ไม่พบผลการค้นหา
'พล.อ.เปรม' ได้ถูกจารึกเป็นตำนานทางการเมือง แม้ว่าแต่ละคนจะมีมุมมองต่อ พล.อ.เปรม แตกต่างกัน ไม่ว่าอย่างไร ตำนาน 'ป๋า' ก็จะถูกถ่ายทอดต่อไปอีกนาน แต่จะไม่มี 'ป๋า' คนที่ 2 อย่างแน่นอน

หลังจาก ‘ป๋าเปรม’พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปธ.องคมนตรีและรัฐบุรุษ ถึงแก่อสัญกรรม ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เพราะ พล.อ.เปรม ถือเป็นผู้ที่มี ‘บารมี’ และ ‘บทบาท’ ทางการเมืองไทยมายาวนานกว่า 50 ปี ชื่อของ ‘ป่าเปรม’ เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคม ช่วงเป็น ‘นายทหารหนุ่ม’ ยุคปี 2490 – 2510 ในช่วงสมัย 3 จอมพลเรืองอำนาจ ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชติ์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อทั้ง 3 จอมพลสิ้นอำนาจ ก็เข้าสู่ยุคที่ ‘ป๋าเปรม’ ขึ้นเป็นนายทหารคุมกองทัพ จากตำแหน่ง ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า สู่ตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 2 , ผู้ช่วยผบ.ทบ. และ ผบ.ทบ.

โดยช่วงปี 2521 – 2531 เป็นช่วงเวลาที่ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งทั้ง นายกฯ รมว.กลาโหม และ ผบ.ทบ. ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน มีเหตุการณ์กบฎยังเติร์ก (เมษาฮาวาย) นำโดยกลุ่ม นักเรียน จปร.รุ่น 7 โดยมี พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าคณะ และ กบฏ 9 กันยา ที่มี นักเรียน จปร.7 บางส่วนเดิมกลับมาด้วย โดยมี พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร (มนูญ รูปขจร) นาวาอากาศโท มนัส รูปขจร จึงได้อีกชื่อว่าเป็น กบฎสองพี่น้อง อีกทั้ง พล.อ.เปรม ยังผ่านเหตุการณ์ถูกลอบสังหารหลายครั้งด้วย จนได้รับยาว่า ‘นักฆ่าลุ่มน้ำเจ้าพระยา’

โดยในยุคที่ พล.อ.เปรม เป็น นายกฯ ถูกมองว่าเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะ นายกฯ มาจากการเชิญมาเป็น ตลอด 8 ปีกว่า พล.อ.เปรม เป็นนายกฯมา 3 สมัย ไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง อีกทั้งระบบการเมืองในยุคนั้นที่รัฐบาลใช้กองทัพเป็นสิ่งค้ำจุน จึงทำให้ถูกมองว่าเป็น ‘เปรมาธิปไตย’ เรื่อยมาถึงช่วงรัฐบาลทักษิณ ที่ พล.อ.เปรม มีบทบาททางการเมืองอย่างมาก จนถูกมองว่าเป็น ‘ผู้มีบารมีนอกรรัฐธรรมนูญ’ อีกทั้งวาทะกรรม “จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้า ม้าเป็นของเจ้าของคอก ม้าไม่ต้องฟังจ๊อกกี้” ด้วย

เมื่อ พล.อ.เปรม ถึงแก่อสัญกรรมจึงมีการถามถึง ‘ขั้วอำนาจ’ ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ตั้งแต่ยุค คสช. เป็นต้นมา พล.อ.เปรม ได้ลดบทบาททางการเมืองลงไปมาก ด้วยข้อจำกัดด้านสุขภาพ รวมทั้งนายทหาร ‘ลูกป๋า’ ก็ไม่ได้คุมกองทัพหรือมีอำนาจทางการเมืองเท่ายุคก่อนหน้านี้ ซึ่งทหารม้าที่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คนล่าสุด ก็ยังคงเป็น พล.อ.เปรม ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.เปรม ก็หวังว่าจะได้เห็น ผบ.ทบ.สายทหารม้าอีกครั้ง และ พล.อ.เปรม ยังคงฝากถึงนายทหารม้ารุ่นหลานๆให้ดูแลทหารม้าด้วยกัน และรักษาความเป็นทหารม้าไว้ให้แนบแน่น

รวมทั้ง พล.อ.เปรม ก็ทำหน้าทีเพียงเป็น ‘กองหนุน’ ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ทำรัฐประหาร 22พ.ค.2557 จนถึงการเปิดบ้านให้ นายกฯ รัฐมนตรีทหาร ผบ.เหล่าทัพ 5 เสือเหล่าทัพ เข้ารดน้ำขอพรวันปีใหม่ไทย 10เม.ย.62 ซึ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.เปรม ได้ให้กำลังใจและชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ เสมอมา

