การลาออกผ่านการส่งอีเมลในครั้งนี้ของราชปักษา เกิดขึ้นช้ากว่ากำหนดเดิมที่ราชปักษาเคยให้สัญญากับทางรัฐสภาว่า ตนจะยอมลาออกในวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกันนั้น ราชปักษากลับเดินทางหนีออกนอกประเทศด้วยเครื่องบินของกองทัพ พร้อมกันกับภรรยาและองครักษ์สองคน โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย สืบเนื่องจากการที่ประชาชนบุกเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดี
รายงานยืนยันว่า อีเมลหนังสือลาออกของราชปักษาถูกส่งไปยัง มหินทา ยะปะ อเบวร์เดเนนา ประธานรัฐสภาศรีลังกาแล้ว หลังจากราชปักษาเดินทางมาถึงสิงคโปร์ โดยทางการสิงคโปร์เปิดเผยว่า รัฐบาลของตนไม่ได้มอบสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่ราชปักษา และการเดินทางมายังสิงคโปร์ในครั้งนี้ของราชปักษา เป็นการเดินทางมาในนามส่วนตัว
“มันมีการยืนยันว่า นายราชปักษาได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามายังสิงคโปร์ด้วยเครื่องบินส่วนตัว เขาไม่ได้ขอสถานะผู้ลี้ภัย และไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด สิงคโปร์ไม่ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ใครเป็นปกติอยู่แล้ว” กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ระบุ
ราชปักษาหลบหนีอยู่ในกรุงมาเล เมืองหลวงของมัลดีฟส์เป็นเวลานับวัน ก่อนที่จะเดินทางต่อมายังสิงคโปร์ในช่วงเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยสายการบินซาอุเดีย เที่ยวบินที่ 787 และเดินทางมาถึงสนามบินชางงีของสิงคโปร์ เมื่อช่วงเวลาประมาณ 19.17 น. ท่ามกลางการบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดี และสำนักนายกรัฐมนตรีโดยผู้ชุมนุม ที่เรียกร้องให้ราชปักษาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และ รานิล วิกรมสิงเห ในฐานะรักษาการประธานาธิบดี ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนการส่งอีเมลหนังสือลาออกของราชปักษาจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา
มีการคาดการณ์ว่า ราชปักษาทำการลี้ภัยทางการเมืองในครั้งนี้ เนื่องจากตนหวั่นเกรงว่ารัฐบาลชุดใหม่ ที่จะขึ้นมาครองอำนาจศรีลังกาแทนตน จะสั่งจับกุมตนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจากที่ตระกูลราชปักษาลอยนวลพ้นผิดจากคดีต่างๆ มากมาย
ก่อนหน้านี้ รัฐสภาศรีลังกาได้รอหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการของราชปักษา โดยรัฐสภาคาดการณ์ว่า หากทางรัฐสภาได้รับหนังสือลาออกของราชปักษาแล้ว ทางรัฐสภาจะดำเนินการจัดการเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงวันที่ 20 ก.ค.ที่จะถึงนี้
เมื่อผู้ชุมนุมได้ทราบข่าวว่า ราชปักษาได้ทำการส่งจดหมายลาออกของตนเองมายังรัฐสภาของประเทศแล้ว หลายคนตัดสินใจถอนตัวออกจากทำเนียบประธานาธิบดีที่ผู้ชุมนุมเข้ายึดไปก่อนหน้านี้ รวมถึงการถอนตัวออกจากสำนักนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกอย่สงน่้อย 54 ราย
การประท้วงในศรีลังกาครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ตระกูลราชปักษา ซึ่งปกครองศรีลังกามานานกว่าสองทศวรรษ ทำการบริหารประเทศล้มเหลว สืบเนื่องจากการเกิดการระบาดโควิด-19 จนส่งผลให้ประเทศล้มละลาย ภาคการท่องเที่ยวเสียหาย ติดหนี้ต่างประเทศมหาศาล ขาดพลังงาน เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ตระกูลราชปักษากลับปกครองด้วยการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่คนในครอบครัวและคนใกล้ชิด โดยวิกฤตในครั้งนี้ที่เกิดขึ้นกับศรีลังกา นับได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 70 ปีก่อน
ที่มา: