ไม่พบผลการค้นหา
จบทุกกระบวนความ สำหรับการ เปิดอภิปรายวิสามัญแบบไม่ลงมติ 26-27 ต.ค. 2563 เป็นไฟท์บังคับให้ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี นำความขัดแย้งบนท้องถนน มาหาทางออกในสภา

กลายเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้วาระอภิปรายในรัฐสภา เปิดยุทธวิธี “ถอยเพื่อรุก” ทั้งที่การอภิปรายทั้งสองวันของพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค พุ่งเป้าไปที่ บีบให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออก

แต่ “พล.อ.ประยุทธ์” สวนกลับว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผมจะไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพื่อหนีปัญหา จะไม่ละทิ้งหน้าที่ในยามที่ชาติบ้านเมืองมีปัญหา เหมือนคนที่เพิ่งฟื้นไข้ หรือ เหมือนคนอื่นๆ ที่หนีปัญหา ในยามที่ทุกคนต้องช่วยกันประคับประคองให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ผมยังคงแก้ปัญหาที่รอรับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ว่างงาน ช่วยเหลือ SMEs ดูแลสินค้าเกษตร บริหารจัดการน้ำ” 

เมื่อไม่ออกแถมยังทิ้งไพ่ “ถอยในรุก” 3 ใบลงกลางสภา 

รุกคืบชิงจังหวะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

รุกชิงจังหวะการทำประชามติสู้ม็อบ ถามคนทั้งประเทศว่าจะให้ออก - ไม่ออก  

รุกคืบชิงจังหวะตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ 7 ฝ่าย

ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยของฝ่ายค้านว่าคณะกรรมการปรองดองจะเป็นเกมป่าหี่หรือไม่?

ประเสริฐ จันทรรวงทอง เพื่อไทย _รัฐสภา_201029_0.jpg

เดิมทีวิปรัฐบาลหารือกันก่อนเปิดอภิปรายวิสามัญ 26-27 ต.ค. ว่าทางออกของวิกฤตม็อบ ควรจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาทางออก โดยอาศัยอำนาจประธานรัฐสภาเป็นคนลงนามคำสั่งแต่งตั้งหรือไม่ พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีฝ่ายใดคัดค้าน

แต่เมื่อถึงคิวอภิปรายในสภา ซีนการตั้งคณะกรรมการกลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เปิดประเด็น โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งที่ก่อนสภาเปิดฉากอภิปราย มีการปล่อยข่าวว่า “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาลเป็นผู้เสนอ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 ตุลาคม ขณะที่รัฐสภากำลังอภิปรายหาทางออกบ้านเมือง หลังฉากนอกห้องประชุมรัฐสภา ปรากฏร่องรอยวิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา มีการถกถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดอง แต่ฝ่ายค้าน 6 พรรค สงวนสิทธิที่จะยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วม แม้ว่าในตอนจบ “พล.อ.ประยุทธ์” จะประกาศสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการดังกล่าว

ก่อนจะนำมาสู่การ “บอยคอต” ของพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นเงื่อนไขว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออก ก็จะไม่เข้าร่วมคณะกรรมการปรองดอง และ “ก้าวไกล” ก็มีแนวโน้มเดินตามทางเพื่อไทย  

แต่ที่สุดแล้ว “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งใครก็ตามที่เป็นประธานรัฐสภา จะได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาสถาบันโดยตำแหน่ง ได้มอบหมายให้ สถาบันพระปกเกล้าไปขึ้นโครงคณะกรรมการปรองดองขึ้นมา

วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ตอบกลับทันควันว่าจะชงโครงสร้างให้พิจารณาในวันที่ 2 พ.ย. นี้  

