ไม่พบผลการค้นหา
โลกออนไลน์วิจารณ์รายการแข่งทำอาหาร ใช้ 'กระเบน' เป็นวัตถุดิบ เหตุนักวิชาการทางทะเลชี้ กระเบนอยู่ในบัญชี 'สัตว์ทะเลหายาก-ใกล้สูญพันธุ์' แต่รายการยืนยัน ที่แท้ 'กระเบนค้างคาว' เป็นวัตถุดิบพื้นบ้าน ส่วนภาครัฐย้ำ แม้กระเบนไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง แต่ถ้าเป็นไปได้ 'ควรหลีกเลี่ยง'

เมื่อวานนี้ (3 มี.ค. 2562) รายการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ (MasterChef Thailand) นำ 'กระเบน' มาเป็นโจทย์วัตถุดิบประจำสัปดาห์ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อมีคนตั้งข้อสังเกตว่า 'กระเบน' ที่อยู่ในรายการ เป็น 'กระเบนนก' ซึ่งเป็นสัตว์หายากในทะเลไทยและทะเลโลก จนกลายเป็นข้อถกเถียงว่า 'กระเบนนก' นำมาทำอาหารกินได้หรือไม่

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กระเบนนก ถูกจัดอยู่ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น หรือ IUCN Red List ที่รวบรวมโดย สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น

"ขออธิบายเรื่อง กระเบนนก เป็นชื่อเรียกของกระเบนในกลุ่มนี้ ที่ปรากฎในภาพ บางคนบอกว่าเป็น A. ocellatus พบในน่านน้ำเราและรอบด้าน แต่เพื่อนฯ มีข้อมูลมายืนยันว่า narinari ห้ามนำเข้า ที่สำคัญ ไม่ว่าชนิดไหน ถูกจัดอยู่ในสัตว์ทะเลหายากในบัญชีแดง ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN’s Red List) ถ้าเป็น ocellatus อยู่ในระดับ Vulnerable ถ้าเป็น narinari อยู่ในระดับ Near Threatened ซึ่งทั้งสองสถานะ จัดอยู่ในสถานะของการอนุรักษ์ (conservation status)

แต่ VU จะเสี่ยงมากกว่า NT (VU อยู่ในระดับเดียวกับแมนต้า ที่ปัจจุบันเป็นสัตว์คุ้มครอง) ทั้งสองชนิดล้วนจัดอยู่ในสัตว์ที่มีปริมาณลดน้อยลง ตาม red list สำหรับกฎหมายไทย ยังไม่มีการคุ้มครองกระเบนนก แต่จะเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำสัตว์ที่มีสถานะการอนุรักษ์ใน Red List มาออกรายการทำอาหาร ก็แล้วแต่จะคิด"

อย่างไรก็ตาม HELICONIA H GROUP ผู้ผลิตรายการมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ของรายการ วันนี้ (4 มี.ค. 2562) เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ในรายการมาสเตอร์เชฟที่ตกเป็นข่าว โดยยืนยันว่า ปลากระเบนดังกล่าว คือ ปลายี่สน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ 'ปลากระเบนเนื้อดำ' หรือ 'กระเบนค้างคาว' ถือเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารในหลากหลายเมนู อาทิ ปลายี่สนฟู ปลากระเบนดำแดดเดียว ต้มยำเนื้อปลากระเบนดำ และโดยเฉพาะปลากระเบนหวาน ซึ่งมีขายแพร่หลายตามท้องตลาด รวมทั้งใน Website Shopping Online ทั่วไป 

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ปลายี่สนยังเป็นส่วนประกอบของอาหารไทยหลายเมนู อาทิ ข้าวแช่ โดยเป็นเครื่องข้าวแช่ที่เรียกว่า ปลายี่สนผัดหวาน ในปัจจุบันเมนูดังกล่าวยังติดอันดับ OTOP 5 ดาว ของจังหวัดเพชรบุรี อีกด้วย และในความเป็นจริง ปลายี่สน หรือปลากระเบนเนื้อดำนี้ ได้ถูกนำเสนอในรายการอาหารทางโทรทัศน์หลากหลายช่องมาโดยตลอด รายการมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทยมิใช่รายการแรกที่นำเสนอวัตถุดิบชนิดนี้

"ทางรายการฯ มีจุดยืนในการนำเสนอวัฒนธรรมการรับประทานอาหารและให้ความรู้ด้านต่างๆ ในการประกอบอาหาร วัตถุดิบที่ใช้ในการถ่ายทำแต่ละครั้งคือวัตถุดิบทั่วไปที่ใช้ในการประกอบอาหารจริงและหาซื้อได้ในท้องตลาด รายการฯ ไม่มีนโยบายในการนำสัตว์ต้องห้ามมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ดังนั้นหากมีวัตถุดิบพิเศษ ทางรายการจึงยึดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบทุกครั้ง สุดท้ายนี้ ทางรายการขอขอบคุณทุกความคิดเห็น และจะนำข้อคิดต่างๆ ไปพัฒนารายการต่อไป"

วงศ์กระเบน-กรมประมง.JPG
  • ปลากระเบนที่พบในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง (ภาพจาก: กรมประมง)

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยกับ ThaiPBS ก่อนหน้านี้ว่า การนำกระเบนมาทำอาหาร ไม่สามารถเอาผิดในแง่กฎหมายได้ แม้กระเบนจะเป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ของโลก แต่ในไทยยังไม่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง จึงอยากฝากเตือนไปว่า ถ้าเป็นไปได้จะต้องหลีกเลี่ยง และคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นหลัก เรื่องนี้กรมฯ ไม่สามารถเอาผิดได้

ส่วนข้อมูลในเว็บไซต์กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปลากระเบนในประเทศไทยมีอยู่ 29 ชนิด ซึ่งมีทั้งสายพันธุ์ที่อยู่ในภาวะวิกฤตและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์หรือกำลังจะสูญพันธุ์ เพราะเป็นชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม หรือ Threatened Species รวมถึงสายพันธุ์ที่สถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU)

ทั้งนี้ ปลากระเบนชนิดที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในไทย มี 6 ชนิด ได้แก่ ปลากระเบนลาว ปลากระเบนแม่กลอง ปลากระเบน ปลากระเบนน้ำจืดขาว ปลากระเบนนกจุดขาว และปลากระเบนนกรางกระแส

(หมายเหตุ: ภาพปกเป็นกระเบนราหู หรือ manta ray อยู่ในสถานะการอนุรักษ์ VU หรือมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: