ไม่พบผลการค้นหา
ก.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานควบคุมค่าความเค็มช่วงน้ำทะเลหนุนสูงระลอกใหม่พรุ่งนี้ (7 ม.ค.) ย้ำไม่ให้กระทบการผลิตน้ำประปา ภาคเกษตร และอุตสาหกรรม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้บัญชาการอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำและกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 24 เพื่ออำนวยการแก้ไขวิกฤติน้ำแล้งจนกว่าปัญหาจะผ่านพ้นไป เนื่องจากคาดการณ์ว่า วิกฤติภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี 

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า สั่งการให้อธิบดีกรมชลประทานวางแนวทางป้องกันปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ด้านท้ายลุ่มเจ้าพระยาในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7-17 ม.ค. 2563 ย้ำให้ควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ภาวะน้ำทะเลหนุนระลอกนี้ระดับน้ำสูงกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยระดับน้ำหนุนสูงสุดวันที่ 13 ม.ค. จึงต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก 85 ลบ.ม.ต่อวินาทีเป็น 95 ลบ.ม.ต่อวินาทีตั้งแต่วันที่ 8 – 10 ม.ค. เพื่อเจือจางค่าความเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์ควบคุม โดยจะทำควบคู่กับการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ซึ่งเป็นท้ายแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะออกสู่อ่าวไทยให้สัมพันธ์กับการขึ้นลงของน้ำทะเล จากนั้นวันที่ 11 ม.ค. จะปรับลดลงเหลือ 90 ลบ. ม.ต่อวินาที ประกอบกับผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาเสริมด้านท้ายของลุ่มเจ้าพระยา

สำหรับน้ำที่จะระบายเพิ่มจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยานั้น จะใช้น้ำสำรองไว้หน้าเขื่อนที่ระบายเพิ่มมาจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นกว่า 1 เมตร โดยช่วงก่อนปีใหม่ระดับน้ำอยู่ที่ +13.00 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) แต่ขณะนี้อยู่ที่ +14.15 เมตร รทก. ทำให้สามารถไหลเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและขวาเหนือเขื่อนเจ้าพระยาสะดวก 

นอกจากนี้ ยังแก้วิกฤติระดับน้ำแม่น้ำสะแกกรังลดต่ำได้ด้วย เมื่อระดับน้ำหน้าเขื่อนสูงขึ้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลย้อนสู่แม่น้ำเจ้าสะแกกรังซึ่งอยู่ตอนบนขึ้นไป จนระดับน้ำแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลผ่านจังหวัดอุทัยธานีสูงขึ้นลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชังและประชาชนที่อยู่อาศัยในเรือนแพต่างๆ 

ทั้งนี้ วันที่ 7 ม.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะพิจารณาเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนำเรียนนายกรัฐมนตรีแล้ว รวมทั้งพิจารณาเห็นชอบให้สำนักงบประมาณดำเนินการตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานตามปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นวิกฤติแล้งไปให้ได้