CNN รายงานว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรเต่าเพศเมีย เป็นผลมาจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น สืบเนื่องจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ทรายบนชายหาด ซึ่งเป็นที่ฝักและกกไข่เต่าทะเล มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อมูลของหน่วยงานมหาสมุทรแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่า หากไข่เต่าฟักตัวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียสลูกเต่าจะเป็นตัวผู้ และหากไข่ฟักที่อุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ลูกเต่าฟักจะเป็นตัวเมีย ทั้งนี้ อุณหภูมิที่ผันผวนระหว่างสุดขั้วทั้งสองระดับ จะส่งผลให้มีลูกเต่าเพศผู้และตัวเมียผสมกันไป
นักวิจัยพบว่า ยิ่งทรายบนชายหาดอุ่นมากยิ่งขึ้น สัดส่วนของลูกเต่าตัวเมียก็ยิ่งมีสูงมากขึ้น “ในขณะที่โลกประสบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิดสภาวะการฟักตัวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรืออาจถึงตายได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์เต่าและสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ” หน่วยงานมหาสมุทรแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุ
จากการกล่าวกับ Reuters ของ เบ็ตต์ เซียร์เคลบาช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเต่าในมาราธอน มลรัฐฟลอริดา บริเวณหมู่เกาะฟลอริดาคีย์ส ระบุว่า “สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวคือ สี่ฤดูร้อนที่ผ่านมาในฟลอริดา เป็นช่วงฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์ นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาการฟักไข่และไข่ของเต่าทะเล ไม่พบเต่าทะเลตัวผู้ ดังนั้นจึงมีเพียงเต่าทะเลตัวเมียในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา”
การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนจำนวนประชากรเต่าตัวเมีย สร้างความกังวลให้แก่นักวิทยายาศาสตร์ว่า จำนวนประชากรเต่าจะเกิดการหยุดชะงักลง
เมลิสซา โรซาเลส โรดริเกซ เจ้าหน้าที่เลี้ยงเต่าทะเลที่โรงพยาบาลเต่าทะเล ซึ่งเพิ่งเปิดใหม่สวนสัตว์ไมอามี่ระบุกับ Reuters ว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณจะเห็นจำนวนประชากรของมันลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเราไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม… เราไม่มีอัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมียที่จำเป็น เพื่อที่จะสามารถผสมพันธุ์ได้สำเร็จ”
นอกจากการเผชิญหน้ากับอัตราสัดส่วนเต่าเกิดใหม่เพศเมียที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว โรงพยาบาลเต่าทะเลยังประสบกับการแก้ไขปัญหาโรคไฟโบรพาพิลโลมาโตซิส ซึ่งเป็นโรคที่อาจทำให้เต่าทะเลตายได้ เนื่องจากเนื้องอกคล้ายดอกกะหล่ำ ที่พัฒนาขึ้นในร่างกายรวมทั้งตาและปากของเต่าทะเล โดยเนื้องอกยังสามารถก่อตัวขึ้นในอวัยวะภายในได้ด้วย
ที่มา: