นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์ให้ความเห็น กรณีคณะกรรมการเลือกตั้งยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองในสิบกว่าปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่าระบบและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองในประเทศไทยไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันการกระทำที่ทุจริตผิดกฎหมายของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือการดำเนินการทางการเมืองอื่นใด รวมทั้งการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ระบบนี้มีไว้จัดการกับพรรคการเมืองที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับชนชั้นนำและผู้มีอำนาจที่ไม่เชื่อถือในระบบรัฐสภาและประชาชน
ในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือที่เป็นประชาธิปไตย เขาไม่ยุบพรรคการเมืองกันง่ายๆ จะยุบพรรคต้องเป็นเรื่องใหญ่มากขนาดที่พรรคการเมืองจะล้มล้างระบบการปกครองด้วยความรุนแรง หรือมีนโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือดำเนินการทางการเมืองที่ส่งผลเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรงเป็นต้น แต่ในประเทศไทย การยุบพรรคการเมืองกลับเกิดขึ้นอย่างง่ายดายจากเรื่องเล็กๆ เรื่องไม่เป็นเรื่องหรือยุบไปทั้งๆ ที่พรรคการเมืองไม่ได้กระทำผิดใดๆ ก็มี
เหตุที่ใช้ในการยุบพรรคการเมืองนอกจากเรื่องทางบัญชีหรือธุรการแล้ว ที่สำคัญคือข้อหาว่าล้มล้างการปกครองกับการได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงมาก แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับใช้เรื่องเล็กๆ ที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลเอาเสียเลย พรรคไทยรักไทยถูกยุบด้วยข้อหาว่าแกนนำพรรคไปจ้างพรรคเล็กให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่มีการบอยคอตและขัดขวางการเลือกตั้ง พรรคถูกยุบไปทั้งๆ ที่ไม่มีพยานหลักฐานอะไรชัดเจน ทั้งยังมีการออกกฎหมายกำหนดบทลงโทษคณะกรรมการบริหารพรรคด้วยการเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยให้มีผลย้อนหลังต่อกรณีนี้ด้วย
ต่อมาภายหลังก็หาใครทำผิดกฎหมายไม่ได้ เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าที่ยุบพรรคไทยรักไทยก็เพื่อให้เป็นไปตามแผนบันไดสี่ขั้นของ คมช.ที่ต้องการให้พรรคที่สนับสนุนการรัฐประหารได้เป็นรัฐบาล
พรรคพลังประชาชนถูกยุบเนื่องจากระหว่างหาเสียงมีกรรมการบริหารคนหนึ่งถูกจับได้ว่าจ่ายเงินให้ผู้สนับสนุนประมาณ 20,000 บาท ต่อมาศาลตัดสินว่าผิด เมื่อกรรมการบริหารทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พรรคก็ถูกยุบ กรรมการบริหารทั้งหมดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีผลให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง เท่ากับล้มรัฐบาลทั้งรัฐบาลและทำให้พรรคการเมืองเมืองที่ร่วมมือกับกองทัพได้เป็นรัฐบาลแทน
พรรคชาติไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพลังประชาชนก็ถูกยุบไปด้วยสาเหตุเดียวกัน กรรมการบริหารทั้งหมดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ต่อมาผู้ที่ได้ใบแดงระหว่างหาเสียงถูกดำเนินคดี ในที่สุด "อัยการสั่งไม่ฟ้อง" หมายความว่าไม่มีใครทำผิดกฎหมายเลย กลายเป็นผิดตรงที่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการยุบพรรคการเมืองครั้งสำคัญๆ เกิดขึ้นเพื่อให้มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ล้มรัฐบาลหรือเปลี่ยนรัฐบาล ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองที่ถูกยุบไม่ได้กระทำผิด หรือหากกระทำผิดก็ไม่ใช่เรื่องถึงขนาดที่ควรจะยุบพรรคการเมืองแต่อย่างใดเลย การยุบพรรคการเมืองเพื่อให้มีผลทางการเมืองนี้เป็นไปโดยไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองอย่างชัดเจน กระบวนการที่พยายามจะยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ดูจะอีหรอบเดียวกัน
จาตุรนต์ มองว่า การที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้พรรคกู้เงินเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ นักกฎหมายมหาชนอธิบายว่า ในเมื่อไม่มีกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดเจนก็ต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญก็คือการให้พรรคกู้เงินเป็นการกระทำที่เปิดเผย ไม่ใช่ปกปิดซ่อนเร้น เงินก็เป็นเงินที่ได้มาจากการทำมาหากินโดยสุจริต การให้กู้เงินนี้ไม่ได้มีผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ ถึงอย่างไรกรณีนี้ก็ไม่ควรถึงขั้นที่จะยุบพรรคซึ่งจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อพรรคและบุคลากรจำนวนมาก
สาเหตุที่มีความพยายามยุบพรรคอนาคตใหม่คืออะไรกันแน่ ?
เมื่อดูจากสภาพการณ์ทางการเมืองคงจะวิเคราะห์ได้ไม่ยากว่าพรรคอนาคตใหม่ต่อต้านการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจเผด็จการ มีบทบาทชัดเจนและแหลมคมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งยังประสบความสำเร็จได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก นี่อาจเป็นสาเหตุประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือรัฐบาลปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาพที่ยากลำบากจากการมีเสียงปริ่มน้ำ
"การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงอาจกำลังเป็นการแก้ปัญทางการเมืองแบบทูอินวัน คือกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่มีศักยภาพเด่นชัดลงไปพร้อมกับการแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำไปด้วยในคราวเดียวกัน ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการดำเนินการทางการเมืองที่ผิดกฎหมายในด้านความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด" จาตุรนต์ ระบุ