ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์' รวบรวมเหตุการณ์ในแต่ละครั้งที่มีการขอยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร นับตั้งแต่เขาและพวกถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2564

โดยแกนนำมวลชนราษฎรผู้ประกาศข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันมาตลอดนั้นยังไม่ได้รับอิสรภาพและจำนวน 51 วัน (16 มี.ค.-6 พ.ค.64) คือวันที่ 'เพนกวิน' ได้อดอาหาร กระทั่งร่างกายของเขาอ่อนเพลียจนต้องนำส่งตัวรักษาโรงพยาบาลรามาธิบดี

ต่อไปนี้คือจำนวนครั้งที่มีการยื่นขอใช้สิทธิเพื่อให้ 'เพนกวิน' และสหายของเขาได้รับอิสรภาพ เพราะการถูกจองจำในเรือนจำโดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาในคดี อาจทำให้ใช้สิทธิต่อสู้คดีได้ไม่เต็มที่

ครั้งที่ 1 : 9 ก.พ. 2564 

'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร พร้อมพวกแกนนำราษฎรได้สิ้นอิสรภาพถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2564 ในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ประมวลกฎหมายออาญา ม.215

ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะฯ ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ, ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯทำลายโบราณสถานฯ ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ รวม 11 ข้อหา จากกรณีชุมนุม ม.ธรรมศาสตร์-สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 พร้อมนำตัวส่งศาลอาญาทันที

การถูกคุมตัวครั้งนี้ 'เพนกวิน' พร้อมพวกได้พยายามยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว ทว่าศาลมีคำสั่งว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง 

อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระ ตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ทราบและคืนหลักประกันทั้งสองสำนวน และนำตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

'เพนกวิน' ถูกคุุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว ในทุกครั้งที่ ทนายความ นักวิชาการหรือมารดาของเขา 'สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์' ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว 

แต่ทุกครั้ง ศาลยังคงมีเพียงคำตอบเดียวคือ "ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว"

เพนกวิน ศาลอาญา.jpg

ครั้งที่ 2 : 11 ก.พ. 2564 

ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี 4 นักกิจกรรม “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร รวมทั้งคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในคดีม็อบวันที่ 14 พ.ย. 2563

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในทั้งสองคดี โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ครั้งที่ 3 : 15 ก.พ. 2564 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งด่วนผ่านทวิตเตอร์ว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่ให้ประกันตัว อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ ในคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร

คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระบุว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้วอาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตราย หรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นตันที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

ครั้งที่ 4 : 17 ก.พ. 2564

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยภายหลัยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 4 คน โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยยกคำร้องไปแล้วก่อนหน้านี้

ชาญวิทย์

ครั้งที่ 5 : 22 ก.พ. 2564

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมด้วย กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้ายื่น ประกันตัว 4 แกนนำราษฎรอีกครั้ง เพราะเห็นว่าการที่คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันไม่ควรจะมีความผิดอะไร 

ภายหลังยื่นคำร้องขอประกันตัวแล้วและศาลได้มีคำสั่ง กฤษฎางค์ ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลให้เหตุผลว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมดไป อาจจะไปก่อเหตุภยันตรายเดียวกันกับที่ถูกฟ้องอีก จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ทั้ง 4 คน ต้องถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปจนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น

ครั้งที่ 6 : 26 ก.พ. 2564

ทนายความได้ไปยื่นอุทธรณ์ขอประกันตัว 4 แกนนำคณะราษฎรอีกครั้ง ภายหลังอดีตอธิบดีการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นขอปล่อยชั่วคราวไปเมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมภาพคำสั่งศาลอุทธรณ์ระบุว่าศาลอุทธรณ์ได้พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1-4 ในระหว่างพิจารณามาแล้วอีกครั้งเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1-4 ในระหว่างพิจารณาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

ประจักษ์ ศาลอาญา 55308.jpg

ครั้งที่ 7 : 12 มี.ค. 2564 

คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกับทนายความยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว 3 แกนนำราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยขอประกัน 3 นักศึกษา ยืนยันสิทธิทางการศึกษา

ที่สุดศาลอาญา ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ในทั้งสองคดีที่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไป โดยระบุว่าคดียังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

15 มี.ค. 2564 : แถลงการณ์กลางศาลลั่นอดอาหาร

'เพนกวิน' พริษฐ์ได้ลุกขึ้นอ่านแถลงการณ์กลางห้องพิจารณาคดีที่ศาลอาญาโดยประกาศว่าจากนี้ไปเขาจะอดอาหารโดยจะประทังชีวิตด้วยน้ำ และน้ำหวานเท่านั้น เพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ถูกกล่าวหาในคดีการเมือง

ต่อมา เฟซบุ๊ก ราษฎร เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยในคดีชุมนุม 19-20 ก.ย. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง โดยมีใจความว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินประชาธิปไตยไทยมาโดยตลอด ในช่วงทศวรรษแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มาตรา 112 ถูกใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน 

"แต่ความจริงย่อมเป็นความจริง ไม่ว่าจะอยู่ในกรงขัง ในเครื่องทรมาน หรือที่หลักประหาร ความจริงก็ยังคงเป็นความจริง ไม่ว่าท่านจะจับข้าพเจ้าไปคุมขังให้เกิดความทุกข์ทรมานมากเพียงใด ความทุกข์ทรมานนั้นก็ไม่อาจทำลายความจริงได้ ข้าพเจ้าจึงยินดีที่จะรับความทุกข์ทรมานที่พวกท่านจะยัดเยียดให้ และจะยังขอทรมานตนเองเพิ่มด้วย ดังนั้น นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะขออดอาหาร ประทังชีพด้วยน้ำ น้ำหวาน และนมเท่านั้น ไปจนกว่าท่านจะคืนสู่สามัญสำนึกโดยการคืนสิทธิประกันตัวสู้คดีให้กับข้าพเจ้า ให้กับผู้กล่าวหาคดีมาตรา 112 และให้กับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทุกคน หรือจนกว่าชีวิตของข้าพเจ้าจะหาไม่"

ครั้งที่ 8 : 16 มี.ค. 2564 เพนกวิน ประกาศอดอาหารวันแรก

'สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์' มารดา 'เพนกวิน' พริษฐ์ เข้ายื่นประกันตัวบุตรชายอีกครั้ง โดยศาลพิเคราะห์ว่าเหตุผลชัดแจ้งแล้ว หากอนุญาตปล่อยตัวจำเลยมีเหตุอันเชื่อว่าจะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องหรืออาจก่อเหตุอันตรายประการอื่่นอีก จึงยังไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยตัว

พริษฐ์ เพนกวิน ศาลฎีกา ยืนหยุดขัง วันที่ 31_210423.jpg

22 มี.ค. 2564 : กักขัง 'เพนกวิน' ละเมิดอำนาจศาล

ศาลอาญาพิพากษา จำคุก 1 เดือน พริษฐ์ ชิวารักษ์ กรณีละเมิดอำนาจศาล ปฏิบัติตนไม่เรียบร้อยในห้องพิจารณา แต่เนื่องจากรับสารภาพ จึงเหลือจำคุก 15 วัน และพิจารณาตามสถานะนักศึกษาไม่เคยทำผิดมาก่อน มีความรู้สำนึกในการทำผิด รวมทั้งข้อหาดังกล่าว กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน สุดท้ายศาลจึงพิจารณาให้ กักขัง 15 วันตามกฎหมายอาญา มาตรา 23 

ครั้งที่ 9 : 24 มี.ค. 2564 

สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ มารดาเพนกวิน ชิวารักษ์ เข้ายื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 20,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ที่ศาลอาญามีคำสั่งให้กักขัง 15 วัน ฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลอาญาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวมาแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง

ครั้งที่ 10 : 9 เม.ย. 2564

ญาติของแกนนำราษฎรได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ขอปล่อยชั่วคราว พริษฐ์ หรือเพนกวิน ชีวารักษ์ อานนท์ นำภา ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือ แอมมี่รวม 5 คน ในคดีที่ถูกฟ้องร่วมกับแนวร่วมม็อบคณะราษฎรในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ร่วมกันมั่วสุมชุมนุมฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,116 และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องกรณีการชุมนุมปักหมุดท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 คนมาแล้วโดยอธิบายเหตุผลไว้อย่างชัดเจนในชั้นนี้จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ยกคำร้อง

ศาลอาญา.jpg


ครั้งที่ 11 : 29 เม.ย. 2564

สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำราษฎร ยื่นประกันตัวลูกชายอีกครัง เนื่องจากทราบข่าวจากทางทนายความว่า ลูกชายมีอาการอ่อนเพลียมาก จากการอดอาหารมาเป็นเวลากว่า 1 เดือนโดยพบว่าถ่ายมีความผิดปกติ โดย 'เพนกวิน' มีอาการป่วยนอนไม่หลับ มีการขับถ่ายออกมาเป็นเนื้อเยื่อ 

ระหว่างการยื่นขอประกันตัว 'เพนกวิน' มีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนมาร่วมติดตามเป็นจำนวนมาก พร้อมถึงยื่นรายชื่อผู้ลงชื่อถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง กว่า 11,035 รายชื่อ 

ทั้งนี้ ศาลได้อ่านคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำราษฎรในทุกคดี โดยระบุเหตุในลักษณะเดียวกันว่า ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง 

ทุกคำสั่งยกคำร้องถูกลงนามโดย เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

เพนกวิน พริษฐ์ สุรีย์รัตน์ ศาลอาญา -D470-4452-8898-80FB1304F8B1.jpeg

ครั้งที่ 12 : 30 เม.ย. 2564

มารดาของ เพนกวิน ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวให้กับลูกชายอีกครั้ง โดยวางหลักทรัพย์ประกัน 200,000 บาท โดยศาลอาญากำหนดนัดไต่สวนคำร้องดังกล่าว ในวันพฤหัสบดีที่ 6 พ.ค. นี้ เวลา 10.00 น. 

"การที่ศาลรับคำร้องเพื่อนัดไต่สวนถือเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลไม่เคยรับไว้พิจารณามาก่อน" สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ กล่าว

เป็นเวลา 3 เดือนที่ 'เพนกวิน' รวมทั้งแกนนำราษฎรคนอื่น ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

การไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 6 พ.ค. จึงเป็นความหวังของผู้เป็นแม่และมวลชน เพราะหากเขาและเพื่อนได้รับการปล่อยตัว ก็จะเท่ากับลดบรรยากาศการเมืองที่จะเกิดความรุนแรงนอกศาลไปอีกระดับหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง