ไม่พบผลการค้นหา
โฆษก ปชป. ปัดยังไม่รับขันหมาก พปชร. ยังรอมติพรรค ย้ำยึดประโยชน์ของประชาชนตัดสินใจ ซัด ‘ธนาธร’ ไปอ่าน รธน. ให้แตกฉาน อ้างเลือกประธานสภาไม่เกี่ยวกับการร่วมรัฐบาล

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวกรณีที่มีการพูดคุยระหว่างแกนนำพรรคพลังประชารัฐกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ปชป. ว่าไม่ได้มีการพูดคุยว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นการพูดคุยถึงหลักการทำงานของพรรค ปชป. ที่มี 3 หลักการ คือ 1.ยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข 2.ยึดนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชนและต้องมีการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เกษตรกร ตามชุดนโยบาย ‘แก้จน สร้างคน สร้างชาติ’ 3.การแก้รัฐธรรมนูญ

ซึ่งทุกพรรคต้องมาร่วมกันดูว่าสิ่งไหนที่ทำให้สิทธิของประชาชนน้อยลง ทิศทางในการพัฒนาประเทศไม่มีความชัดเจน และต้องแก้ไขกระบวนการทางการเมืองหลายอย่างเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ พรรคไม่ได้เอาการแก้รัฐธรรมนูญมาต่อรองในการร่วมรัฐธรรมเหมือนอย่างที่หลายพรรคกำลังพูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะพรรค ปชป. มีจุดยืนที่ชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เมื่อประกาศใช้แล้วก็จำเป็นต้องเดินไปข้างหน้า แม้ว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ 

นายราเมศ ชี้แจงต่อว่า หลักการต่างๆ เหล่านี้พรรคพลังประชารัฐต้องเอากลับไปคุยกันในพรรค และเมื่อมีผลเป็นอย่างไร พปชร. จะแจ้งกลับมาที่นายเฉลิมชัย และนายเฉลิมชัยจะนำกลับมารายงานต่อที่ประชุมร่วมระหว่าง กก.บห. และ ส.ส. รวมทั้งรายงานผลจากการพูดคุยทั้งก่อนหน้าและเมื่อวานนี้ให้ที่ประชุมทราบด้วย โดยการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคจะมีขึ้นเวลา 17.00 น. และประชุมร่วมระหว่าง กก.บห. และ ส.ส. เพื่อพิจารณาการประสานงานทางการเมือง เวลา 17.30 น.

ซึ่ง ปชป. แตกต่างจากพรรคอื่น คือ ไม่ได้มีใครคนใดเป็นเจ้าของพรรค แต่ทุกคนเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน รวมทั้งที่มีกระแสไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล พปชร. ที่ประชุมพรรคก็จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกคนรวมทั้งกระแสในโลกโซเชียล และเอามาพูดคุยกันในที่ประชุมให้ตกผลึก ตนจึงอยากให้ประชาชนไว้วางใจว่ากระบวนการที่พรรคทำอยู่นี้มีความชัดเจน ไม่มีใครตัดสินใจคนเดียว ทั้งหมดจะตัดสินใจร่วมเดินไปข้างหน้า และยืนยันว่าพรรคจะยึดถือประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง

ส่วนการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ที่เคยประกาศจุดยืนไว้ว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และอุดมการณ์ข้อ 4 ของพรรคที่ไม่สนับสนุนการเผด็จการ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาครั้งนี้ โดยจะต้องตัดสินใจเป็นลำดับขั้นว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลก่อน และหากมีมติว่าจะร่วม จะพิจารณาต่อว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตามลำดับ

แม้ว่าภาพที่ปรากฎในโลกออนไลน์ว่านายเฉลิยชัย นัดทานข้าวและมีท่าทีที่สนิทสนมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของพรรค ขณะเดียวกันเงื่อนไขที่พรรค พปชร. เสนอให้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนากยรัฐมนตรี ก็เป็นแนวคิดของ พปชร. แต่ไม่ใช่มติของที่ประชุมพรรค พร้อมยืนยันว่าทุกอย่างจะต้องเคารพเสียงของสมาชิกพรรคทุกคน และเป็นไปตามมติของที่ประชุม ยังไม่มีใครเสนอโมเดลให้ร่วมรัฐบาลแต่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ร่วมรัฐบาล หรือโมเดลใดทั้งนั้น ต้องพิจารณาไปเป็นขั้นตอน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าแล้ว หากพรรคเพื่อไทยหรืออนาคตใหม่ร่วมเชิญร่วมรัฐบาลจะยินดีหรือไม่ นายราเมศ ตอบว่า นโยบายของพรรคการเมืองบางพรรคที่ผ่านมาสร้างความเสียหายและเป็นอันตรายกับประเทศอย่างไรบ้าง พรรคประชาธิปัตย์เก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ตลอด และจะเลือกส่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน นอกจากนี้นายราเมศ ยังแถลงประเด็นประเด็นที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีกระบวนการต่อรองกับพรรค พปชร. ตั้งแต่เรื่องเลือกประธานสภา และมีการต่อรองเพิ่มโดยการยกประเด็นของแก้รัฐธรรมนูญ

ตนแนะนำว่านายธนาธรควรไปศึกษารัฐธรรมนูญให้แตกฉาน ว่ากระบวนการเลือกประธานสภาเป็นส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ และพรรค ปชป. มีการทำงานที่เปิดเผย นายธนาธรต้องเรียนรู้ว่าต้องแยกออกจากกันว่าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับการเลือกประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าเป็นไปตามมติของสภาผู้แทนราษฎร และผลการเลือกตั้งของ ส.ส. ก็ไม่ได้มาจากการจัดตั้งต่อรอง แต่เป็นเพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่านายชวนเป็นคนที่มีศักยภาพ และซื่อสัตย์ เหมาะสมกับการทำหน้าที่ประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเป็นกลาง

ดังนั้นนายธนาธรกล่าวหาแบบนี้ถือเป็นการดูถูกการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายนิติบัญญัติเกินไป ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายธนาธรจะชวนให้ ปชป. ไปร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ ตนเห็นว่าความจริงพรรค ปชป. ต่างหากที่ควรจะชวนพรรคอื่นไปร่วมแก้รัฐธรรมนูญ เพราะพรรคมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะแก้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด แตกต่างจากบางพรรคที่จะแก้ไขแบบฉาบฉวยไม่สนใจประเพณีและวัฒนธรรม พรรคเหล่านี้ควรถูกประนาม 

อย่างไรก็ตามนายราเมศ ยืนยันว่าการประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหน้าที่ของ ส.ส. และที่เลือกนายชวนเพราะศรัทธา ถ้าเอาประเด็นเรื่องการร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์คงจะแถลงร่วมรัฐบาลไปนานแล้ว และสาเหตุที่ ส.ส. พรรค ปชป. โหวตเลื่อนการเลือกประธานสภาก็เป็นเรื่องของความเหมาะสมไม่เกี่ยวกับการต่อรองระหว่างพรรค และผลคะแนนโหวตก็ไม่ได้แสงดว่ามีการรวมกลุ่มกันของพรรคที่สนับสนุน พปชร. โหวตเลือกนายชวน และตัวแทนจากพรรค พปชร. และภูมิใจไทยให้นั่งตำแหน่งรองประธานสภา แต่ที่ต้องแบ่งเก้าอี้รองประธานสภาทั้งที่พรรค ปชป. ตั้งธงว่าจะเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เพราะเป็นประเพณีปฏิบัติที่ต้องกระจายตำแหน่งให้พรรคอื่น ไม่เกี่ยวกับการต่อรองร่วมรัฐบาลกับ พปชร.