การชุมนุมของกลุ่มผู้เรียกตนเองว่า 'อาชีวะเพื่อชาติ' เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ทวีความร้อนแรงให้กับการเมืองไทยไปอีกระดับ เพราะถือเป็นการออกมา 'ท้าชน' โดยตรงกับกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออก และ 'ยุบสภา' ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
แถลงการณ์ของกลุ่มอาชีวะเพื่อชาติ ถูกอ่านโดย 'ทศพล มนูญรัตน์' เป็นการประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนและตำรวจที่ปักหลักอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระบุว่าการชุมนุม 'กลุ่มเยาวชนปลดแอก' รวมถึง 'สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย' (สนท.) ซึ่งจัดกิจกรรมทางการเมืองขึ้นตั้งแต่ 18 ก.ค. 2563 เป็นต้นมา เป็น"การชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคม"
เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนต่างๆ "ปรากฏหลักฐานและข้อเท็จจริงว่ามีการแสดงออกเพื่อต้องการท้าทาย ต่อต้าน หรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จหรือเฟกนิวส์เพื่อปลุกระดมให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์"
นอกจากนี้ ภาพข่าวจำนวนมากเกี่ยวกับกลุ่มอาชีวะเพื่อชาติ ยังแสดงให้เห็นผู้ชุมนุมพร้อมใจกัน 'ชู 3 นิ้ว' อันได้แก่ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง โดยระบุว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการยกย่องเชิดชู 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์'
แต่อาจต้องดูต่อไปอีกระยะว่าสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วแบบนี้ 'จุดติด' หรือไม่ เพราะถ้ามีผู้เห็นด้วย ก็อาจจะถูกนำไปใช้ในการชุมนุมของกลุ่มที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับกลุ่มอาชีวะเพื่อชาติในระยะเวลาต่อจากนี้
ช่วงหลายสัปดาห์ที่่ผ่านมา การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมักจะมีการชู 3 นิ้ว ซึ่งประกอบด้วย นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยที่วัตถุประสงค์ในการชุมนุมของพวกเขาเหล่านี้ระบุว่า เป็นการเรียกร้องและปกป้อง 'สิทธิเสรีภาพของประชาชน'
การชู 3 นิ้วแบบกลุ่มเยาวชนฯ พบเห็นครั้งแรกหลังการรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2557 และมีการเชื่อมโยงสัญลักษณ์ดังกล่าวกับหนังสือและภาพยนตร์ เรื่อง The Hunger Games ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโลกสมมติที่เขียนโดย 'ซูซาน คอลลินส์'
นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงสัญลักษณ์ 3 นิ้วแบบ The Hunger Games กับการชุมนุมของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น เยาวชนฮ่องกงที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 และการประท้วงนโยบายฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติดของรัฐบาล 'โรดริโก ดูแตร์เต' ที่ปรากฏในกลุ่ม ส.ว.ฟิลิปปินส์เมื่อปี 2560
ส่วนการชู 3 นิ้วแบบกลุ่มอาชีวะเพื่อชาติ อาจกล่าวได้ว่า 'ใกล้เคียง' กับการชู 3 นิ้วซึ่งเป็นที่รู้จักมาก่อนในฐานะ 'การสดุดีของชาวเซิร์บ' (Serb salute) ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในสื่อทั่วโลกช่วงก่อนและหลัง 'สงครามยูโกสลาเวีย' ที่ยืดเยื้อระหว่างปี 2534-2544 จนนำไปสู่การแยกตัวออกเป็นประเทศใหม่อีกหลายประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน และเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดชาตินิยม-เชื้อชาตินิยมเช่นเดียวกัน
