ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมสภาฯ ถกงบฯวาระ 2 รายมาตราผ่านฉลุยมาตรา 4 งบฯภาพรวม 3.2 ล้านล้านบาท หลังกมธ.เสียงข้างน้อยและฝ่ายค้านรุมถล่ม ขอตัดงบฯ ซัดตั้งงบฯ กองทัพสูง มีเงินใช้จ่ายไม่ผ่านกฎหมายส่อขัด รธน. ขณะที่งบกลาง ฝ่ายค้านท้วงงบกลาง หวั่นซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จ่ายค่าเสียหายปิดเหมืองทองอัครา

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณารายมาตรา ในส่วนมาตรา4 เกี่ยวกับภาพรวมงบประมาณวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท โดยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยจากพรรคเพื่อไทย เห็นตรงกันว่า การพิจารณางบประมาณในรอบนี้มีความผิดปกติในหลายเรื่อง อาทิ รัฐบาลไม่ได้เขียนเรื่องเงินนอกงบประมาณไว้ในร่าง แสดงให้เห็นว่ามีเงินส่วนหนึ่งที่รัฐบาลใช้จ่ายโดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงกังวลว่าหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้อาจนำไปสู่การยื่นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบได้ 

กรรมาธิการเสียงข้างน้อยส่วนหนึ่งอภิปรายขอตัดงบประมาณที่ร้อยละ 15 หรือ 480,000 ล้านบาท โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจากพรรคเพื่อไทยแปรญัตติอภิปรายว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณครั้งนี้ มีเงื่อนไขที่ต้องปรับตัวใหม่ เพราะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเงื่อนไขบังคับหลายเรื่อง แต่งบประมาณบางกระทรวงกลับได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยกระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะงบประมาณของกองทัพ และงบประมาณควรจะคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหรือจีดีพี

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การตั้งงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าจีดีพีเติบโตที่ร้อยละ 3 ถึง 4 แต่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประมาณการเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2562 ว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และคาดว่าการจัดเก็บรายได้จะไม่ถึง 2.731 ล้านล้านบาท ตามที่ตั้งไว้ รวมถึงปรากฏการณ์เงินบาทแข็งค่า จะทำให้การเก็บภาษีส่งออกลดลง ประกอบกับการตั้งงบประมาณไม่ตอบสนองความเดือดร้อนประชาชน แต่เป็นการจัดงบประมาณตามวิธีการงบประมาณปกติ จึงเห็นสมควรว่าต้องปรับลดงบประมาณ

ศิริกัญญา อนาคตใหม่ สภา 0017.jpg

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานจริง ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการ เช่น กรมวิชาการเกษตรตัดงบโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็น แม้มีหลายๆ หน่วยงานทำหน้าที่ชี้วัด แต่ไม่มีการประเมินผลอย่างจริงจัง ขณะที่การปฏิรูประบบราชการไม่เป็นผล มีหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มรายจ่ายประจำปีขึ้นไปด้วย และมีหลายหน่วยงานราชการทำงานซ้ำซ้อนและทำงานในภารกิจที่ไม่จำเป็น และชี้ว่ามีงบประมาณในอนาคตถูกใช้ไปแล้วเกือบ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการก่อหนี้ผูกพันกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. จากโครงการประกันรายได้

นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ ชี้แจงถึงปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ อย่างการใช้งบกลางในการแก้ไขภัยแล้ง ขณะที่สมมติฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากถึงสภาพเศรษฐกิจที่มีผลจากต่างประเทศ แต่หากปรับลดประมาณต่ำกว่า 3.2 ล้านบาท สิ่งที่ปรับลดไม่ได้แน่ๆ คือรายจ่ายประจำที่มีอยู่กว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณทั้งหมด และหากมีการปรับลดก็จะกระทบต่องบลงทุน จึงควรใช้วิธีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพแทนที่จะใช้วิธีการปรับลด ส่วนภาระหนี้สาธารณะ จากการชดเชยรายจ่ายที่ขาดดุลซึ่งตั้งไว้ 469,000 ล้านบาท แต่ยอดเงินกู้จริงๆ จะอยู่ประมาณ 389,000 ล้านบาท เพราะหักลบงบที่จัดสรรใช้หนี้เงินกู้ไปแล้ว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบเคียงได้ว่าไม่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว พร้อมย้ำว่าช่วงแรกของปีงบประมาณ 2563 เดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม ยังสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการที่ 6,349 ล้านบาท ที่มาจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดเก็บรายได้ โดยดึงกลุ่มที่ไม่ได้เสียภาษีกลับมาเสียภาษี พร้อมย้ำว่าค่าเงินบาทเริ่มอ่อนตัวแล้ว แม้ค่าเงินบาทแข็งอยู่ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ด้านดีก็ได้เปรียบเกี่ยวกับการนำเข้า

ส่วนความกังวลว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ว่ามีรับฟังความคิดเห็นหรือไม่นั้น นายสันติกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ส่งมาจากสำนักงบประมาณมีการชี้แจงรายละเอียดการรับฟังความคิดเห็นการกระทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญทุกประการ

