ไม่พบผลการค้นหา
ข้อมูลในรายงานฉบับใหม่ จัดทำโดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ระบุว่า รัฐภาคีสหประชาชาติควรปราบปรามและยุติบทบาทของรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ให้เข้าถึงอาวุธและเงินทุน รวมถึงปฏิเสธที่จะให้ความชอบธรรมทางการเมืองของพวกเขา และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องส่งเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยทันที เนื่องจากพบว่ารัฐบาลทหารใช้เอกสารประจำตัวเป็นเครื่องมือ เพื่อนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา

“หลักฐานจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮอโลคอสต์และรวันดา สะท้อนให้เราเห็นภาพที่ใกล้เคียงกับความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทหาร ในการที่จะขจัดอัตลักษณ์ของชาวโรฮีนจาในเมียนมา” ดร.เคน แมคคลีน ผู้ร่วมเขียนรายงานนี้กล่าวไว้ ดร.เคนเป็นที่ปรึกษาอาวุโสฟอร์ตี้ฟายไรต์ และศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยคลาก ศูนย์สแตรสเซอร์เพื่อการศึกษาด้านฮอโลคอสต์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้ข้อมูล


‘บัตร’ ใบเดียว เครื่องมือจำแนกเพื่อกำจัด

จากกรณีศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้ง 3 ครั้ง จะมีการจำแนกอย่างเป็นระบบอยู่ก่อนแล้ว เช่น ชาวยิวจะถูกทำเครื่องหมายไว้ในบัตรประจำตัวว่าเป็น ‘ชาวยิว’ เช่นเดียวกันกับที่รวันดาก็มีการระบุเผ่าพันธุ์ไว้ในบัตรประจำตัว ซึ่งทำให้ง่ายต่อการคัดแยกและสังหารได้ในรวดเดียว ในเมียนมาก็เช่นเดียวกัน

รายงาน 63 หน้าของฟอตี้ฟายไรท์ ชื่อ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันยืดเยื้อ: บทบาทของเอกสารประจําตัวในเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาและเมียนมา’ เปิดเผยว่า รัฐบาลทหารดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อบังคับให้ชาวโรฮีนจาต้องขอรับบัตรพิสูจน์สัญชาติ (NVCs-National Verification Card) ซึ่งเป็นการปิดกั้นไม่ให้ชาวโรฮีนจาเข้าถึงสิทธิที่จะมีสัญชาติเต็มขั้น และไม่ให้เข้าถึงความคุ้มครอง รายงานนี้เผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการพุ่งเป้าโจมตีประชากรชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ รวมทั้งกรณีศึกษาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮอโลคอสต์และรวันดา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบอบเผด็จการใช้ประโยชน์จากเอกสารประจำตัว เพื่อการจำแนก ประหัตประหาร สังหารอย่างเป็นระบบต่อประชากรกลุ่มเป้าหมาย


ความยากลำบากของชาวโรฮีนจาก่อน-หลังรัฐประหาร

ก่อนรัฐประหารปี 2564 ชาวโรฮีนจาถูกจำแนกโดยการใช้บัตรประจำตัว ถูกสังหารหมู่โดยทหารพม่า ถูกบังคับให้หนีไปยังบังคลาเทศราว 700,000 คน อีกทั้งถูกปฏิเสธการเข้าถึงการศึกษา สิทธิเสรีภาพ การรักษาพยาบาล ฯลฯ จนอาจกล่าวได้ว่าไร้สิทธิ เสรีภาพในแบบที่ประชาชนชาวพม่าพึงมี

นับตั้งแต่เกิดการทำรัฐประหาร ทหารภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ฆาตกรรมและคุมขังประชาชนหลายพันคนทั่วประเทศ ทั้งยังเร่งโจมตีองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ และกองกำลังปกป้องประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มทหารจัดตั้งของพลเรือนเพื่อรับมือกับการโจมตีของกองทัพ

ท่ามกลางการโจมตีเหล่านี้ ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ในเมียนมาให้ข้อมูลกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า รัฐบาลทหารยังคงใช้การพิสูจน์สัญชาติเพื่อขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้รับสถานะเป็น ‘ชาวโรฮีนจา’ จำกัดการเดินทางของพวกเขา และปิดกั้นการประกอบอาชีพ เป็นการบั่นทอนสภาพชีวิตของพวกเขา

เครื่องมือสำคัญคือการบังคับให้ชาวโรฮีนจายอมรับและกรอกแบบฟอร์มเพื่อทำ บัตรพิสูจน์สัญชาติ หรือ NVCs โดยเป็นการบังคับให้พวกเขายอมรับว่าพวกเขาคือ ‘ชาวเบงกาลี’ มิใช่ชาวพม่า และไม่ใช่แม้กระทั่งชาวโรฮีนจา

“แม้เราจะพยายามกรอกประวัติว่าพวกเราเป็นชาวโรฮีนจา แต่เจ้าหน้าที่จะบังคับให้ระบุภายในบัตรว่าว่าเป็นชาวเบงกาลีเท่านั้น และภายในบัตร เราถูกระบุว่าเป็นชาวมุสลิม” ชาวโรฮีนจาคนหนึ่งระบุ

การกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามในการลบล้างอัตลักษณ์ของชาวโรฮีนจา และเป็นการบังคับให้ยอมรับการลิดรอนสิทธิ รายงานระบุด้วยว่า เคยมีชาวโรฮีนจาพยายามจะใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนการใช้บัตรพิสูจน์สัญชาติ แต่เจ้าหน้าที่ตอบว่า “ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีสิทธิเทียบเท่าประชาชนคนอื่นๆ”  อีกทั้งชาวโรฮีนจาที่ถูกกักขังก็ถูกรัฐบาลรัฐประหารบังคับให้ยอมรับบัตรพิสูจน์สัญชาติ มิฉะนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัวอีก  

ข้ออ้างสำคัญอีกประการคือ ‘ภัยความมั่นคงของรัฐ’ ซึ่งมักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกำจัดชาวโรฮีนจาภายใต้รัฐบาลทหารหากแต่ก็ยังมีประกายความหวังเล็ก ๆ ให้ชาวโรฮีนจา เนื่องจากหลังการรัฐประหารประชาชนเปิดใจยอมรับชาวโรฮีนจามากขึ้น เพราะได้รับข่าวสารถึงการทารุณกรรมที่มากขึ้น จนกระทั่งมีการเกิดขึ้นของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เมื่อกลางปี 2564 เป็นรัฐบาลผลัดถิ่นที่จัดตั้งโดย ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง พรรค NLD พยายามจะฟื้นคืนสิทธิความเป็นประชาชนในผืนแผ่นดินพม่าแก่ชาวโรฮีนจา และไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่มีไว้เพื่อจัดการกับชาวโรฮีนจาโดยเฉพาะ 

“รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติประกาศพันธกิจที่จะช่วยให้ชาวโรฮีนจาได้รับสัญชาติและมีส่วนร่วม อย่างไรก็ดี รัฐบาลทหารยังคงใช้มาตรการเด็ดขาด เพื่อบังคับให้ชาวโรฮีนจายอมรับสถานะการเป็นพลเมืองต่างชาติ เพื่อลบข้อมูลการมีตัวตนอยู่ของพวกเขา” นักวิจัยของฟอตี้ฟายไรท์ระบุ

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้บันทึกข้อมูลที่รัฐบาลทหารจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของชาวโรฮีนจาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำหนดให้ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ต้องขอเอกสาร อย่างเช่น ‘แบบฟอร์มหมายเลข 4’ ซึ่งเป็นหนังสือเดินทางชั่วคราว หากต้องการเดินทางระหว่างเมืองออกนอกรัฐยะไข่ พวกเขาต้องยื่นขอแบบฟอร์มหมายเลข 4 ซึ่งก็อาจจะถูกปฏิเสธได้

สำนักงานสหประชาชาติเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พบว่า ‘กระบวนการสร้างความแตกแยกด้านอัตลักษณ์’ และ ‘มาตรการหรือกฎหมาย’ ที่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเป้าหมาย เป็นตัวชี้วัดที่บ่งชี้ถึงการเกิดขึ้นของ ‘สภาพแวดล้อมที่มีแนวโน้มนำไปสู่การก่ออาชญากรรมในรูปแบบของการทารุณกรรม’ รัฐที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มักใช้เครื่องมือทางกฎหมายและมาตรการของรัฐ เพื่อสนับสนุนการทำลายประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ ซึ่งเป็นการสังหารประชากรชาวยิว และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชากรชาวตุดซีในรวันดา


เรียกร้องนานาชาติตื่นตัว เลิกเงียบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดการยอมรับถึงความเชื่อมโยงระหว่างเอกสารประจำตัวและอาชญากรรมระหว่างประเทศอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ท่ามกลางการโจมตีเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ สถานทูต และบุคคลอื่นบางคนในเมียนมาไม่เพียงเลือกที่จะไม่ประณามการใช้บัตรพิสูจน์สัญชาติที่มุ่งโจมตีชาวโรฮีนจาเท่านั้น ในบางกรณี พวกเขายังเห็นชอบอย่างเปิดเผยต่อบัตรพิสูจน์สัญชาติ โดยมองว่าเป็นทางออกที่เป็นไปได้สำหรับการแก้ปัญหา ‘ความไร้รัฐ’ ของชาวโรฮีนจา

ฟอร์ตี้ฟายไรท์ ทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญามาอย่างต่อเนื่อง

ปี 2558 บันทึกข้อมูลอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกองทัพต่อชาวโรฮีนจา พบหลักฐานมากเพียงพอที่จะพิสูจน์องค์ประกอบความผิดของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮีนจาในเมียนมา

ปี 2559-2560 เผยแพร่รายงานบันทึกข้อมูลว่า กองกำลังของรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มพลเรือนได้ทำการสังหารหมู่ในหลายสิบหมู่บ้านที่เขตเมืองมองดอว์ จากความรุนแรงในรอบแรกเมื่อปื 2559 และในอีกหลายหมู่บ้านตลอดทั้งสามเขตทางตอนเหนือของรัฐยะไข่

ปี 2561 รายงานเปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวโรฮีนจา การข่มขืนอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และการทำลายหมู่บ้านชาวโรฮีนจาหลายร้อยแห่งจนราบเป็นหน้ากลองในตอนเหนือของรัฐยะไข่

 ปี 2562 รายงานเปิดเผยว่าทางการเมียนมารวมทั้งกองทัพ ได้บังคับหรือขืนใจให้ชาวโรฮีนจาต้องยอมรับการพิสูจน์สัญชาติ โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการอย่างเป็นระบบเพื่อขจัดอัตลักษณ์ของชาวโรฮีนจา 


การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไร้หวังในอาเซียน

การแทรกแซงเชิงมนุษยธรรมจากต่างชาติเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากชาวโรฮีนจาถูกผลักให้กลายเป็น “ชาวต่างชาติ” หรือ “ประชากรไร้รัฐ” ตามแผนการของรัฐบาลพม่า ทำให้การช่วยเหลือจากต่างชาติทำได้ยาก แม้จะเป็นไปตามหลักการ R2P (Responsibility to protect) อันเป็นหลักการที่มองว่า “การแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือรัฐที่ถูกละเมิดสิทธิถือเป็นหน้าที่ของมหาอำนาจ” แต่การช่วยเหลือประชากรที่ไร้รัฐย่อมเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากการช่วยเหลือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐย่อมเป็นประเด็นที่ทำได้ยาก อีกทั้งความหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือจากอาเซียนก็ดูจะริบหรี่ เนื่องจากติดกำแพงหลักการไม่แทรกแซงภายใน (Non-Interference) ของอาเซียนเป็นต้นเหตุสำคัญ


เรียบเรียงโดย อัครคมน์ เสริฐธิกุล