แต่ก็มีการ ‘สะกิดเตือนสำคัญ’ อยู่ 2 ครั้ง ได้แก่ การเตือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้กองหนุนไปมาก ต้องสร้างกองหนุนเพิ่มขึ้น และ การให้ พล.อ.ประยุทธ์ มองคนเห็นต่างอย่างเป็นมิตร ซึ่งในช่วงที่ พล.อ.เปรม สะกิดเตือนนั้นคือห้วง ปลายปี2560-2561 นั่นเอง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ก้าวเข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัวผ่านเครือข่ายพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ ‘ขั้วอำนาจ’ ทางการเมืองที่สำคัญในยุคนี้อยู่ที่ 3ป.บูรพาพยัคฆ์ ได้แก่ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีอำนาจและบารมีในช่วง 5 ปียุค คสช. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเต็งหนึ่งในการเป็น นายกฯคนต่อไป รวมทั้ง ‘2ป.ป้อม-ป๊อก’ ที่ยังคงเต็งหนึ่งเก่าอี้เดิมทั้งคู่ แต่อนาคตที่เป็น ‘รัฐบาลปริ่มน้ำ’ จากสภาวะ ‘สภาปริ่มน้ำ’ ที่สะท้อนออกมา แน่นอนว่า ‘บารมี 3ป.’ ย่อมถูกท้าทายแน่นอน 

ที่สำคัญหากทั้ง ‘3 ป. บูรพาพยัคฆ์’ ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ ก็จะไม่สามารถ ‘ฉายบารมี’ ได้ จุดนี้เองที่แตกต่างจาก พล.อ.เปรม ที่ป๋ามีบารมีอยู่ในตัวเอง แม้ พล.อ.เปรม จะลดบทบาทมามาก แต่ก็ยังคงเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนและเป็นที่จับตาของสังคมมาตลอด จึงมีการมองว่ายากที่จะมีใครมาแทน ‘ป๋าเปรม’ ได้อีก

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.เปรม มีข้อจำกัดด้านสุขภาพที่ พล.อ.เปรม ออกงานน้อยลงตั้งแต่ต้นปี2561 รวมทั้งมอบหมายงานให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้แทน พล.อ.เปรม มาเป็นประธานเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ในช่วงปี2561 เป็นต้นมา ที่ปกติแล้ว พล.อ.เปรม จะเดินทางมาด้วยตนเองเสมอ

อีกทั้งช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา มีกระแสข่าวถึง พล.อ.เปรม มาตลอดเกี่ยวกับสุขภาพ รวมทั้งสุขภาพของ พล.อ.เปรม ที่ปรากฏเด่นชัดมากขึ้น หลีกเลี่ยงการออกงานที่ต้องยืนเป็นเวลานาน การนั่งวีลแชร์และติดสายออกซิเจน แต่ พล.อ.เปรม ก็ยังคงรักษาสุขภาพ เพื่อเตรียมร่างกายในการ ‘ถวายงานใหญ่’

พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ หน.สำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรมฯ นายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ระบุว่า 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ท่านพูดถึงความเป็นห่วงชาติบ้านเมือง และตั้งใจ ‘ถวายงานใหญ่’ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เรียบร้อย เพราะได้ซักซ้อมการถวายน้ำอภิเษกที่บ้านตลอด และทำร่างกายให้แข็งแรง เมื่อจบงาน ก็ดูเหมือนท่านสบายแล้ว ถือว่าหมดภารกิจใหญ่ ท่านก็ไม่ได้เป็นห่วงอะไร ซึ่งที่ท่านพูด ตนก็สะกิดใจ แต่ไม่ได้เฉลียวใจ ว่าจะเร็วขนาดนี้

ส่วนอนาคตบ้านสี่เสาเทเวศร์ที่มีกระแสข่าวต่างๆนั้น ในเบื้องต้น พล.อ.พิศณุ เปิดเผยว่า บ้านสี่เสาฯ เป็นพื้นที่ที่ ทบ. ขอเช่าเพื่อทำประโยชน์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระหว่างนี้ตนก็ทำหน้าที่จัดการงานศพแทนญาติให้ลุล่วงตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการลงมา จึงได้ทำหนังสือถึง ผบ.ทบ. ขอใช้เป็นศูนย์ประสานงานเพื่อดำเนินการให้จบงานไปก่อน เมื่อจบการพระราชทานเพลิงศพ ก็ต้องคืนให้ทาง ทบ. ต่อไป โดยขณะนี้ได้มีการเก็บภาพภายในบ้านไว้ทั้งหมด เพื่อจัดทำเป็นภาพประกอบเล่าเรื่อง ส่วนของใช้ของ พล.อ.เปรม จะส่งไปเก็บไว้ที่หอเกียรติยศ มูลนิธิรัฐบุรษ พล.อ.เปรมฯ

อย่างไรก็ตาม ชื่อ พล.อ.เปรม ได้ถูกจารึกเป็นตำนานทางการเมืองที่แต่ละคนมีมุมมองต่อ พล.อ.เปรม ที่แตกต่างกัน อีกทั้งเป็นที่จดจำในฐานะ ปธ.องคมนตรีและรัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน ที่จะถูกกล่าวขานไปอีกนาน

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog