ไม่พบผลการค้นหา
เวทีภาคประชาชน ห่วง รัฐบาลใช้เงินกู้ฟื้นฟูหลังโควิด ซ้ำรอยความล้มเหลวการเยียวยา หวั่นคนว่างงานยาว ประธาน TDRI ชี้เศรษฐกิจฟื้นยากกว่า "ต้มยำกุ้ง" โดยเฉพาะระดับรากหญ้า

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน หรือ ขสช. จัดเวที "CSO Talk : จากบทเรียนโควิด-19 สู่นโยบายฟื้นฟูวิกฤตโควิด -​19 ที่โปร่งใสและเป็นธรรม"  โดยนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI โฟนอินเข้าร่วมพูดคุย ระบุว่า โควิด-19 จะนำสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะฟื้นตัวช้ากว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เพราะมีกระทบในขอบเขตทั่วโลก มีกว่า 100 ประเทศขอความช่วยเหลือ IMF ซึ่งต้องเตรียมเงินราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับ ขณะที่วัคซีนน่าจะผลิตได้ปลายปีนี้ แต่ไทยจะเข้าถึงได้ใน 1 ปี รวมเวลาควบคุมโรคได้จากนี้คือ 2 ปี แม้โชคดีที่ไทยคุมการระบาดได้และเศรษฐกิจมหภาคยังพอไปได้ แต่ระดับรากหญ้าน่ากังวล รวมถึงภาวะว่างงานระยะยาว คนจนจะเพิ่มมากขึ้นและจำนวนหนึ่งที่เคยพ้นเส้นความยากจนมาแล้ว จะกลับไปต่ำกว่าเส้นความยากจนอีก

โดยนายสมเกียรติ เสนอว่า ต้องช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 และแม้พ้นการระบาดไปแล้ว มาตรการของรัฐต้องมุ่งช่วยเศรษฐกิจฐานราก และให้ตรงจุดที่เดือดร้อนจริงๆ โดยต้องสร้างธุรกิจและแรงงานแบบใหม่ รวมทั้งต้องดูแลจิตใจ หรือภาวะเครียดของคนในสังคมด้วย

คนแรงงานหวั่นเศรษฐกิจทรุด ถูกลอยแพในช่วงวิกฤต

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ "ไบโอไทย" กล่าวว่า รัฐบาลทำได้ดีเรื่องการควบคุมโรค แต่มีปัญหาความยากลำบากของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจส่งผลต่อแรงงานทั้งในเมืองและในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ส่วนการกู้เงินมาฟื้นฟูนั้น ต้องไม่ซ้ำรอยความล้มเหลวการเยียวยา ที่พบช่องว่างจำนวนมาก โดยเฉพาะคนมากกว่า 3 ล้านคนตกหล่น ซึ่งปัญหาเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจการจัดการผ่านระบบ AI ดังนั้น การฟื้นฟูต้องให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ผ่านชุมชนหรือกลไกท้องถิ่นอย่าง อสม.ให้เป็นผู้ดูแล

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึง ประเด็นแรงงานและอาชีพว่า คนงานทั้ง 3 ส่วน คือเเรงงานในระบบ, นอกระบบและภาคบริการ ได้รับผลหระทบหนักหน่วงเท่าๆ กัน แม้แต่แรงงานในระบบก็มีปัญหาเลิกจ้าง, ปลดออก หรือลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้ขาดรายได้หรือรายได้ลดลง ขณะที่จำนวนมากไม่มีสหภาพแรงงานคอยปกป้องผลผลโยชน์ จึงเห็นการถูกนายจ้างลอยแพ หรือถูกเอาเปรียบจากนายจ้างหลายแห่งในช่วงวิกฤต 

นายจะเด็จ กล่าวด้วยว่า กังวลสถานการณ์ที่คนชนบทที่มาขายแรงงานในเมืองจะอพยพกลับบ้านเกิดหลาย 10 ล้านคน ซึ่งไม่ใช่การกลับไปช่วยครอบครัวทำไร่ทำนาหรือดูเป็นเรื่องสวยงาม แต่แท้จริงแล้วจะเกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ทั้งที่ดินและน้ำที่ไม่มีเพียงพอแน่นอน

นายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เห็นพ้องว่ายุควิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คนกลับไปทำไร่ทำนาได้ แต่ยุคนี้ขาดแคลนทั้งทักษะและที่ดินทำการเกษตร ขณะที่เด็กๆ จะได้รับผลกระทบจากที่ผู้ปกครองไม่มีรายได้ โดยมูลนิธิฯ ได้เก็บข้อมูลพบว่า หลายครอบครัวอาจจะต้องให้ลูกหยุดเรียนหนังสือ มีผู้ปกครองที่ตกงานขอความช่วยเหลืออาหารสำหรับเด็กและนมจากมูลนิธิจำนวนมาก และพบว่ามีเด็กกว่า 400,000 คน เสี่ยงขาดสารอาหาร

อ่านเพิ่มเติม