จุรินทร์ ประชาธิปัตย์ อภิปรายทั่วไป ม็อบ _รัฐสภา

ขณะที่ข้อความของ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช รองประธานวิปรัฐบาล ผ่านการอภิปรายสภาก็ไม่อาจมองข้าม เพราะแจกแจง  “จ็อบเดสคริปชัน” ของคณะกรรมการปรองดองแบบละเอียดยิบ  ผ่านการอภิปรายในสภา เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าวว่ารัฐบาลอาจใช้ “ประชามติ” มายุติ “ม็อบคณะราษฎร”   

1.นำสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาไปนำเสนอการแก้ปัญหาประเทศชาติไปหารือ เพื่อกำหนดทางแก้ปัญหา และกำหนดอนาคตของประเทศด้วย เป็นจุดเริ่มต้นที่จะใช้คณะกรรมการชุดนี้ได้ 

2.ควรมีส่วนเร่งรัดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงหาทางออกเอาความคิดภาคประชาชนมาทำอย่างไรที่จะทำให้การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญได้เห็นพ้องต้องกัน วันหนึ่งที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญที่ออกมาจะได้พูดได้ว่านี่คือฉบับของประชาชน ใช้เป็นหลักเกณฑ์หลักของบ้านเมือง  

3.คณะกรรมการชุดนี้ก็ควรพูดถึงการปฏิรูปประเทศด้วย รวมถึงหาข้อยุติในการตั้งคำถามกับประชาชนหากมีการทำประชามติ อย่างน้อยต้องมีข้อยุติในปัญหา มีข้อยุติแม้แต่คำถามที่จะถามกับประชาชน เพราะบางคำถามไม่สามารถไปถามเป็นประชามติได้ จึงต้องมีคณะกรรมการชุดหนึ่งหาข้อสรุปในการตั้งคำถามประชามติต่อไป  

ด้าน “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี พูดจาสอดคล้องกับ “ชินวรณ์” แม้ยังไม่มั่นใจว่าคณะกรรมการปรองดองจะตั้งได้ - ไม่ได้ แต่เมื่อนักข่าวถามถึงเรื่องการทำการทำประชามติชี้ชะตานายกฯว่าควรลาออกหรือไม่

วิษณุตอบว่า “คำถามดังกล่าวอาจเป็นคำถามพ่วงก็ได้ ที่ใช้คำว่าพ่วงเพราะหากทำพร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เราก็เรียกคำถามพ่วง แต่ถ้าไปตั้งเอกเทศก็ไม่ใช่คำถามพ่วง แต่ยอมรับว่า คำถามตั้งยากที่จะถามในเรื่องตัวบุคคล เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ห้ามไว้”

“ดังนั้น ก็อาจจะให้คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์เป็นคนไปคิดคำถาม แต่กระบวนการดังกล่าวจะสามารถทำได้ต้องรอให้กฎหมายประชามติผ่านรัฐสภาเสียก่อน แต่ก็มีผู้เสนอในสภาว่า หากต้องการทำแบบเร่งด่วนก็สามารถออกเป็น พ.ร.ก.ประชามติได้แบบใช้ครั้งเดียวเลิก ส่วนรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ ตนไม่ขอตอบคำถาม เพราะเป็นแนวคิดของสภา ซึ่งนายกฯ เพียงแต่รับฟังแต่ไม่ได้มีความเห็น”

วิษณุ.jpg

คณะกรรมการปรองดอง ที่กำลังจะเห็นรูปเห็นโครงร่างในสัปดาห์หน้า ต้องจับตาว่าจะเป็นเวทีหาทางออกจากวิกฤตครั้งใหม่ หรือ คล้ายกับคณะกรรมการชุดก่อนๆ ที่ในอดีตเป็นแค่การแสดง “ปาหี่”

แต่ดูเหมือนว่า หากคณะกรรมการปรองดองไม่แท้งก่อนคลอด น่าสนใจว่าอาจมีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ 1.เป็นเวทีให้ทุกฝ่ายมาเจรจาหาทางออก 2.เป็นหน่วยงานที่คิดคำถามพ่วงประชามติ ตัดสินอนาคต ม็อบ - รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

เกมนี้ รัฐบาลไม่ชนะก็แพ้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง