นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายคริส โปตระนันทน์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า BTS สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในเรื่องการขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ BTS โดยเชิญหน่วยงานมาให้ข้อมูลต่อที่ประชุม ทั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการและเลขานุการ กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.
นายยุทธพงศ์ ระบุว่า คณะกรรมการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งให้เหตุผลการต่อขยาย BTS ว่า เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียว และกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน โดยขยายสัมปทาน BTS เพียงเจ้าเดียวไปอีก 40 ปี และกระบวนการเจรจาสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากคณะกรรมการได้ขยายเวลาออกมา 30 วันซึ่งขยายได้ครั้งเดียวถือเป็นการสิ้นสุดกระบวนการแล้ว เพียงแต่รอการเซ็นสัญญาเท่านั้น
นายยุทธพงศ์ แสดงถึงความผิดหวังและกล่าวด้วยว่า กรรมาธิการต้องการสอบถามทั้งความเป็นมาโครงการการสรุปคำสั่งคสชที่ 3/2562 และการประชุมคณะกรรมการรวมถึงหลักการสำคัญของโครงการ และประเด็นสำคัญในการเจรจาแต่ไม่ได้ข้อมูลอะไร เพราะปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เป็นประธานคณะกรรมการมาเพียงแป๊บเดียวก็กลับ ส่วนกรรมการอื่นๆ ทั้ง 10 คนทั้ง ปลัด กทม.ก็ให้ตัวแทนมาซึ่งไม่มีข้อมูล ตอบไม่ได้แม้กระทั่งการขยายเวลาสัมปทานไป 40 ปี ทั้งที่สื่อมวลชนต่างรู้กันหมดแล้ว กรรมาธิการฯ จึงให้กลับไปและให้กรรมการผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลใหม่ในวันอังคารที่ 13 สิงหาคมนี้ ซึ่งกรรมาธิการฯจะตรวจสอบให้แล้วเสร็จหรือสิ้นสุดในวันที่ 24 สิงหาคมนี้
สิ่งที่น่าสังเกตมีหลายประการเกี่ยวกับการต่อขยายสัมปทาน BTS ทั้งการใช้อภินิหารทางกฎหมายตามมาตรา 44, การเจรจาของคณะกรรมการฯ ที่มีลับลมคมใน ไม่โปร่งใส และการต่อขยายทั้งทางทิศเหนือและใต้ไปถึงจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี แต่ใช้งบประมาณของ กทม.ถึง 6 หมื่นล้านบาทนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นงบประมาณท้องถิ่นของ กทม.ที่จะต้องแบกรับ ที่สำคัญคือ ตามคำสั่ง ม.44 รับรองผลการเจรจาต่อขยาย BTS นั้น ให้ถือเป็นการดำเนินการให้ถือเป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 ซึ่งถือเป็นการหลบเลี่ยงกฎหมายอย่างชัดเจนและประชาชนจะเสียประโยชน์ จากการมีบริษัทเอกชนเพียงเจ้าเดียวได้สัมปทาน