กรณ์ แนะรัฐบาลจัดงบฯ เหมาะสมสถานการณ์ รองรับสังคมสูงวัย

ด้านนายกรณ์ จาติกวนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายภาพรวมงบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท โดยต้องการให้มีการออกแบบงบประมาณที่สอดคล้องสถานการณ์ คือปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น พึ่งพิงการส่งออกไม่ได้แล้ว ภาคเอกชนเลิกลงทุน ซึ่งตัวทดแทนคือการลงทุนของรัฐบาล แต่เมื่อเทียบกับจีดีพีสัดส่วนลงทุนกลับลดกว่าปี 2562 ขณะที่หนี้เสียยังมีประชาชนถูกฟ้องล้มละลายนับล้านคน โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ประชาชนมีพฤติกรรมใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป ใช้จ่ายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ เอสเอ็มอีแข่งขันไม่ได้ รายได้กว่าร้อยละ 60 อยู่ที่ผู้ประกอบการร้อยละ 5 เท่านั้น ตลอดจนการรองรับโครงสร้างสังคมซึ่งเป็นสังคมสูงอายุ ภาวะโลกร้อน และความเปลี่ยนเปลงทางเทคโนโลยี และอยากให้รัฐบาลคำนึงถึงความจำเป็นในการจัดงบประมาณที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าภาษีถูกใช้เพื่อประชาชน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น

ที่สุดที่ประชุมสภาฯ มีมติ 246 ต่อ 88 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เห็นชอบตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากที่ไม่มีการแก้ไข

พลังประชารัฐ ประชุมสภา_200108_0021.jpgวรวัจน์ ประชุมสภาสภาผู้แทนราษฎร ประชุมสภา_200108_0001.jpg

ฝ่ายค้านติงงบกลางหวั่นซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จ่ายค่าเสียหายปิดเหมืองทองอัครา

ขณะที่การอภิปรายในมาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง วงเงิน 518,770 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มีการสงวนคำแปรญัตติเกี่ยวกับเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท เริ่มที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายขอให้ปรับลดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจากที่ตั้งไว้ 96,000 ล้านบาท ปรับลด 56,000 ล้านบาท เนื่องจากควรใช้งบประมาณตามที่จำเป็น เพราะระยะเวลาปีงบประมาณ 2563 เหลืออยู่อีกไม่กี่เดือน

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายขอตัดงบกลาง 20,000 ล้านบาท โดยกังวลว่าจะมีการใช้งบประมาณผิดประเภทไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออาจจะนำไปจ่ายค่าเสียหายกรณีปิดเหมืองทองอัครา อีกทั้งยังมีงบสำรองอีก 50,000 ล้านบาท ซึ่งสำรองไว้นอกงบประมาณตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2561 ไว้อยู่แล้ว

ชลน่าน เพื่อไทย ประชุมสภา_200108_0020.jpg

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอปรับลดงบกลางในส่วนเงินค่าชดเชยสิ่งก่อสร้างจาก 500 ล้านบาท ปรับลดลง 200 ล้านบาท เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มา ตั้งแต่ปี 2561 ใช้งบส่วนนี้ไม่เกิน 300 ล้านบาทอยู่แล้ว และเสนอปรับลดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท ปรับลด 30,000 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 66,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินงบประมาณส่วนนี้ใช้เฉพาะกรณีป้องกันหรือแก้ไขในสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐการ เยียวยาหรือชดเชยบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเหลือเวลาปีงบประมาณ 2563 มีเพียง 6 เดือนเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 96,000 ล้านบาท

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายเสนอปรับลดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท ให้ลดลงอีกร้อยละ 15 เนื่องจากรัฐบาลสำรองไว้เกินความจำเป็น พฤติกรรมการใช้เงินของรัฐบาลมีความน่าสงสัย ใช้เงินไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินหรือจำเป็น และมองว่าเงินสำรองจ่ายตั้งเกินกว่าความจำเป็นถึงร้อยละ 69 แล้วยังมีเงินสำรองจ่ายอีก 50,000 ล้านบาท ใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2561 ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน ก็นำไปใช้กับมาตรการแจกเงินอย่างโครงการชิมช้อปใช้ ที่กระตุ้นการใช้จ่ายจาก G-Wallet ได้เพียง 1,548 ล้านบาท จากเป้าหมาย 60,000 ล้านบาท , ใช้งบประมาณ 573 ล้านบาท ซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว 849 เครื่อง เครื่องละ 685,000 บาท แผนที่ราคาตลาดอยู่เครื่องละ 130,000 บาท , และใช้งบ 2,860 ล้านบาท ซื้อรถเกราะล้อยาง M1126 STRYKER มือสอง 37 คัน คันละ 80 ล้านบาท ทั้งที่ราคาตลาดอยู่ประมาณ 47 ล้านบาทเท่านั้น

นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายงบกลาง 518,770 ล้านบาท โดยเสนอปรับลดร้อยละ 10 โดยชี้ว่าการพิจารณา วางงบประมาณ เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่าประชาชน และการใช้กรณีประสบภัยธรรมชาติก็ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ประสบภัยทุกราย และไม่ปรากฏงบประมาณประกันรายได้เกษตรกรในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย โดยเสนอขอให้ตั้งงบประมาณในสัดส่วนกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรง

ขณะที่ มาตรา 7 งบประมาณรายจ่ายสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานในกำกับ วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่ประชุมเห็นด้วยตาม กมธ.ที่มีการแก้ไขด้วยมติ 247 ต่อ 15 เสียง งดออกเสียง 208เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง