ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าของรางวัล ‘สิ่งประดิษฐ์’ เหรียญทองระดับนานาชาติ ผู้ปลุกปั้นไอเดียจากความสงสัย เขามีครอบครัวเป็นเสมือนลมใต้ปีกหนุนนำให้ก้าวไปในบทบาทของคนที่มี ‘ประโยชน์’ เพื่อผู้อื่น

พลังจากคำถามและความสงสัย กลายเป็นแรงผลักดันให้ ‘ไมกี้’ นิธิยุทธ วงศ์พุทธา วัย 13 ปี พัฒนาเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้คน 

จากสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก I-See Cap for the Blind หรือหมวกช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา เมื่อตอนเรียน ป.5 จุดประกายความเป็นนักแก้ปัญหาที่จับต้องได้ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และคว้ารางวัลอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุด เขาเพิ่งพา ‘เก้าอี้ช่วยยืน’ ผงาดซิวเหรียญทองระดับนานาชาติ ในรายการ “The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo” 

“ผมทำทุกอย่างจากความสงสัยครับ” เจ้าพ่อไอเดียวัยละอ่อนพูดเรียบๆ สั้นๆ แฝงไปด้วยความมั่นใจ 


เก้าอี้ช่วยยืน กลเม็ดยกคุณภาพชีวิต

ไมกี้ ที่เรียนอยู่ระดับเกรด 8 โรงเรียนอินเตอร์เนชั่นแนลเกวลี เล่าว่าทุกๆ สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นเกิดจากความสงสัยใคร่รู้ในทุกๆ ความเป็นไปในชีวิต ทั้งเรื่องปกติและไม่ปกติ 

“เมื่อผมเห็น ผมก็จะสงสัยว่าทำไมปัญหานี้มันต้องมีด้วย ผมก็เลยไปศึกษาเพื่อหาวิธีแก้ไขครับ”

5555กกก (Custom).jpg

ผลงาน ‘เก้าอี้ช่วยยืน’ เกิดจากการสังเกตเห็นผู้สูงอายุที่เผชิญกับภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง จำเป็นต้องมีผู้ช่วยพยุงขณะลุกยืน เป็นภาระและมีโอกาสสร้างความบาดเจ็บให้กับผู้ช่วยได้ โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายนั้นมีน้ำหนักมากหรืออยู่ระหว่างฟื้นฟูร่างกาย 

“ผมคิดว่าหากเก้าอี้สามารถผลักดันให้เขาลุกขึ้นได้ด้วยตัวเอง คุณภาพชีวิตของเขาและคนใกล้ชิดจะดีขึ้นมาก”

ไมกี้ออกแบบเก้าอี้ด้วยการตัดแต่งบริเวณส่วนกลางของพื้นที่นั่งแยกออกมา เพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ขึ้น-ลงได้อย่างอิสระ โดยต่อกับมอเตอร์ไฟฟ้าและใช้พลังงานจากแบตเตอรี มีปุ่มควบคุมการขึ้นลงอยู่บริเวณที่เท้าแขน

อฟกอฟกอฟ (Custom).jpg

ตั้งคำถาม ฝึกฝน ต่อยอด 

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นเเรกของไมกี้เกิดขึ้นเมื่ออายุ 11 ขวบ ขณะเรียนอยู่ชั้น ป.5 นั่นคือ I-See Cap for the Blind หรือ “หมวกแจ้งเตือนสำหรับคนตาบอด” ชนะเลิศงาน Science Fair ของโรงเรียน ก่อนพัฒนาส่งเข้าประกวดในระดับนานาชาติ ก้าวไปคว้ารางวัล Special Award from Republic of Korea จากเวที Korea International Youth Olympiad 4i 2020

“ผมเห็นคนตาบอดที่ขายล็อตเตอรี่เขามีแผลบริเวณหน้าผาก ผมเลยไปถามเขาว่า ทำไมถึงมีแผลนั้น สอบถามไปถึงว่าศีรษะเขาไปชนกับพวกป้ายที่แขวนอยู่ข้างทางครับ ไม้เท้าของเขาไม่สามารถช่วยได้ เนื่องจากมันจัดการได้แค่ส่วนด้านล่างเท่านั้น” 

LINE_ALBUM_2021.10.26_211026_1.jpg

สิ่งประดิษฐ์และผลงานเกิดจากการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งการลงมือทำแต่ละครั้งนำไปสู่ไอเดียและความรู้อื่นๆ ไม่รู้จบ 

