ไม่พบผลการค้นหา
สรุปเหตุการณ์ ‘มนตรี สินทวิชัย’ หรือ ‘ครูยุ่น’ เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก จ.สมุทรสงคราม หลังมีการเผยแพร่คลิปในโซเชียลมีเดีย ที่เยาวชนกลุ่มนึง อายุ 10-17 ปี อ้างว่าถูก ‘ครูยุ่น’ ลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี และใช้คำหยาบคายด่าทอ รวมถึงประเด็นการใช้แรงงานเด็ก

เมื่อเรื่องราวถูกจับตาจากสังคม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เร่งสืบสวนมูลเหตุดังกล่าว พร้อมให้การช่วยเหลือ เนื่องจากกังวลเรื่องความอันตรายต่อเยาวชน 

หลังการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่ามีเด็กที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิแห่งนี้ 54 คน หลังเกิดเหตุและได้เข้าช่วยเหลือเด็กขณะนี้เหลือเด็ก 21 คน 

จากการสอบเยาวชน พบข้อมูลว่าถูก ‘ครูยุ่น’ ทำร้ายจริง โดยมีการ ด่าทอ โดยอ้างว่าเด็กมีพฤติกรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงได้เฆี่ยนตีเด็กตามคลิปที่ถูกเผยแพร่

นอกเหนือจากการทำร้ายร่างกลายที่เด็กกล่าวอ้าง ยังพบการใช้แรงงานเด็ก โดยนำไปทำงานที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในสมุทรสงคราม โดยแบ่งค่าแรงงานวันละ 30 บาท โดยมีเด็กบางส่วนที่ทนไม่ไหวได้หลบหนีออกจากมูลนิธิ


ทำโทษเพื่อการสั่งสอน 

ต่อครหานี้ ‘ครูยุ่น’ ได้เปิดใจภายหลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาทำร้ายร่างการและ พ.ร.บ.แรงงานจากการใช้แรงงานเด็ก โดยครูยุ่นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนคลิปที่ถูกเผยแพร่นั้น 

คือการลงโทษกลุ่มเด็กที่ฝ่าฝืนคำสั่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น การลงเล่นน้ำในแม่น้ำ หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด พร้อมย้ำเจตนาว่า ไม่ได้ทารุณ แต่เป็นการลงโทษเพื่อสั่งสอน 

สำหรับประเด็นการใช้แรงงานเด็ก ยอมรับว่ารีสอร์ตแห่งนั้นคือธุรกิจของครอบครัว แต่ยืนยันว่าไม่เคยใช้แรงงานเด็ก แต่เด็กตามไปช่วยงานและไปนั่งเล่นตามปกติ

‘ครูยุ่น’ ยังชี้แจงอีกว่าเด็กที่เข้ามาที่มูลนิธิ ต่างคนต่างครอบครัวพฤติกรรมย่อมไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องสั่งสอนดูแลต่างกันไปด้วย ซึ่งการใช้คำรุนแรงหรือตี ล้วนเป็นเจตนาเพื่อการสั่งสอน


ช่วยเหลือหรือทารุณ

ขณะที่ในทวิตเตอร์มีการติดแฮชแท็ก ‘ครูยุ่น’ พร้อมด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างมองว่าการลงโทษที่รุนแรงต่อเยาวชน คือการใช้อำนาจในทางที่ผิด อย่างไรก็ตามบางความเห็นมองว่า หากเด็กไม่เชื่อฟังและไม่ทำงานฝ่าฝืนคำสั่งก็ต้องมีการควบคุม


พม.ต้องรับผิดชอบ

ในมุมของฝ่ายการเมือง ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตต่อการกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นั้นมีระบบระเบียบอย่างไรในการตรวจสอบคุณภาพของมูลนิธิ ซึ่งมีหลักปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วประเทศหรือไม่ ดังนั้น จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรี พม. ออกมาตอบคำถาม ว่าด้วยการช่วยเหลือหรือเยียวยาเด็กอย่างไร 

‘ธัญวัจน์’ ยังมองกรณีที่เกิดขึ้น คือความผิดปกติในการปิดปากไม่ให้เด็กพูด เพราะหวาดกลัวต่อการถูกลงโทษซ้ำทั้งร่างกายและจิตใจ เด็กจึงเลือกที่จะอยู่เงียบๆ ก่อนที่จะนำข้อมูลมาให้กลุ่มจิตอาสาเผยแพร่ จนกลายเป็นประเด็นที่เกิดขึ้น

สำหรับมูลนิธิคุ้มครองเด็ก จดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2537 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ถูกทอดทิ้งและถูกละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะเรื่องเพศ หรือการถูกบังคับให้ขอทาน มี ‘แก้วสรร อติโพธิ’ เป็นประธานมูลนิธิ และ ‘ครูยุ่น’ เป็นเลขาธิการ

ดำเนินการขับเคลื่อนผ่านเงินบริจาค โดยไม่ได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ และอยู่ในความดูแลของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งจะเข้ามาตรวจคุณภาพทุก 6 เดือน เพื่อประเมินต่อใบอนุญาต