ไม่พบผลการค้นหา
'ลุงแซม - มารียาน - บริทาเนีย - พระสยามเทวาธิราช' บุคลาธิษฐานของชาติที่แสดงภาพพจน์อัตลักษณ์ของ "รัฐ"

"พระสยามเทวาธิราช" ถูกหยิบยกมาพูดถึงและถกเถียงกันอย่างมากเป็นวงกว้างในหลายมุมหลายประเด็น แต่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือสถานะของ "พระสยามเทวาธิราช" ที่หลายฝ่ายมองและเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในฐานะ "มเหศักดิ์" หรือหมายถึง ผีเจ้าถิ่นที่คอยปกบ้านป้องเมือง แต่อย่างไรก็ตามสถานะของ "พระสยามเทวาธิราช" นอกจากเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองอันเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนแล้ว ในแง่หนึ่ง "พระสยามเทวาธิราช" ยังถือว่าเป็น บุคลาธิษฐานประจำชาติ (National personification) ของประเทศด้วย ซึ่งสำหรับ "บุคลาธิษฐานประจำชาติ" ถูกพบในหลายประเทศทั่วโลก แต่สิ่งที่ต่างจากบุคลาธิษฐานประจำชาติประจำชาติไทยคือ National personification ของแต่ละชาติในต่างแดนนั้น ไม่ได้ถูกยกสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพสักการะเหมือนดังเช่นของไทย บุคลาธิษฐานประจำชาติในหลายประเทศถูกใช้เป็นสัญลักษณของการเคลื่อนไหวเชิดชูความเป็นชาตินิยมหรือล้อเลียนการเมือง หรืออาจอุปมาอุปไมยเป็นนิมิตเชิงอุดมการณ์ (Metaphor as ideological visions)

คำว่า บุคลาธิษฐานประจำชาติ หรือในภาษาอังกฤษ National personification มาจากการผสมระหว่างสองคำคือ บุคลาธิษฐาน (personification) กับ National (ประจำชาติ, แห่งชาติ) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า บุคลาธิษฐาน [บุกคะลาทิดถาน] (ว.) อันหมายถึง มีบุคคลเป็นที่ตั้ง, ที่ยกคนหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมอื่น ๆ ขึ้นมาเป็นหลักในการอธิบาย

หนังสือ ภาษาไทย 2 : การประพันธ์ไทย โดย นภาลัย สุวรรณธาดา อธิบาย บุคลาธิษฐานว่า คือ การสมมุติให้สิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด สิ่งที่เป็นนามธรรม หรือสัตว์ให้มีสติปัญญา อารมณ์หรือกิริยาอาการ เหมือนมนุษย์เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นเกิดปรากฏการณ์เสมือนเป็น สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก นึกคิดขึ้นมา แล้วสื่อความรู้สึกออกมาให้ผู้รับสารได้รับรู้เป็นการเปรียบเทียบโดยนำเอาสิ่งไม่มีชีวิต หรือมีชีวิต แต่ไม่ใช่คนมากล่าวถึงราวกับ "เป็นคน" หรือทำกิริยาอาการอย่างคน “ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้สิ่งที่กล่าวถึง มีชีวิตชีวา ผู้รับสารจะมองเห็นภาพสิ่งนั้นเคลื่อนไหวทำกิริยาอาการเหมือนคนมีอารมณ์ มีความรู้สึก และสามารถสื่อความรู้สึกนั้นมาสู่ผู้รับสารได้”

ในทั่วโลกนั้นหลายชาติจะมี "บุคลาธิษฐานประจำชาติ" เป็นของตัวเอง สิ่งที่น่าสังเกตคือบรรดา National personification หลายชาติทั่วโลกนั้น มักมีลักษณะเป็น "เทพี" หรือผู้หญิง มากกว่า "เทพ" ที่เป็นเพศชาย ในการสร้างบุคลาธิฐานประจำชาติมักใช้ร่างของมนุษย์เพื่อเป็นตัวแทนประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นตัวแทนพลเมือง หรือเชิดชูแนวคิดอัตลักษณ์ประจำชาติ บุคลาธิฐานประจำชาติบางประเทศ ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของสังคมคนขาวยุโรปที่กดขี่ชาติอาณานิคม 

