กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า จัดแคมเปญ ConLap: Constitution Lab ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จากหลายภาคส่วน อาทิ เครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา สมาชิกสภาเด็กและเยาวชนข้าราชการ เพื่อเป็นการจำลองแลกเปลี่ยนความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมภายในงานประมาณ 50 คน
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า ได้ร่วมกันก่อตั้งกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และอยากเห็นการปรับปรุงเพื่อหาทางออก โดยเฉพาะที่มาของ รธน.ว่าควรแก้ไข รวมถึงอยากเสริมสร้างการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลที่ยุคสมัยใหม่สุ่มเสี่ยงถูกเผยแพร่ข้อมูลในสังคมออนไลน์
ดังนั้นการได้มาของร่าง รธน.ต้องมาจากหลายภาคส่วน ทั้งฝ่ายประชาชนและฝ่ายการเมือง รวมถึงหาทางออกในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน และความเป็นกลางของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ในส่วนการการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 พริษฐ์ เน้นย้ำว่าต้องมีความจริงใจและจุดเริ่มต้นจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเปิดใจพูดคุยกันเพื่อให้ได้ฉันทามติร่วมกัน และหวังว่าการสัดส่วน กมธ.ต้องให้เสียงประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
"การเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างวัฒนธรรมให้ศรัทธาต่อระบอบอย่างแท้จริง" นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนบรรยากาศกิจกรรมมีการนำเสนอร่าง รธน.ของแต่ละกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น ตัวแทนจาก 'กลุ่มฟรีเท็น' ได้นำเสนอร่าง รธน. ต้องบัญญัติให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บุคคลอื่น ต้องเคารพด้วยความเท่าเทียมกันไม่แบ่งแยกชนชั้นหรือชาติพันธุ์ ส่วนสภาผู้แทนราษฎรนั้น กลุ่มฟรีเท็น เสนอให้มีผู้แทน 700 คน ดำรงตำแหน่ง 2 ปี เพื่อเป็นการประมาณว่ารัฐบาลทำผลงานตอบโจทย์ประชาชนหรือไม่ ขณะที่คุณสมบัติของ ส.ส.ฟรีเท็นเห็นว่า คนอายุ 15 ปี ต้องได้รับสิทธิเข้าไปใช้เสียงในสภาเช่นกัน และเชื่อว่าเรื่องวุฒิภาวะไม่ใช่ปัญหาในการเข้าไปทำหน้าที่
อีกหนึ่งความเห็นที่น่าสนใจคือ จากกลุ่ม 'สกายวอล์กเกอร์' ที่ระบุว่า รธน.สมควรเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ และสมาชิกวุฒิสภาควรจำกัดที่ 150 คน แบ่งเป็นจากการเลือกตั้ง 77 คน และอีก 73 คนมาจากการสรรหาจากสาขาอาชีพต่างๆ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้จัดการตนเองโดยตรงได้
ขณะที่ 'กลุ่ม99เอช' เสนอให้มีบทบัญญัติไว้ว่าเจ้าของอำนาจต้องเป็นของประชาชนเท่านั้น และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ศาลนั้น ก็ควรสามารถทำได้ แต่ทุกการออกความเห็นต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น
อ่านเพิ่มเติม