ไม่พบผลการค้นหา
บีทีเอส เคลื่อนไหวต่อ ปมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุดร่อนหนังสือให้ นายกฯ ช่วยตรวจสอบ ไล่เรียงไทม์ไลน์โครงการ ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดหลักนิติธรรม

คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

รฟม.เปลี่ยนแปลงเอกสารคัดเลือก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยระบุว่า สืบเนื่องจากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 จนเป็นเหตุให้บริษัท BTSC มีหนังสือสอบถามและขอความเป็นธรรมถึงบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ จำนวน 5 ฉบับ ปรากฎว่าบริษัทมิได้รับการชี้แจงในผลการตรวจสอบเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการดำเนินโครงการแต่อย่างใด จนกระทั้งวันที่ 17 ก.พ. 2563 บริษัทได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเป็นคดีปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 เพื่อให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติที่เห็นชอบเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกด้วย

โดยศาลปกครองกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้คดีปกครองดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 โดยศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม.ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มครั้งที่ 1 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

โดยในวันที่ 4 พ.ย. 2563 รฟม.มีหนังสือที่ รฟม. 007(คกก)สม/ว32 ถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC โดยแจ้งว่า “คดีปกครองดังกล่าวอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา และยังคงกำหนดการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนตามที่กำหนดไว้ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 คือวันที่ 9 พ.ย. 2563 ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00 น. และมีกำหนดการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ในวันที่ 23 พ.ย. 2563 ตามเดิม” ทำให้บริษัทร่วมกับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการนามกิจการร่วมการค้าบีเอสอาร์ตามวันเวลาดังกล่าว

 

ล้มประมูล ไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ต่อมาวันที่ 3 ก.พ. 2564 รฟม.ได้ประกาศในเว็บไซต์ www.mrta.co.thว่า “เพื่อให้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาครัฐ รฟม.จึงขอยกเลิกประกาศเชิญชวนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว” และเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีหมายแจ้งว่า รฟม.ได้ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาฯ และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ เท่ากับว่าคำสั่งทุเลาที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยไว้ รฟม.ไม่ขอโต้แย้ง

โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองกลาง ซึ่งบริษัทเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว ของ รฟม.ไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากประเด็นข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่าง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกกับบริษัท ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งทุกฝ่ายที่เป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นที่สุดเสียก่อน เพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

 

ฟ้องผู้ว่าฯ รฟม. พร้อมคณะกรรมการคัดเลือก

ดังนั้นในวันที่ 22 ก.พ. 2564 บริษัทจึงจำเป็นต้องยื่นฟ้อง ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564

ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่าในวันที่ 1 มี.ค. 2564 ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และการดำเนินกระบวนการทางอาญาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่บริษัท ฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ว่าได้กระทำความผิด รฟม. โดย ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใหม่ โดยให้กรอกความเห็นในเอกสารตามแบบสอบถามและจัดส่งให้ รฟม. ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของรฟม. ตั้งแต่วันที่ 17-19 มี.ค. 2564 ซึ่งปรากฎว่าข้อมูลสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน มีสาระสำคัญของวิธีการประเมินข้อเสนอ กล่าวคือ

“การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดย รฟม.จะประเมินข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 เป็นคะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผบตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงสุดที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด”

 

กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณ ท้วงติงแล้ว แต่ไม่รับฟัง

โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอในข้างต้น เป็นหลักเกณฑ์เดียวกับหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองมีคำสั่งไม่ให้ รฟม.นำมาใช้บังคับในการคัดเลือกเอกชน โดยศาลปกครองกลางชี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินข้อเสนอในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอและการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 น่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับเอกชนเล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ โดยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ก็ดี การยกเลิกประกาศเชิญชวน ยกเลิกการคัดเลือกเอกชน รวมถึงการเปิดให้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนใหม่ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มิอาจกระทำได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของโครงการและความล่าช้าที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากการกระทำของ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายกำหนด โดยมีมูลเหตุจูงใจที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนทั้ง ๆ ที่กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณในคณะกรรมการคัดเลือก ได้ทักท้วงแล้ว เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ ต้องเสนอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีก่อน แต่คณะกรรมการคัดเลือกกลับไม่รับฟัง และยิ่งปรากฎหลักฐานชัดขึ้นเมื่อ รฟม.ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกขึ้นใหม่ ที่ล้วนเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.ประสงค์จะให้มีการเปลี่ยนแปลง

 

ผิดหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม ไม่เคารพคำสั่งศาล

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การกระทำที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านมาของ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมีจุดประสงค์เพียงเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน ที่ผ่านความเห็นชอบมาโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไปสู่หลักเกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกต้องการ โดยไม่คำนึงว่าหลักเกณฑ์เดิมเป็นสิ่งที่จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ รฟม.ได้เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนเพื่อนำไปจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อส่งให้คณะกรรมการคัดเลือกให้ความเห็นชอบตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 มาตรา 39 โดยไม่เสนอปัญหาที่เกิดขึ้นต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และคณะรัฐมนตรีตามกฎหมายหมายก่อนว่ากระทำได้หรือไม่ ถูกต้อง กระทำได้หรือไม่ ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่

บริษัทได้พยายามอย่างที่สุดตามกฎหมายและประกาศที่บัญญัติไว้ เพื่อระงับยังยั้งการกระทำที่ไม่ชอบของกลุ่มบุคคลดังกล่าว จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพียงเพื่อต้องการให้การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฎว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะสำนึกและแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งไม่ปรากฎว่าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับ ควบคุมดูแล การกระทำของ รฟม. และคณะกรรกมารคัดเลือก จะออกมาดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อยับยั้งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

แก้ไขหลักเกณฑ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

อนึ่งการที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกได้แก้ไขหลักเกณฑ์ประเมินหลังจากที่ออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตลอดจนประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นข้อเสนอโดยถูกต้องในทุกขั้นตอนแล้ว จึงมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการยกเลิกและเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินที่ยังมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำลายกระบวนการประกวดราคาครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้การประกวดราคาแบบ Interantional Bidding อีกทั้งการที่ รฟม.ใช้หลักเกณฑ์ประเมินข้อเสนอตามที่ปรากฎในข้อมูลสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของเอกชน มีการชี้นำในหัวข้อที่วิธีการประเมินข้อเสนอที่ระบุถึงการใช้คะแนนเทคนิคที่สอดรับกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยเป็นเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากปล่อยให้หน่วยงานของรัฐมีการดำเนินการไม่ถูกต้องในลักษณะที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนผู้ลงทุนทั้งภายในประเทศ และโดยเฉพาะผู้ลงทุนจากต่างประเทศ จนอาจทำให้ประเทศชาติได้รับความเสื่อมเสียและขาดความน่าเชื่อถือ


ขอนายกฯ ตรวจสอบป้องกันความเสียหาย

บริษัทจึงกราบเรียนมายังท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ตรวจสอบการกระทำของผู้ว่าการ รฟม. คณะกรรมการคัดเลือก และผู้เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงที่นำเสนอข้างต้น และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากปรากฎผลทางการพิจารณาคดี ว่าการกระทำที่ผ่านมาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามฟ้อง ขอให้สั่งการไปยัง รฟม.ให้หยุดการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เป็นกรณีพิพาทนี้จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไป

หนังสือบีทีเอสหนังสือบีทีเอสหนังสือบีทีเอสหนังสือบีทีเอสหนังสือบีทีเอส