เทพีบริทาเนีย Britannia-Statue.jpg
  • เทพีบริทาเนีย

ดังเช่นใน สหราชอาณาจักร ซึ่งมีเทพีบริทาเนีย (Britannia) เปรียบเสมือนเทพีสัญลักษณ์ประจำเกาะบริเตนใหญ่ "เทพีบริตาเนีย" มีลักษณะเป็นนักรบหญิงสวมหมวกนักรบแบบหมวกโลหะคอรินเธียนของโรมัน มือหนึ่งถือโล่ อีกมือหนึ่งถือดาบ สวมผ้าคลุมคล้ายกับนักรบยุคโรมัน ตามประวัติศาสตร์ "บริทาเนีย" ถูกพบครั้งแรกบนเหรียญเงินตราในยุคของจักรพรรดิฮาดริอานุส (Hadrian 117-138AD) สมกับที่โรมันยังปกครองลอนดิเนียม แต่หลังจากยุคโรมันล่มสลาย เทพีบริทาเนียก็จางหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของเกาะบริเตนใหญ่ กระทั่งรัชสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 1 ถูกนำมากใช้ในฐานะตัวตันของสหราชอาณาจักรอีกครั้ง เมื่อยุคนั้นบริเตนเริ่มต้นการสำรวจอาณานิคมโพ้นทะเล 

รัชสมัยสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย "เทพีบริทาเนีย" ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนความยิ่งใหญ่ของลัทธิจักรวรรดินิย อังกฤษที่เรืองอำนาจถึงขีดสุด จนถึงกับขนานนามว่าเป็นจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เพราะไม่ว่าดวงอาทิตย์จะส่องแสงไปที่ใดจะมีดินแดนของจักรวรรดิอังกฤษอยู่ที่นั่น ช่วงนี้เองที่ เทพีบริทาเนียถูกเติมแต่งให้ดูเกรงขามมากขึ้น จากเดิมที่มีลักษณะแบบนักรบหญิงยุคโรมันก็มีการ เพิ่มตรีศูล และมีสัตว์คู่กายที่เป็นสิงโต อันเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติของอังกฤษ (บางครั้งก็นั่งบนลูกโลก หรือใช้มือข้างหนึ่งบางบนลูกโลก หรือถือกิ่งมะกอก ) สื่อนัยยะความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิ

เทพีบริทาเนีย
  • ภาพวาดเทพีบริทาเนียจากยุควิคตอเรียน

"Rule, Britannia! Britannia, rule the waves! Britons never, never, never shall be slaves." คือตอนหนึ่งในเนื้อเพลง "Rule Britannia" เพลงปลุกใจของอังกฤษที่แต่งขึ้นจากบทนิยายเรื่อง The Tragedy of Sophonisba (1730) ของ เจมส์ ธอมสัน ซึ่งเป็นเรื่องราวของหญิงสูงศักดิ์ชาวคาเทจผู้ยอมปลิดชีพตนเองดีกว่าตกเป็นทาสของทหารโรมัน และภายหลังในปี ค.ศ. 1740 'โทมัส อาร์น' ได้นำตอนหนึ่งของบทกวีในเรื่องไปประพันธ์เป็นเพลงปลุกใจดังกล่าว 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เทพีบริตาเนีย ปรากฏในภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของ "กลุ่มไตรภาคี" (Triple Entente) อันประกอบด้วย เทพีบริทาเนียตัวแทนของ สหราชอาณาจักร มาเธอร์รัสเซีย และ มารียาน ตัวแทนของฝรั่งเศส สามชาติพันธมิตรที่ร่วมกันต่อต้านฝ่ายมหาอำนาจกลางในช่วงเวลาดังกล่าว เทพีบริทาเนียยังปรากฎจนถึงปัจจุบันในลักษณะเหรียญ 50 เพนนี ช่วงระหว่างปี 1982-2008

