ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษ จัดเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 แนะหาแนวทางป้องกัน ปรับเปลี่ยน จัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยลง

กรมควมคุมมลพิษ ร่วมกับกรมอนามัย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาสื่อสารความเสี่ยงสู่สาธารณะ ข้อมูลมลพิษอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการรับมือและจัดการจากปัญหาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กทม. รวมทั้งเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยเกิดจากแหล่งกำเนิดของมลพิษที่เพิ่มขึ้น ด้านคมนาคม การก่อสร้าง และการเผาในที่โล่งจากกิจกรรมต่างๆ แม้จะมีวิทยาการที่ช่วยลดการก่อมลพิษแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหาด้วย มีอิทธิพลของปัจจัยอุตุนิยมวิทยา ที่อากาศไม่สามารถถ่ายเทได้ จึงเกิดฝุ่นสะสมขึ้น 

ซึ่งในปีต่อๆ ไปก็จะมีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก สิ่งสำคัญจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนหรือจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ ทั้งการเปลี่ยนแปลงชนิดของน้ำมันที่ปล่อยกำมะถันลดลงน้อยกว่า 10 ppm หรือการใช้รถมาตรฐานยูโร 6 ซึ่งจะช่วยลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ที่ช่วยในการควบคุมการก่อมลพิษในช่วงที่อากาศมีลักษณะไม่ถ่ายเท ซึ่งสามารถทำได้ในระยะเวลาเร่งด่วน ก็จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบที่น้อยลง สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็จำเป็นต้องมีการสื่อสารถึงประชาชนเชิงรุก ใช้ช่องทางที่สามารถส่งต่อเข้าถึงประชาชนได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพื่อลดความกังวลหรือการรับข้อมูลที่ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง

ด้านนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีการคาดการณ์ว่ามลพิษทางอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตประมาณ 7 ล้านคน แต่หากมองถึงรายละเอียดเชิงลึกแล้วมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM2.5 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการป่วยร่วมกับสาเหตุอื่นๆ เช่น สุขภาพส่วนตัว อาหารการกิน และบุหรี่ ที่เป็นต้นเหตุหลักการป่วยระบบทางเดินหายใจและโรคมะเร็ง 

ส่วนฝุ่น PM2.5 นั้นใช้เวลานานกว่า10-20 ปี ในการสะสมจนเกิดอาการเจ็บป่วย สำหรับคนที่มีสุขภาพปกติจึงไม่มีผลกระทบในระยะสั้นแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เด็ก และคนชรา มีความจำเป็นที่จะไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้ความชัดเจนในการสื่อสารในการปฏิบัติตัวอย่างไรในภาวะอันตราย หรือแต่ละช่วงมีผลต่อสุขภาพอย่างไร จึงจะช่วยให้ประชาชนปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องหาอุปกรณ์ราคาแพงมาใช้โดยไม่จำเป็น