ไม่พบผลการค้นหา
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อภิปรายปัญหาด้านการเกษตรและที่ดินของประเทศไทย เปรียบกระดุม 5 เม็ด ฉุดรั้งการพัฒนา ด้านอนุพงษ์ชื่นชมแนวคิดสร้างสรรค์ พร้อมรับฟัง

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. เวลา 18.00 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายถึงนโยบายด้านการเกษตรและที่ดินของประเทศไทย โดยระบุ ที่ดิน คือปัญหาคอขวดของปัญหาเกษตรกรรมทั้งหมด ที่ดินคือชีวิต คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในประเทศไทยมีลักษณะกระจุก เหลื่อมล้ำ มีความไม่ชอบธรรมในการใช้กฎหมาย โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินถูกครอบครองโดยคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ 75 เปอร์เซ็นต์ไม่มีโฉนดเป็นของตัวเอง ชาวนากว่า 45 เปอร์เซ็นต์ยังต้องเช่าที่ดิน

ที่ดินเป็นกระดุมเม็ดแรกที่หากแก้ปัญหาถูกจะทำให้แก้ปัญหาอื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการเงินได้ ต้องกู้เงินนอกระบบ อยู่ในวงจรหนี้สิน ซึ่งเป็นกระดุมเม็ดที่ 2 ทุกวันนี้เกษตรกรมีรายได้ต่อหัว 57,000 บาทต่อปีหรือ 4,000 กว่าบาทต่อเดือน กว่า 40 เปอร์เซ็นต์มีหนี้สินมากกว่า 2 เท่าครึ่ง 

เมื่ออยู่ในวงจรหนี้สิน พวกเขาจดจ่อต่อการใช้หนี้ ทำให้ต้องการความแน่นอนและจำเป็นต้องทำการเกษตรด้วยวิธีการเดิมๆ ปลูกพืชเดิมๆ เลือกวิธีที่ถูกที่สุด ใช้สารเคมีเยอะเพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ และมีผลให้มีปัจจัยการกดดันด้านราคา เรื่องสารเคมีเกษตร จึงเป็นการติดกระดุมเม็ดที่ 3

"พี่น้องเกษตรกรมีต้นทุนที่สูงและมีราคาที่ต่ำ"

นายพิธา กล่าวต่อว่า เมื่อมีต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่มีเงินออม ไม่มีกระแสเงินสด ในการแปรรูป และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ นั่นคือ กระดุมเม็ดที่ 4 ไปไม่ถึงโอกาสในการพัฒนาตัวเอง จากการให้บริการด้านการเกษตร ท่องเที่ยว 

ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ขอเสนอแนวทางต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกร เมื่อประเทศไทยมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเปิดให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เหตุใดจึงไม่มีเขตเศรษฐกิจของประชาชนไทยด้วยกัน เป็นเขตสังคมพิเศษ โดยเสนอให้เริ่มต้นจากการยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐและประชาชน ที่ต้องการมีที่ดินอยู่อาศัยและที่ทำกิน หรือ การเพิ่มบทเฉพาะกาลให้ประชาชนอาศัยอยู่ได้ ด้วยการรับรองสิทธิชุมชน ให้มีไฟฟ้าและประปาใช้

ส่วนข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหากระดุมเม็ดที่ 2 ปัญหาหนี้สินเกษตรกร นายพิธา เสนอให้ใช้ระบบการสร้างเครดิตทางเลือก หรือ alternative credit scorin ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่โลกดิจิทัลช่วยได้ 

ส่วนกระดุมเม็ดที่ 3 นายพิธา แนะให้ลดการใช้สารเคมีเกษตร 10 เปอร์เซ็น ด้วยการตั้งสถาบันชีวภาพ สนับสนุนการใช้ยาสมุนไพร โดยปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรเป็นอันดับ 4 ของโลกทั้งที่พื้นที่เพาะปลูกเป็นอันดับที่ 48 

กระดุมเม็ดที่ 4 นวัตกรรมและการแปรรูปสินค้าเกษตร งบประมาณเฉลี่ยในการอุดหนุนอยู่ที่หนึ่งแสนล้านบาท แต่งบประมาณสำหรับการวิจัยอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท คำถามคือรัฐจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

นอกจากนี้นายพิธายังเป็นห่วงนโยบายกัญชาทางการเเพทย์ โดยเห็นด้วยว่ากัญชาเป็นพิืชที่สำคัญและมีคุณค่า แต่เป็นกังวลว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถผลักดันกัญชาให้เป็นเบอร์ 1 ในเอเซียได้ โดยที่ไม่มีการลักลอบปลูกและนำเข้าเกิดขึ้น

กระดุมเม็ดที่ 5 การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ต้องเริ่มจากการปลดล็อกกระดุมทุกเม็ด โดยปัจจุบันชาวบ้านยังได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวน้อยมากกว่าที่ควรจะเป็น ปีที่แล้วรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าเชียงใหม่ 1 แสนล้านบาท คิดว่าพี่น้องเกษตรกรชาวเชียงใหม่ได้รับอานิสงส์จากรายได้เหล่านี้เป็นจำนวนเท่าไหร่ ในขณะที่กระแสของโลกกำลังจะมา เรื่องการเกษตรเชิงท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงชุมชนก็ยังติดกระดุมเม็ดแรกอยู่เลย ยังติดในเรื่องของผังเมืองการเกษตรที่ไม่สามารถทำได้ ยังติดเรื่องของกฎหมายเรื่องป่าทับที่ และนี่คือกระดุม 5 เม็ดที่พวกเราก็ต้องปิดให้กับพี่น้องเกษตรกร หากต้องการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตร แต่ถ้าไม่ปลดล็อคกระดุมเม็ดแรก พวกเขาก็ยังทำไม่ได้อยู่ดี ถ้าจะเอาเขาออกจากวังวน ที่เขาต้องวิ่งเหนื่อยอยู่ตลอดเวลาแล้ว ต้องแบ่งลำดับความสำคัญ เพื่อที่จะไม่ให้ปลายเหตุของอีกปัญหาหนึ่ง ไปเป็นต้นเหตุของอีกปัญหาหนึ่ง

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวชื่นชมการอภิปรายว่าเป็นแนวความคิดที่สร้างสรรค์และไม่ปฏิเสธข้อเสนอ 

"ชื่นชมแนวคิด ด้วยความสัตย์จริง บางอันผมตอบไม่ได้ ท่านทำการบ้านมาหนักจริงๆ ปัญหาที่ดิน เป็นกระดุมเม็ดแรกจริง ทำอย่างไรให้ไปถึงกระดุมเม็ดที่ 2 ผมและรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปแก้เรื่องหนี้นอกระบบ ยอมรับว่ามีจริงๆ บางคนก็เอาไปเข้าระบบหนี้อีก มีบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย ต้องหาทางแก้ให้เขา ถ้าเราทำให้คน 30 ล้านคน ที่เป็นเกษตรกรในแผ่นดินนี้สุขไม่ได้ ประเทศไม่มีทางเป็นสุข”

พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า กรณีที่ดินประเภทป่าไม้ ตอนนี้มีการปลดล็อกแล้วทั่วประเทศ แต่ต้องเป็นไปตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดว่าเป็นพื้นที่ไหนบ้าง