ปัจจุบันสัญลักษณ์เทพีบริทาเนีย ถูกใช้เป็นโลโก้อย่างเป็นทางการของธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (Bank Of England) เช่นเดียวกับพระสยามเทวาธิราชที่ยังถูกใช้เป็นโลโก้ของธนาคารแห่งประเทศไทย

เทพีบริทาเนียยังมี "ลูกสาว" ที่เป็นบุคลาธิษฐานสำหรับประเทศนิวซีแลนด์ด้วยที่ชื่อว่า "เทพีซีแลนเดีย" (Zealandia) โดยเทพีซีแลนเดียปัจจุบันได้ปรากฏในตราแผ่นดินของนิวซีแลนด์

ปฏิวัติฝรั่งเศส
  • La Liberté guidant le peuple

มาที่ชาติเพื่อนบ้านอย่าง "ฝรั่งเศส" ผู้อ่านหลายคนคงคุ้นเคยกับภาพมารีอาน หรือ สตรีผู้ถือธงชาติฝรั่งเศสนำการปฏิวัติในภาพเขียน "เสรีภาพนำทางประชาชน" (La Liberté guidant le peuple) โดย ยูจีน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) สัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1830

"มารียาน" ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่ แต่จากภาพเขียนของยูจีน เดอลาครัว มารีอานเป็นสตรีที่แทนคุณลักษณะเสรีชนตามแบบฉบับ "หญิงฝรั่งเศส" อย่างชัดเจน เดอลาครัวใช้จินตนาการทางสังคมวิทยา (sociological imagination) เปรียบเทียบแนวคิด "เสรีภาพ" ให้มีลักษณะเป็นเทพี ผู้หญิงแกร่งที่นำประชาชนต่อสู้ในช่วงแรกของการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 สตรีที่มือข้างหนึ่งถึงธงชาติฝรั่งเศส อีกข้างถือปืนคาบศิลา ในสภาพกึ่งเปลือยท่อนบน พร้อมสวมหมวกแบบ Phrygian Cap สีแดง กลัดด้วยดอกจันฝรั่งเศส (cockade of france) อันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกลุ่มปฏิวัติ

เอ็มมานูเอล มาครง
  • ปธน.มาครง กับฉากหลังรูปมารียาน

มารียานจึงเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของสตรีที่เป็นผู้แทนแห่งเสรีภาพ มารียานถือเป็นอีกหนึ่งบุคลาธิฐานที่ถูกพบเห็นมากที่สุดในฝรั่งเศส ทั้งเหรียญเงิน ภาพวาด มหาลัญจกรประจำชาติ รูปปั้น อนุสาวรีย์ รวมถึงตราประจำรัฐบาล นอกจากนั้นมารียานยังเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมฝรั่งเศสในยุคใหม่จากการที่แบรนด์เสื้อผ้าหรูบางแบรนด์นำเธอมา "รีดีไซน์" ให้ทันสมัยและเป็นส่วนหนึ่งแฟชั่นมากขึ้น

รัสเซีย บางคนอาจคิดว่าสัญลักษณ์อินทรีย์สองหัว เป็นบุคลาธิฐานของชาติ แต่แท้จริงแล้วรัสเซียมีบุคลาธิฐานประจำชาติที่มีลักษณะเป็นเทพี เรียกว่า "มารดาแห่งรัสเซีย" หรือ "มารดาแห่งมาตุภูมิ" (Mother Russia - Mother Motherland) ไม่ชัดเจนนักว่าแนวคิดมารดาแห่งมาตุภูมิรัสเซียนั้นปรากฎขึ้นเมื่อใด แต่จากบันทึกหรือพงศาวดารพื้นบ้านรัสเซียโดยเฉพาะ พงศาวดารปฐมภูมิ (Russian Primary Chronicle) ในบันทึกมักกล่าวถึงคำสองคำในภาษารัสเซียโบราณ (old east slavic) ที่แปลว่า "สถานที่เกิด" กับคำว่า "มาตุภูมิ" จึงเชื่อว่าอาจเป็นการผสมระหว่างสองคำจึงกลายเป็น "มารดาแห่งรัสเซีย" อีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่าความเกี่ยวพันระหว่างความเป็นผู้หญิงกับรัสเซียนั้นมาจากการผันรูปไวยากรณ์ของคำว่า "Rossiia" ซึ่งเป็นคำที่มีการแบ่งเพศของภาษา ตามลักษณะของกลุ่มที่ใช้ภาษาสลาฟหรือโรมานซ์ ในวัฒนธรรมรัสเซียอัตลักษณ์ของผู้หญิงนั้นสำคัญหยั่งรากลึกมากกว่าแค่เพศสภาพ มันขยายไปถึงความเป็นรัฐชาติที่ผู้คนมักใช้คำเรียกว่าดินแดนแหงมาตุภูมิมากกว่า "ปิตุภูมิ" คำว่า "มารดาแห่งรัสเซีย" จึงไม่เพียงแค่แสดงถึงจิตวิญญาณแห่งการปกป้องซึ่งมีอยู่ในเจตคติและพฤติกรรมของมารดาเท่านั้น แต่ยังเป็นเชิงสัญลักษณ์เปรียบเทียบในฐานะมารดาซึ่งเป็นสตรีที่มักมีบทบาทสูงในสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 

The Motherland Calls อนุสาวรีย์เสียงเรียกแห่งมาตุภูมิ
  • อนุสาวรีย์เสียงเรียกแห่งมาตุภูมิ เมืองวอลโกกราด

ในอีกทฤษฎีซึ่งถูกนำเสนอโดย เฮรัลด์ ฮาร์มาน นักภาษาศาสตร์ชาวเยอรมัน และ ออร์แลนโด ฟิเกซ นักประวัติศาสตร์อังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปและรัสเซีย เชื่อว่า เทพธิดาโมโคช (Mokosh) ตามนิทานปรัมปราของชนเผ่าสลาฟ เป็นต้นกำเนิดของแนวคิด "มารดาแห่งรัสเซีย" ซึ่งโมโคชถูกกล่าวถึงในพงศาวดารปฐมภูมิของรัสเซียเช่นกัน

ไม่ว่าต้นกำเนิดของมารดาแห่งรัสเซียจะเป็นเช่นไร แต่บุคลาธิษฐานนี้ได้กลายมีบทบาทอย่างมากในช่วงจักรวรรดิรัสเซียเรืองอำนาจ ไม่ต่างกับเทพีบริทาเนีย ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย ที่กองทัพขาวซึ่งจงรักภักดีต่อราชวงศ์โรมานอฟ ต่อสู้กับกองทัพบอลเชวิค ได้มีการตีพิมพ์โฆษณาชวนเชื่อที่กล่าวถึง "มารดาแห่งรัสเซีย" กำลังถูกปีศาจ(คอมมิวนิสต์) กระทำย่ำยี กระทั่งยุคที่รัสเซียเปลี่ยนผ่านสู่สหภาพโซเวียต รัฐบาลคอมมิวนิสต์พยายามลบภาพของแนวคิดมารดาแห่งรัสเซียในลักษณะเทพี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลโซเวียตหลายครั้งมักกล่าวถึงรัสเซียบ้านเกิดว่าเป็น "ดินแดนแห่งมาตุภูมิ" และถูกใช้เรื่อยมาใช้ฐานะสัญญะเชิงอำนาจของรัสเซียยุคใหม่ 

ข้ามไปยังอีกซีกโลกอย่าง "สหรัฐอเมริกา" หรือดินแดนลุงแซม "ลุงแซม" เป็นใคร ทำไม่ถึงกลายเป็นชื่อเล่นของอเมริกาได้ ต่างจากฝั่งยุโรปที่หลายชาติมักใช้เทพี หรือสตรีผู้หญิงในจินตนาการหรือสตรีในตำนานพื้นบ้านมาเป็นบุคลาธิษฐานประจำชาติ แต่บุคลาธิษฐานของสหรัฐอเมริกานั้นกลับมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เขาผู้นั้นคือ แซมมูเอล วิลสัน (Samuel Wilson) ในช่วงสงครามปี 1812 ระหว่างสหรัฐฯ กับบริเตนใหญ่ แซมมูเอล วิลสัน ซึ่งทำธุรกิจจัดส่งเนื้อ ได้รับงานจากรัฐบาลเป็นผู้จัดหาเนื้อเค็มบรรจุลงถังส่งไปยังทหารแนวหน้า ซึ่งก่อนที่วิลสันจะส่งของนั้น เขาจำเป็นต้องตรวจสอบคุณภาพให้เรียบร้อยก่อน เพื่อแสดงว่าเขาตรวจสอบคุณภาพเนื้อแล้ว วิลสันต้องประทับตรา "U.S." (United State) ลงบนแผ่นเนื้อ (บ้างก็ว่าลงบนบรรจุภัณฑ์) เพื่อระบุว่าสินค้านี้ส่งให้รัฐบาล ส่วนชื่อแซมมูเอลนั้น มีชื่อเรียกว่าแซม เมื่อเนื้อถูกจัดส่งบรรดาทหารจึงมักเรียกเนื้อที่ประทับตรา "U.S" ว่า "Uncle Sam Wilson" หรือลุงแซม

ซามูแอล วิลสัน หรือ ลุงแซม
  • ซามูแอล วิลสัน หรือ ลุงแซม

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่รายงานข่าวสงครามจากแนวหน้า ก็รายงานข่าวก่อนพูดต่อๆกันจนกระทั่งคำว่า "ลุงแซม" กลายเป็นฉายาหรือชื่อเล่นของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในเวลานั้น

ในปลายยุค 1860 นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง โทมัส แนสต์ (Thomas Nast) นำภาพลุงแซมมาวาดล้อเลียนรัฐบาล โดยมีลักษณะเป็นชายแก่มีเครายาวสีขาว ใส่สูทยาว กางเกงลายแถบ แต่ภาพลุงแซมที่โด่งดังมากที่สุดมากจากปกนิตยสาร Leslie's Weekly ฉบับเดือนกรกฎาคมปี 1916 ฝีมือของ เจมส์ แฟลกก์ (James Montgomery Flagg) ซึ่งภาพดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกับโปสเตอร์รณรงค์ให้ชาวอเมริกันสมัครเข้าเป็นทหารช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง โดยเป็นภาพของชายสูงวัย สวมหมวกทรงสูงคาดลายดาว สวมแจ็คเก็ตสีน้ำเงิน ผูกโบว์สีแดง สายตามุ่งมั่นชี้มาที่คนดู พร้อมคำเชิญชวนว่า " I Want You For The U.S. Army

ลุงแซม

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการตีพิมพ์ภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื้อโดยใช้บุลคลาธิษฐานของสองชาติคือ เทพีบริทาเนียที่กำลังคล้องแขนลุงแซม แสดงถึงสัญลักษณ์ถึงพันธมิตรอันดีระหว่างบริเตนและอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เทพีบริทาเนีย กับลุงแซม