“เมื่อผมเจอปัญหา ผมก็จะคิด ทำยังไงถึงจะจัดการได้ กลายเป็นไอเดียขึ้นมาครับ”

“การฝึกฝนและการประดิษฐ์ของผมมันจะช่วยให้ผมมีความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาเท่ากับการพัฒนา ยิ่งทำงานมากก็ยิ่งได้ความรู้เพิ่ม พยายามหาวิธีปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์และสร้างสิ่งใหม่ที่สามารถปรับปรุงชีวิตของคนได้ครับ”

LINE_ALBUM_2021.10.26_211026_0.jpg

เด็กวัย 13 ปี บอกอย่างมั่นใจว่า แต่ละวันคือการเก็บเกี่ยวและลงมือทำปัจจุบันให้ยอดเยี่ยมที่สุด 

"ตอนนี้แผนชีวิตมันเป็นสิ่งที่ผมถือว่ายังไม่สามารถไปดูได้เนอะ มันยังไม่แน่นอนว่าในอนาคตจะทำอะไร แต่ ณ ตอนนี้ผมคิดว่าผมจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยเหลือคนได้ไปเรื่อยๆ ครับ"


ครอบครัวเป็นลมใต้ปีก  

เบื้องหลังความสำเร็จของไมกี้คือครอบครัว โดยคุณพ่อสรยุทธ และคุณแม่นิธิวดี วงศ์พุทธา ให้ความสำคัญ ส่งเสริมให้ลูกได้ทดลองศึกษาและทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง

วิธีการของคุณพ่อคือ เมื่อลูกตั้งโจทย์ในการพัฒนาขึ้นมา เขาจะแนะนำแหล่งข้อมูลเพื่อให้ลูกชายได้ศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา 

“ถ้าเราคิดไปเองว่าปัญหามันเกิดจากสิ่งโน้นสิ่งนี้ ผลงานที่ออกมามันอาจไม่ได้ตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหานั้นอย่างแท้จริง เช่นกรณีแผลของคนตาบอด คุณพ่อให้น้องไปคุยกับคนตาบอดเลย ว่ามันเกิดจากปัญหาอะไร สาเหตุคืออะไร เมื่อน้องรู้แล้ว เขาก็ไปคิดโซลูชันออกมา”

ไมกี้

คุณพ่อพาลูกชายไปเลือกซื้อหาอุปกรณ์การผลิตต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และทำความเข้าใจหลักการทำงานของวัสดุต่างๆ

“เวลาไปซื้ออุปกรณ์ คนขายจะมาอธิบายว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้าง ทำงานยังไง ไมกี้จะเก็บลิสต์อุปกรณ์ไว้ในคลังหัวสมอง มีเซนเซอร์ มอเตอร์ สวิตซ์ แบตเตอรี่ ทุกๆ อย่าง เขาจะเห็นหลักการทำงาน และเมื่อถึงเวลาออกแบบ เขาก็จะหยิบอุปกรณ์ในคลังที่มีอยู่ออกเอามาวางและพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์”

ต้นทุนด้านสภาพแวดล้อมรอบตัวยังช่วยได้มาก ด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่มีทักษะและประสบการณ์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ทำให้ไมกี้ได้พบเห็นอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งโซลาเซลล์ สว่านแท่นเจาะ ภายในบริเวณบ้านตั้งแต่ยังเด็ก ซึบซับและกลายเป็นคำถาม-คำตอบ บทสนทนาระหว่างกันในครอบครัว 

“ถ้าเขารู้จักการทำงานของอุปกรณ์หลากหลายประเภท เขาก็จะสามารถเปิดกว้างในเรื่องวิสัยทัศน์หรือจินตนาการได้ครับ” 

ไมกี้

ในฐานะประชาชน คุณพ่อแนะนำว่า ‘จิ๊กซอร์’ ชิ้นสำคัญที่ควรเพิ่มเติมเข้าไปในระบบการศึกษาไทย คือ คาบวิชาที่สามารถดึงศักยภาพ ความชอบความถนัดของเด็กออกมา โดยเชื่อมโยงและผลักดันสิ่งที่เรียนออกมาเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้และมีประโยชน์ 

“เมื่อมันจับต้องได้ เด็กๆ เขาก็จะเห็นโอกาส เห็นมูลค่า เห็นอาชีพหรือเส้นทางในอนาคตของตัวเอง” 

ไมกี้ ไมกี้ LINE_ALBUM_2021.10.26_211026_11.jpgLINE_ALBUM_2021.10.26_211026_12.jpg

เรื่อง : วรรณโชค ไชยสะอาด




วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog