก็ยินดีส่ง “เจียเจีย” กับ “จิงจิง” ให้เป็นของขวัญแก่สวนสัตว์กรุงลอนดอน

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 ถึง 1982 จีนได้ให้แพนด้า 23 ตัว แก่มิตรประเทศต่างๆ 9 ประเทศเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของไมตรีจิตว่าจีนให้ความสำคัญแก่ประเทศเหล่านั้นในฐานะมิตรสนิทของจีน

จนในปี ค.ศ.1984 จึงเปลี่ยนจากการให้แพนด้าเป็นการ “ให้ยืมแพนด้า” ไปจัดแสดงในสวนสัตว์ต่างประเทศ โดยมีข้อตกลงว่าจีนจะให้ยืมเพียง 10 ปี และประเทศที่ยืมแพนด้าต้องจ่ายเงินให้จีนปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการอนุรักษ์และส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์แพนด้าในจีน นอกจากนี้ หากแพนด้าให้กำเนิดลูกน้อยในต่างประเทศ ลูกแพนด้าที่เกิดขึ้นถือเป็นสมบัติของรัฐบาลจีน และประเทศผู้ยืมต้องส่งคืนจีนภายในสองปี 

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 จีนพบว่าแพนด้าในจีนมีจำนวนน้อยลงจนถึงขั้นวิกฤต คือมีแพนด้าไม่ถึงร้อยตัว จีนจึงไม่นำแพนด้าไปใช้ใน “การทูตแพนด้า” เลยตลอดทศวรรษที่ 1990 เว้นแต่ส่งให้เพียง 2 ประเทศที่ทำสัญญาไว้ตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ.1990 ว่าจะให้ยืมแพนด้า คือ ส่งให้เกาหลีใต้กับเยอรมนี คู่ค้าที่สำคัญของจีนในเวลานั้นในปี ค.ศ.1995 

Reuters-เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ให้กิ่งไผ่ช่วงช่วง หลินฮุ่ย ตอนมาถึงไทยปีแรก ค.ศ.2003.png
  • เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ให้อาหาร 'ช่วงช่วง' และ 'หลินฮุ่ย' ตอนมาถึงไทยปีแรก

หลังจากนั้นจีนหันไปทำวิจัยเพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์แพนด้าอย่างจริงจัง จนจำนวนแพนด้าเพิ่มขึ้นจนเกือบถึง 200 ตัว ใน ค.ศ. 2002 และต่อมาจำนวนแพนด้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี ค.ศ.2017 จีนมีแพนด้ามากกว่าห้าร้อยตัว แต่ทั้งหมดเกิดในศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้าทั้งสิ้น ไม่ใช่การเกิดในสภาพธรรมชาติ 

ในปี ค.ศ.2003 ไทยเป็นประเทศแรกที่จีนให้ยืมแพนด้าหลังจากไม่ให้ประเทศอื่นยืมมานานเกือบทศวรรษ ทั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในปี ค.ศ.2005  

ต่อมาได้ให้อีกหลายประเทศยืมแพนด้า ได้แก่ ออสเตรเลีย ค.ศ.2009, ญี่ปุ่น ค.ศ.2011, สิงคโปร์ ค.ศ.2012, แคนาดา ค.ศ.2012, ฝรั่งเศส ค.ศ.2012, มาเลเซีย ค.ศ.2014 และอินโดนีเซีย ค.ศ.2017 

ล่าสุด จีนได้ทำสัญญาให้รัสเซียยืมแพนด้า ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2019 โดยสัญญาให้ยืมยาวนานถึง 15 ปี ไม่ใช่แค่ 10 ปี อย่างที่ให้ประเทศอื่นยืม ทั้งนี้เพื่อเน้นย้ำให้รัสเซียเห็นว่าจีนในยุคประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้นให้ความสำคัญต่อรัสเซียในฐานะพันธมิตรที่สนิทสนมที่สุด  

ด้วยเหตุที่ แพนด้าไม่ใช่แค่สัตว์หายาก แต่มีฐานะเป็น “การทูตแพนด้า” เป็นสัญลักษณ์ของไมตรีจิตว่าจีนให้ความสำคัญแก่ประเทศผู้ได้รับแพนด้าว่าอยู่ในฐานะประเทศที่เป็นมิตรสนิทของจีน ดังนั้น เมื่อแพนด้าเสียชีวิต ก็น่าจับตาดูว่าจีนจะให้ยืมแพนด้าตัวใหม่อีกหรือไม่

หากให้ยืมใหม่ย่อมแปลว่าจีนยังให้ความสำคัญในฐานะมิตรสนิท แต่ถ้าไม่ให้ยืมอีกเลย ย่อมหมายความว่า จีนได้ลดความสำคัญจากมิตรสนิทไปเป็นมิตรไม่สนิทเสียแล้ว 

อ่านเพิ่มเติม: