ไม่พบผลการค้นหา
ไฟเซอร์และไบออนเทค บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยี mRNA ประกาศว่า ทางบริษัทได้เริ่มทดลองทางคลินิกวัคซีนป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว หลังจากที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าทางบริษัทจะผลิตวัคซีนเพื่อมาตอบรับกับการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนเป็นพิเศษ

การทดลองทางคลินิกวัคซีนป้องกันโอไมครอนของไฟเซอร์ จะทำการทดลองวัคซีนชนิดเข็มกระตุ้น รวมถึงวัคซีนแยกฉีดทั้งสามเข็มให้แก่ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนในอนาคต โดยการทดลองคาดว่าจะใช้อาสาสมัครประมาณ 1,400 ราย และจะทำการทดลองภายในสหรัฐฯ

นอกจากไฟเซอร์แล้ว บริษัทผลิตวัคซีนอย่างโมเดิร์นนาในวัคซีนเทคโนโลยีเดียวกันกับไฟเซอร์ ก็กำลังจะพัฒนาวัคซีนป้องกันโอไมครอนโดยเฉพาะในเร็วๆ นี้ รวมถึงแอสตราเซเนกาที่กำลังพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ของตนเองด้วยเช่นกัน

แต่เดิมทีผู้พัฒนาวัคซีนบริษัทต่างๆ มีการวางแผนเพื่อพัฒนาวัคซีนของตนเองในการตอบรับกับเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา อย่างไรก็ดี จากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นของเชื้อโอไมครอน ซึ่งมีอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้กระบวนการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ สะดุดหยุดลงตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ จากผลการทดลองในบางประเทศพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีอยู่ในตอนนี้ทั้งในเข็มที่ 3 และ 4 ที่ถึงแม้จะเพียงพอต่อการป้องกันการป่วยหนักและการตายจากโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ แต่วัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงเกินพอจะป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ผู้เคยฉีดวัคซีนจะสามารถติดเชื้อโอไมครอนได้ แต่ผู้ป่วยมักมีอาการไม่หนัก และสามารถหายป่วยได้ในเวลาไม่กี่วัน

“การเฝ้าระวังไวรัสจะทำให้เราต้องหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อที่ผู้คนจะสามารถรักษาภูมิคุ้มกันในระดับสูงเพื่อป้องกันตนเองได้ และเราเชื่อว่าการพัฒนาและวิจัยวัคซีนบนฐานของเชื้อกลายพันธุ์อย่างที่เราทำอยู่ เป็นสิ่งที่สำคัญต่อเราอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายตอนนี้” คาธริน แจนเซน รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาวัคซีนของไฟเซอร์ระบุ

สำหรับวัคซีนในปัจจุบันกับการตอบรับเชื้อโอไมครอนนั้น อูกูร์ ซาฮิน ผู้บริหารสูงสุดและผู้ร่วมก่อตั้งไบออนเทคระบุว่า “การป้องกันการติดเชื้อ และการป่วยด้วยอาการเล็กน้อยไปจนถึงปานกลางที่เกิดจากวัคซีนนั้น มีอัตราที่ลดลงได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้” โดยซาฮินระบุเสริมว่า การทดลองในครั้งนี้จะเป็นความพยายามในการพัฒนาวัคซีนที่จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอนในระดับที่สามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นๆ เท่าที่เคยทำได้ แต่จะสามารถป้องกันในระยะเวลาที่นานมากขึ้นกว่าเดิม

การทดลองจะถูกแบ่งคนออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกจำนวน 615 คน จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์แบบมาตรฐานในสองโดสแรก ตามด้วยวัคซีนตอบรับกับโอไมครอนโดยเฉพาะอีกหนึ่งหรือสองโดส กลุ่มที่สองจำนวน 600 คน จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์มาตรฐานสามโดส ตามด้วยวัคซีนตอบรับโอไมครอนโดยเฉพาะอีกหนึ่งโดส และกลุ่มสุดท้ายจำนวน 200 คน ที่จะได้รับวัคซีนตอบรับโอไมครอนโดยเฉพาะทั้งสามโดส

การทดลองในครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้นภายใน 100 วัน ท่ามกลางความสงสัยว่า วัคซีนชนิดใหม่จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับการฉีดไปมากกว่านี้ได้หรือไม่ ในขณะที่ผู้พัฒนาวัคซีนแอสตราเซเนการะบุว่า การแพร่ระบาดของโอไมครอนที่รวดเร็วอาจทำให้เกิด “ความยากลำบากในการผลิตและปรับใช้วัคซีนแบบใหม่ได้ทันกาล”

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/health-60131986

https://www.ft.com/content/660a8d64-7e60-45fc-8fa9-fd59f543f815