มาที่ฝั่งเอเชีย อินเดีย ชาติที่มีความเชื่อทางศาสนาอย่างเข้มข้นก็มีบุคลาธิษฐานที่มีลักษณะเป็นเทพีเช่นกัน ชื่อว่า "ภารตมาตา" เป็นบุคลาธิษฐานแห่งชาติของประเทศอินเดีย เป็นเทวีลักษณะคล้ายกับเทวีตามความเชื่อแบบฮินดู สวมผ้าส่าหรี่ย้อมสีฝรั่น (สีแดงจากหญ้าฝรั่น) มีข้างหนึ่งถือธงชาติ พื้นหลังเป็นแผนที่อนุทวีปอินเดีย ประกบข้างด้วยสิงโต ด้วยแนวคิดคล้ายกับเทพีมารียานของฝรั่งเศส ภาพภารตมาตาถูกวาดขึ้นโดย บันกิม จันทระ จัตโตรจี (Bankimchandra Chatterjee) นักประพันธ์นิยาย และกวีชาวอินเดีย ภารตมาตาถูกพบครั้งแรกในหนังสือ "อานันทมฐะ" (Anand Math) ปีค.ศ. 1882 จุดประสงค์เพื่อเป็นการแสดงออกถึงแนวคิดชาตินิยมสนับสนุนบรรดานักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องเอกราชของอินเดีย และเช่นเดียวกับเพลงปลุกใจ Rule, Britania จัตโตรจี จึ่งได้ประพันธ์เพลงปลุกใจของชาวอินเดียที่ชื่อ วันเดมาตรัม (Vande Mataram) 

ออสเตรเลีย เป็นเพียงไม่กี่ชาติบนโลกที่มีบุคลาธิษฐานประจำชาติเป็นบุคคลที่มีตัวตนแถมยังเป็นเพียงเด็กด้วย คือ "หนูน้อยจากแมนลี่" (Little Boy from Manly) วันที่ 4 มีนาคม 1885 ระหว่างที่กองทหารจากนิวเซาท์เวลส์กำลังเดินทางไปรวมรบยังประเทศซูดาน 'เออร์เนสต์ ลอเรนซ์' เด็กน้อยวัยเพียง 9 ขวบ ได้เขียนจดหมายพร้อมแนบตั๋วเงินจำนวน 25 ปอนด์ ส่งถึง วิลเลียม เบด ดาลลีย์ มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ เพื่อสมทบกองทุนสำหรับทหารที่ออกรบ เรื่องราวดังกล่าวถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จนกลายเป็นที่กล่าวถึงจนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการแสดงความรักชาติออสเตรเลีย

ไตรภาคี สงครามโลกครั้งที่1
  • ไตรภาคีสงครามโลกครั้งที่ 1 เทพีบริทาเนีย ด้านขวา (อังกฤษ) มารียาน ด้านซ้าย (ฝรั่งเศส) และมารดาแห่งรัสเซีย ตรงกลาง

ตามที่ผู้เขียนอธิบายมายืดยาว จะเห็นได้ว่าแนวคิดบุคลาธิษฐานประจำชาติในแต่ละประเทศนั้น ถูกเชิดชูในบริบทที่ต่างกัน บางชาติบุคลาธิษฐานกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามหลักมเหศักดิ์ผีเฝ้าเมือง ขณะที่บุคลาธิษฐานบางชาติเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเสรีภาพและภารดรภาพ ทั้งยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมยุคใหม่ในปัจจุบัน บุคลาธิษฐานบางชาติแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตฐานะจักรวรรดิผู้ปกครอง แต่สำหรับชาติใต้อาณานิคมมองเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ ขณะที่บุคลาธิษฐานบางชาติกลายเป็นสิ่งแสดงอัตลักษณ์ทางการเมืองและความรักชาติ 

ยังคงมีอีกหลายประเทศที่มีบุคลาธิษฐานประจำชาติอาทิ อินโดนีเซียมีเทวีอีบูเปอร์ตีวี อิตาลีมีเทพีItalia turrita เยอรมนีมีเทพีเจอรมาเนีย กัมพูชามีตำนานพระทอง-นางนาค หรือ สุริยเทพีอามาเตราซุ และจักรพรรดิจิมมู ที่เป็นบุคลาธิษฐานของญี่ปุ่น