วันที่ 8 ก.ค. 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายญัตติด่วน 6 ญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรหามาตราการในการป้องกันโรคโควิด-19 และมาตรการเยียวยาประชาชน เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป
โดย สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กรณีที่มีการปิดแคมป์คนงาน แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) และนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดผึ้งแตกรัง คนกลับต่างจังหวัดกันหมด จากนั้นฝ่ายความมั่นคงก็เอาทหารตำรวจไปควบคุมแคมป์ก่อสร้าง จึงไม่แน่ใจว่าเป็นการปิดหรือเป็นการบล็อกแคมป์คนงานกันแน่
“ผมว่าท่านคิดน้อยไปหน่อย คิดไม่ละเอียด ผมทำงานโครงการก่อสร้างมามาก ไม่มีโครงการไหนหยุดได้ทันที ยิ่งโครงสร้างขนาดใหญ่ อยู่ๆมาสั่งครั้งเดียวเลยไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวแค่คนที่เกี่ยวข้องกับแคมป์ก่อสร้าง แต่เกี่ยวข้องกับคนอีกกว่า 30 สาขาชีพ”
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดสรรวัคซีนว่า เดือน มิ.ย.แผนการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 6.3 ล้านโดส แต่ส่งมอบจริงเพียง 5.3 ล้านโดส ถามว่าที่รัฐบาลประกาศแอสตร้าเซนเนก้า จะส่งวัคซีนให้ประเทศไทยเดือนละ 10 ล้านโดสหลังจากนี้ ทำไม่ได้แล้วใช่หรือไม่ การที่รัฐบาลไทยสนับสนุนงบประมาณ 600 ล้านบาท ให้สยามไบโอไซเอนซ์ โดยต้องส่งมอบให้ตามความต้องการของประเทศไทยก่อน ที่เหลือจึงส่งออกไปยังภูมิภาคนั้น เป็นการหลอกเอาเงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนเอกชน โดยไม่ทำตามสัญญาใช่หรือไม่ รัฐบาลต้องกล้าหาญที่จะใช้พระราชบัญญัติความมั่นคง เพื่อบังคับเอาวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย มาให้ได้เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชน
วิโรจน์ กล่าวว่า ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด จึงมีความสงสัยว่าราคาต่อโดสอาจจะแพงกว่าวัคซีนซิโนแวคหรือไม่
สำหรับวัคซีนซิโนแวค ล่าสุดมีงานวิจัยตีพิมพ์ถึงประสิทธิผลจากการทดลองที่ประเทศชิลี ไม่ว่าจะเป็น การป้องกันการติดเชื้อ การเข้าโรงพยาบาล การเข้าห้องไอซียู การเสียชีวิต วัคซีนไฟเซอร์ดีกว่าซิโนแวคทุกด้าน หวังว่ารัฐบาลจะเร่งจัดหาวัคซีน mRNA มาให้ประชาชนได้ฉีดฟรี เสียค่าใช้จ่าย
“กันตาย แต่ไม่กันติดไม่ได้สิ่งสำคัญ ที่สุดในวันนี้ คือติดแต่ไม่ตายและเชื้อยังคงปะปนกับคนในสังคม แพร่เชื้อไปเรื่อยๆ และขอให้ประชาชนคนใดเข้าถึงการตรวจอย่างกว้างขวาง จะให้ประชาชนยืนรอตามกำแพงวัด ตามริมฟุตบาท รอตรวจแบบนี้ สกัดกั้นการระบาดไม่ได้ หยุดซื้อซิโนแวค จัดซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพ ในการปกป้องพี่น้องประชาชนได้แล้ว”
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในสถานการณ์แบบนี้ต้องใช้การแพทย์นำการเมือง แต่ทุกวันนี้ทั้ง ศบค.และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการทางการแพทย์และสาธารณสุข พบว่า รมว.สาธารณสุข และ รมช.สาธารณสุข เป็นเพียงที่ปรึกษา และมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นประธาน
“คำถามคือนี่เป็นเรื่องการแพทย์นำการเมืองหรือการเมืองนำการแพทย์กันแน่ เมื่อไหร่ที่เราเอาการเมืองนำการแพทย์ เมื่อนั้นย่อมเกิดความเสียหายขึ้น”
สาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่จะมีการล็อกดาวน์นั้น สิ่งสำคัญคือ ศบค.ต้องตัดสินใจหลังจากนี้ให้มีเป้าหมายสักที เพราะก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน แต่กลับไม่มีแผน
“ประเด็นวัคซีนยังเป็นปัญหาอยู่มาก คำถามคือทำไมเรามีแค่ 2 ตัว และการอนุมัติงบประมาณซื้อไปล่าสุดก็เป็นเทคโนโลยีเก่า คำถามคือเราได้เตรียมงบประมาณเพื่อซื้อวัคซีนที่เป็นเทคโนโลยีใหม่หรือไม่ และคำถามเดียวคือระหว่างวิกฤตโควิดกับวิกฤตของรัฐบาลใครจะจบก่อนกัน”
กรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจ กล่าวว่า สิ่งแรกในการแก้ไขปัญหาคือต้องยอมรับว่าตอนนี้เป็นสถานการณ์วิกฤต และวิธีการแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้ และเราไม่สามารถควบคุมการระบาดได้เลย จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการ ส่วนประเด็นวัคซีน ประชาชนอยากเห็นความพยายามของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ในการหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อประชาชนมากขึ้น
กรวีร์ กล่าวว่า สำหรับการล็อกดาวน์ ส่วนตัวเข้าใจและเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่เราไม่สามารถล็อกดาวน์แล้วให้ประชาชนอดตายได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องรับประกันว่าจะดูแล ทั้งรายได้ หนี้สิน และภาระอื่นๆ อยากให้รัฐบาลได้ตื่นขึ้นมาเห็นภาพความเป็นจริง ว่ามีคนติดเชื้อ ตาย และได้รับผลกระทบจากโควิดจำนวนมาก อยากให้รัฐบาลรู้สึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ตื่นขึ้นมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ว่าการบริหารจัดการที่ล้มเหลวนี้ เป็นจริง ไม่ใช่ความฝัน เพื่อหาทางบริหารจัดหารได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง