“ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปก ครองระบอบประชาธิปไตย”
“ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”
ถูกวางหมากไว้แบบ “เหนือเมฆ” เมื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตัวทำเกมหน้าฉาก ยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าญัตติของพรรคฝ่ายค้านผิดกฎข้อบังคับหรือผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากข้อกล่าวหาดังกล่าว
แม้ว่าที่สุดแล้ว “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปฝ่ายรัฐบาล ประกาศยืนยันว่า เราไม่มีการเลื่อนญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจและวันนี้ขอให้ฝ่ายค้านเตรียมการอภิปรายให้ดี ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลว่ารัฐบาลจะเลื่อนญัตติของนายไพบูลย์ขึ้นมาพิจารณา
“แต่วันนี้เป็นการยื่นเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์เพื่อป้องปราม ถ้าใครพูดเกี่ยวกับสถาบันตรงนี้ก็จะคาอยู่ และวันนี้ญัตติของนายไพบูลย์ก็ไม่มีบรรจุในวาระการประชุม และจะไม่มีการเสนอญัตติด้วยวาจาในวาระการประชุม”
แต่คำให้การของ “ไพบูลย์” มิใช่เป็นเพียงญัตติลอยๆ
“หากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำเรื่องที่มิบังควร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสถาบันเบื้องสูงเข้าสู่การอภิปราย อาจเข้าข่ายการดึงสถาบันที่มีสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางใดๆ ไม่ได้ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 6 บัญญัติไว้ชัดเจน มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง อาจทำให้มีปัญหาได้”
พลิกญัตติ “ไพบูลย์” ที่แนบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อปี 2562 เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
“ที่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง การกระทำดังกล่าวจึงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 หน้าที่ 20 ว่า “เพียงแต่ “อาจเป็นปฏิปักษ์” ต้องห้ามแล้ว หาจำต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือ ต้องรอให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขึ้นจริงเสียก่อนไม่ เป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน”
ดังนั้น ญัตติที่ “คาไว้” ในระเบียบวาระสภาผู้แทนราษฎร ของ “ไพบูลย์” จึงไม่ใช่แค่ “ญัตติ” แต่เป็นคำร้อง “ยุบพรรค” ตามคอนเซปต์ฝ่ายรัฐบาล หากฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิงเบื้องสูง ก็จะได้ “หลักฐาน” มาประกอบญัตติ เป็น “ใบเสร็จ” ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามแผนมือทำเกมขั้วข้างรัฐบาล
ปรามทั้ง “ก้าวไกล” ปรามทั้ง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่จ้องอภิปรายภาคต่อ เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณ
นอกจากนี้ ญัตติของ “ไพบูลย์” ที่ตั้งใจเสียบคาไว้ในระเบียบวาระ ยังมีผลเอาไว้ใช้ต่อในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดในเดือน มิ.ย. อีกต่างหาก ไม่ได้ใช้เฉพาะศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ยังรวมถึงการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ที่มาวาระร้อนคาไว้อยู่ ทั้งเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ญัตติด่วนที่เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จ วันที่ 14 ต.ค. 2563
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เริ่มต้นโดย “ไพบูลย์” มิอาจประมาทได้ เพราะเขาคือตัวเปิดเกมทางการเมือง ที่ยื่นคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญแล้วมีผลชนะแทบจะ 100%
ทั้งการยื่นศาลตัดสินสถานะนายกรัฐมนตรีรักษาการของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จากกรณีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ยื่นคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ภายหลังที่ ทษช.ยื่นบัญชีนายกรัฐนตรีของพรรค จนศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562
ขอยุบพรรคตนเอง คือพรรคประชาชนปฏิรูป ก่อนย้ายมาซบกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่มี 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' เป็นเจ้าของพรรคตัวจริง แถมทะลุขึ้นสู่ตำแหน่ง “รองหัวหน้าพรรค”
เป็นตัวเปิดเกม เปิดชื่อใบลาออก 18 กรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพลังประชารัฐ ปฏิวัติยึดอำนาจทีมสี่กุมาร 8 ขุนพล ของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”
ปรากฏกายข้าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และแกนนำพรรคพลังประชารัฐคนอื่นๆ เมื่อเขี่ยแก๊งสี่กุมารออกจากคณะรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐได้สำเร็จ
และกรณีล่าสุดคือ เสนอญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำได้หรือไม่
ที่สุดแล้ว พรรคพลังประชารัฐ ผนึกกำลังกับ ส.ว.ชนะโหวตส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ท้ายที่สุดอาจทำให้เกมร่างรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร.กลายเป็นเพียงความฝัน หรือไม่...เกมร่างรัฐธรรมนูญก็ยื้อ - ลากยาวออกไป
ดังนั้น ญัตติอภิปราย “ไม้กันฝ่ายค้าน” ของ “ไพบูลย์” จึงไม่ใช่ญัตติธรรมดาที่อาจมองข้าม แม้พ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง