นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียวันนี้ (12 พ.ย.2567) ถึงการทำประชามติ โดยระบุว่า
สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 3 วาระ รวมถึงในชั้นกรรมาธิการให้การทำประชามติผ่าน เมื่อมีเสียงข้างมากโดยไม่กำหนดจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะเป็นหลักการเดียวกันกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ประเทศไทยเคยทำมา ทั้งปี 2550 และปี 2560 ดังนั้นเมื่อเราจะกำหนดกติกาการทำประชามติเพื่อจะแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็พึงใช้กติกาเดียวกันกับรัฐธรรมนูญตัวแม่นี้
การกำหนดหลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น (Double majority) เท่ากับทำให้คนที่นอนอยู่กับบ้านเฉยๆไปอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ไม่เห็นด้วย ทั้งที่คนนอนอยู่กับบ้านคือคนที่ไม่ได้ต้องการเกี่ยวข้องกับการทำประชามติ หรือไม่ได้หวังผลไปทางใดทางหนึ่งกับการแก้รัฐธรรมนูญเลย จึงไม่ควรเอามานับ แต่เวลานี้เรากำลังออกกติกามาเพื่อส่งเสริมให้คนที่อยากนอนอยู่กับบ้านได้เป็นฝ่ายชนะและชนะโดยง่าย
“ตัวอย่างประชามติปี 2560 ถ้าใช้ Double Majority รัฐธรรมนูญจะไม่มีทางผ่านมาได้”
การทำประชามติในปี 2559 สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 มีความพยายามจะรณรงค์ให้โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำกันได้น้อยเพราะคนที่ออกมารณรงค์ถูกจับ ถูกเล่นงาน ถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนและดำเนินคดี จะไม่ออกมาโหวตก็จะแพ้กันไปง่ายๆ ดังนั้นสิ่งที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำได้คือการออกมาใช้สิทธิ์ให้ได้มากที่สุด จนมีผู้มาใช้สิทธิ์มากกว่า 60% และรัฐธรรมนูญก็ผ่านมาได้ ซึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้กำหนดกติกาของจำนวนผู้มาใช้สิทธิจึงทำให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแข่งกันออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก
ลองนึกภาพในทางกลับกัน ถ้าการทำประชามติครั้งนั้นเรากำหนดว่าต้องมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ก็จะทำให้ผู้ไม่เห็นด้วยที่ตอนนั้นมีประมาณ 30% ไม่มาลงคะแนน และเมื่อไปรวมกับคนที่นอนอยู่บ้านอีก 35% ก็จะกลายเป็นมีผู้ไม่มาออกเสียงถึง 65% ก็เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ก็คงไม่ผ่านมาได้
เรื่องนี้ที่จริงเป็นจิตวิทยาในการเลือกตั้งซึ่งประเทศส่วนใหญ่ก็พบแบบนี้ จึงไม่กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีหลายชั้น นอกจากกรณีที่บางประเทศมีหลายรัฐ รัฐบางรัฐต้องการทำประชามติแบ่งแยกรัฐก็จะมีกำหนดให้ทำประชามติหลายชั้น แต่ส่วนใหญ่จะไม่กำหนด
แม้มีความเสี่ยงจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในสมัยของสภาฯ ชุดนี้ แต่การ “ยอมถอย” กันคนละก้าวหรือครึ่งก้าว เพื่อไปใช้กติกาแบบที่ สว.ทำมา หรือที่มีความหมายทำนองเดียวกัน อาจจะได้กฎหมายประชามติเร็วขึ้น แต่ผลที่จะตามมาก็คือทำประชามติไม่ผ่านแน่นอน แล้วจะเท่ากับเราถอยเพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญผ่าน เรายอมอย่างนั้นไม่ได้เพราะเราประกาศกับประชาชนแล้วว่า “เราจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย”
สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คืออย่าทำให้การพิจาณาร่างพรบ.ประชามติล่าช้า ต้องเผด็จศึกษารวดเร็ว แล้วถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ก็มาให้สภาผู้แทนราษฎรยืนยันอีก 180 วัน จำเป็นอย่างนั้นก็ต้องยอม
แต่แนวโน้มคือฝ่ายสว.จะได้เสียงข้างมากไป เพราะว่าถ้า สส.บางพรรคที่มีแนวโน้มจะเห็นด้วยกับ สว.อยู่แล้วแค่เสียงเดียว สว.ก็ชนะแล้ว เพราะสว.เขามาเป็นแพ็คเดียวกัน ดังนั้นทั้งพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นก็ตามที่เห็นตามมติของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ก็ควรยืนยันและกลายเป็นเสียงข้างน้อย แม้ต้องไปใช้ 180 วันก็ต้องยอม เพราะว่าถ้าไปยอมตาม สว.หรือแก้เป็นชั้นครึ่งก็เท่ากับยอมว่าเราจะไม่แก้รัฐธรรมนูญกันแล้ว
โดยส่วนตัวผมเองจะไม่ยกมือให้ เพราะก่อนหน้านี้ผมก็ได้รับมอบหมายจากกรรมาธิการสภาผู้แทนฯให้เป็นผู้ชี้แจงเรื่องนี้โดยเฉพาะ ผมอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประเด็นนี้สภาฯเห็นชอบเป็นเอกฉันท์มาแล้ว ผมจะมายกมืออีกแบบคงไม่ได้
ดังนั้นวิธีที่จะให้มีกฎหมายประชามติทันใช้มีทางเดียวคือ สว.ต้องเปลี่ยนใจทำให้กลับมาเป็นกติกาตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไว้ก็ไม่ต้องรอ 180 วัน แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วต้องรอ 180 วัน ผมก็หวังว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆก็จะพร้อมใจกันยืนยันตามสภาผู้แทนราษฎรดังเดิม
กฎหมายประชามติจะเป็นการบ่งบอกว่าใครต้องการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่
สิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้คือประคองและพยายามทำในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะไม่ทำอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้รัฐธรรมนูญ เราต้องไม่ปิดประตูการแก้รัฐธรรมนูญด้วยมือของเราเอง แต่ถ้ามีใครมาปิดประตูนี้สังคมจะเป็นคนตัดสินเองและก็ต้องหาทางอื่นกันต่อไปครับ