การชู 3 นิ้ว (โป้ง-ชี้-กลาง) ถูกเรียกขานจากสื่อต่างชาติหลายสำนักในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้ว่าเป็น 'การสดุดีแบบเซิร์บ' (Serb salute หรือ tri-prsta) จึงอาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูต้นทางว่าสัญลักษณ์มือรูปแบบนี้มีความหมายว่าอย่างไร
สำนักข่าว Novosti เคยรายงานไว้ตั้งแต่ปี 2545 ว่า การชู 3 นิ้วแบบเซิร์บ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกับกลุ่มชาวคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ในคาบสมุทรบอลข่านเมื่อครั้งอดีต โดย 3 นิ้วนั้นเพื่อสดุดี 'พระบิดา พระบุตร พระจิต'
จนกระทั่งระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายและเกิดสงครามยูโกสลาเวียยืดเยื้อในบอลข่าน กลุ่มทหารและชาวเซิร์บที่มีแนวคิดชาตินิยม ซึ่งส่วนใหญ่นับถือคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ พากันใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้วในการสดุดีผู้ต่อสู้เพื่อชนชาติเซิร์บ และกลายเป็นภาพจำที่อยู่คู่กับกลุ่มเคลื่อนไหวด้านชาตินิยมไปจนถึงกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งชาวเซิร์บ ที่มองว่าสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วแบบนี้คือการแสดงออกซึ่งความภาคภูมิใจในชาติ
หลังจากนั้น 'ยูโกสลาเวีย' แตกออกเป็นประเทศต่างๆ ได้แก่ โครเอเชีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา สโลวีเนีย นอร์ทมาซิโดเนีย มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย แต่สัญลักษณ์ ชู 3 นิ้วก็ยังแพร่หลายในกลุ่มชาวเซิร์บ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเซอร์เบีย
แม้แต่ 'นอวัก ยอโควิช' นักเทนนิสเชื้อสายเซิร์บ มือวางอันดับต้นๆ ของโลกเองก็เคยชู 3 นิ้วทักทายแฟนคลับชาวเซิร์บทั่วโลกเมื่อได้รับชัยชนะในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เกิดสงครามยูโกสลาเวียและสงครามย่อยอื่นๆ ในคาบสมุทรบอลข่าน ทหารเซิร์บได้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน สังหารหมู่ และมีพฤติกรรมเข้าข่าย 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' เพื่อนร่วมภูมิภาคที่ต่างเชื้อชาติและต่างศาสนาเป็นจำนวนไม่น้อย
เมื่อปี 2554 รัฐบาลเซิร์บจับกุม 'รัตโก มลาดิช' อดีตนายพลชาวเซิร์บที่เคยนำทัพในสงครามยูโกสลาเวีย กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งชาวเซิร์บจึงได้รวมตัวกันที่กรุงเบลเกรด เพื่อแสดงพลังให้กำลังใจและยืนยันการสนับสนุนมลาดิช เพราะเห็นว่าอดีตนายพลผู้นี้ คือ วีรบุรุษสงครามที่ปกป้องชนชาติเซิร์บอย่างกล้าหาญ
แต่ในทางสากล 'มลาดิช' ถูกกล่าวหาเป็น 'อาชญากรสงคราม' และสื่อตะวันตกเรียกเขาว่า 'นักฆ่าแห่งบอสเนีย' (Butcher of Bosnia) ในฐานะที่เขาเคยเป็นเสนาธิการกองทัพเซิร์บบอสเนีย ช่วงที่เกิดสงครามบอสเนียในปี 2535-2538 ทับซ้อนไปกับสงครามยูโกสลาเวีย
กลุ่มทหารเซิร์บที่นำโดย 'มลาดิช' เป็นผู้ปฏิบัติการปิดล้อมและเข่นฆ่าชาวมุสลิมบอสเนีย (Bosniaks) ในเมืองเซรเบรนิตซา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7,000 คน ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกเรียกว่า 'การสังหารหมู่เซรเบรนิตซา'
ขณะเดียวกัน แคทเธอรีน แมคคินนอน ศาสตราจารย์กฎหมายของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐอเมริกา หนึ่งในคณะที่ปรึกษาคดีฟ้องร้อง 'ราโดวาน คารัดซิช' อดีตอาชญากรสงครามเชื้อสายเซิร์บอีกคนหนึ่ง เคยส่งจดหมายทักท้วง The New York Times เมื่อปี 2540 โดยเธอ 'ไม่เห็นด้วย' กับการกล่าวว่าการชู 3 นิ้วแบบเซิร์บเป็นการแสดงความเคารพต่อพระบิดา พระบุตร พระจิต ของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์
แม้การชู 3 นิ้วในกลุ่มชาวเซิร์บอาจจะเป็นที่ชื่นชมและยอมรับได้ แต่ถ้าชาวเซิร์บชู 3 นิ้วแบบนี้ใส่ชาวบอสเนีย ชาวโครแอต หรือชาวคอซอวอ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตีความว่าเป็นการเยาะเย้ยหรือยั่วยุ
แมคคินนอนย้ำว่า การชู 3 นิ้วแบบชาวเซิร์บ ถูกใช้ในการสาบานตนของกลุ่มทหารเซิร์บที่เข้าร่วมกับกองทัพนาซีเยอรมนีในอดีต และเชลยสงครามที่เคยถูกทหารเซิร์บคุมตัวในช่วงสงครามยูโกสลาเวียบอกว่า พวกเขาถูกบังคับให้ชู 3 นิ้วเชิดชูชาวเซิร์บในระหว่างที่ถูกซ้อมทรมาน ขณะที่กลุ่มชาวเซิร์บซึ่งสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่ยอมใช้สัญลักษณ์นี้ในการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ การชู 3 นิ้วแบบชาวเซิร์บในพื้นที่สาธารณะนอกอาณาเขตเซอร์เบีย จึงอาจจะถูกมองว่าเป็นการเพิกเฉยต่อประวัติศาสตร์ หรือเป็นความพยายามยั่วยุผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากการกระทำของทหารและกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งชาวเซิร์บในอดีตได้เช่นกัน
กรณีที่เห็นชัดเจนเกิดขึ้นในวงการกีฬาเป็นส่วนใหญ่ เช่น เมื่อปี 2557 สำนักข่าว SBS ของออสเตรเลีย รายงานว่า 'บ็อบบี เดสโพทอฟสกี' นักฟุตบอลเชื้อสายเซิร์บ กองหน้าทีม Perth Glory ชู 3 นิ้ว ใส่กลุ่มแฟนคลับเชื้อสายโครแอตในสนาม ซึ่งมาเชียร์สโมสรฟุตบอลทีมตรงข้ามอย่าง Melbourne Knights นำไปสู่การร้องเรียนเรื่อง 'พฤติกรรมไม่เหมาะสม' และเดสโพทอฟสกีต้องออกมากล่าวขอโทษผ่านสื่อ
นอกจากนี้ การกระทำของกองทัพชาตินิยมชาวเซิร์บในช่วงสงครามยูโกสลาเวียและสงครามย่อยในภูมิภาคอื่นๆ ทำให้กลุ่มชาวเซิร์บซึ่งกลายเป็น 'ชนกลุ่มน้อย' ในประเทศที่แยกตัวออกจากยูโกสลาเวียในปัจจุบัน ต้องประสบกับความยากลำบากไม่น้อยเลย
เพราะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากทหารและกองกำลังชาวเซิร์บในอดีตมักจะพุ่งเป้าโจมตีหรือคุกคามชาวเซิร์บในประเทศตัวเอง เช่น พรรคการเมืองหนึ่งในโครเอเชียชูนโยบายชาตินิยมสุดโต่ง ต่อต้านชาวโครเอเชียเชื้อสายเซิร์บที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของโครเอเชีย
อาจกล่าวได้ว่า การกระทำของกลุ่มชาตินิยมชาวเซิร์บที่ไม่เลือกวิธีการ นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เห็นขัดแย้ง และผู้ที่แตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา จนกลายมาเป็น 'มรดกแค้น' ระหว่างกลุ่มคนที่เคยอยู่ในดินแดนเดียวกัน และเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: