ไม่พบผลการค้นหา
จีดีพีไทยปี 2563 อาจติดลบระหว่างร้อยละ 3 - 10 นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ก.คลังต้องขึ้นมาเป็นผู้นำหลัก เพราะ ธปท.มีช่องว่างใช้นโยบายน้อยลงมากแล้ว

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดแถลงข่าวออนไลน์ย้ำถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มากในอนาคต ทั้งจากประเด็นการระบาดรอบที่สองของโควิด-19 ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็นการอภิปรายเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลัง

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จึงประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ (จีดีพี) ประจำปี 2563 จะอยู่ที่ติดลบร้อยละ 5 ในสภาวะปกติ และอาจต่ำลงไปแตะติดลบร้อยละ 10 หากประเทศเผชิญหน้ากับการระบาดระลอกที่สอง โดยจะเริ่มฟื้นตัวกลับไปอยู่ที่ร้อยละ 1.8 และ 2.5 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ

ทิม ลีฬหะพันธุ์-สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
  • ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ทิม แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า แม้ตลาดการเงินในประเทศไทย โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นจะเริ่มปรับตัวขึ้นมาดีบ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความรู้สึกของนักลงทุนเริ่มเป็นบวกมาก หลังจากที่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างหนักในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูที่ตัวเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง กลับยังไม่พบสัญญาณบวกที่เชื่อถือได้มากขนาดนั้น 

อีกทั้ง ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าจีดีพีของประเทศจะลงไปต่ำสุดในไตรมาสที่สองอย่างที่หลายฝ่ายประเมินหรือไม่ ซึ่งตัวเลขจากฝั่งของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดไว้ที่ติดลบร้อยละ 13 ซึ่งทิมย้ำว่าตัวแปรสำคัญของประเทศตอนนี้คือ 1.วัคซีน และ 2.การระบาดระลอกที่สอง (second wave) ซึ่งทั้งสองอย่างไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะมีแนวโน้มไปทางบวก 100 เปอร์เซ็นต์


"วันนี้ทุกอย่างยังเป็นแค่ความหวัง เป็นแค่การมองโลกในแง่ดี" ทิม กล่าว

มองไปข้างหน้าสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเมินไว้ 3 กรณี คือ กรณีที่ดีที่สุด หากสถานการณ์การแพร่ระบาดควบคุมได้ไม่เกิดการระบาดรอบใหม่ประกอบกับโลกอาจได้ข่าวดีเรื่องวัคซีนในช่วงสิ้นปีนี้ ก็อาจทำให้จีดีพีของไทยติดลบน้อยลงโดยน่าจะอยู่ที่ติดลบร้อยละ 3 ขณะที่สถานการณ์พื้นฐานก็มองไว้ที่ติดลบร้อยละ 5 ใกล้เคียงการประมาณการของสำนักอื่น และในกรณีที่แย่ที่สุด ซึ่งทิมชี้ว่าจะเกิดขึ้นหากการระบาดรอบที่สองกลับขึ้นมาอีกครั้งและโลกยังไม่ได้รับข่าวดีเรื่องวัคซีน ในกรณีเช่นนั้นอาจเห็นตัวเลขจีดีพีไทยลดลงไปถึงติดลบร้อยละ 10

standard.png

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ตอนนี้อาจจะยังเป็นเรื่องยาก และการระบุออกมาตามทฤษฏีตัวอักษรก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน จึงอยากจะประเมินเป็นสถานการณ์ว่าประเทศน่าจะยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีในการพาเศรษฐกิจกลับไปอยู่ในยุคก่อนมีโควิด-19 หรือภาวะที่จีดีพีอยู่ในแดนบวกประมาณร้อยละ 2.5 


ความหวังรายเดือน-รายไตรมาส 

ทิมชี้ว่า หากอยากให้เศรษฐกิจไทยอยู่ที่ราวร้อยละ 5 สถานการณ์ที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองไว้ในแต่ละเดือนเป็นดังนี้ เริ่มจากการเห็นว่าในช่วงเดือน มิ.ย.ธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดเกือบทั้งหมด และช่วงปลายเดือน มิ.ย.อาจจะเห็นการกลับมาของการใช้จ่ายของประชาชน ที่ติดลบไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการติดลบของการใช้จ่ายภาคประชาชนครั้งแรกในรอบไม่ต่ำกว่า 4 - 5 ปี

ขณะที่เมื่อมองในไตรมาสที่สาม ทิมชี้ว่าอยากเห็นการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมา เพราะตลอดเวลาที่ล็อกดาวน์ ประชาชนไม่ได้ออกไปไหนหรือจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจตรงนี้เลย ด้วยเหตุนี้ธนาคารฯ จึงคาดหวังว่าระหว่างเดือน ก.ค. - ก.ย. ภาครัฐของไทยน่าจะออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้

ตลาดนัด จตุจักร reopen โควิด ธุรกิจ เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว

ท้ายที่สุดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทิมชี้ว่าตนเองหวังจะให้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศเริ่มกลับมา แต่เป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชียโดยเฉพาะประเทศจีนเป็นหลัก ยังไม่หวังจะเห็นการกลับมาของตัวเลขนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐฯ 


ธปท.และผู้ว่าฯ คนใหม่

เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยหลักแล้วทำได้จาก 2 ขา คือฝั่งนโยบายการเงินที่มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้บังคับใช้ และฝั่งนโยบายการคลังของกระทรวงการคลัง และที่ผ่านมา ธปท.ก็ใช้อำนาจของตนเองผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปมากแล้วเหมือนกัน คือคิดเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีแล้ว โดยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งก็ต่ำเป็นประวัติการณ์แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำลงไปกว่านี้ 

แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดการณ์ว่าในการะประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน มิ.ย.ที่จะมาถึงนี้เป็นไปได้ที่เสียงของคณะกรรมการจะออกมาในรูปการคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ แต่มีโอกาสค่อนข้างสูงหากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศยังไม่ดีขึ้น การประชุมในไตรมาสสี่ กนง.อาจออกมาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ลงไปอยู่ที่ร้อยละ 0.25

ทิมอธิบายว่า ปัจจุบันนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมามากแล้วและเข้าใกล้ศูนย์มากขึ้นทุกที ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์หรือแม้แต่การบังคับใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบของ ธปท.

นอกจากนี้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินที่รัฐบาลพิมพ์เงินออกมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินเอาเงินก้อนนั้นไปปล่อยกู้และสร้างผลตอบแทนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน

ธปท. - วิรไท - แบงก์ชาติ - AFP
  • วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตคือ มาตรการต่างๆ ที่ ธปท.จะเดินหน้าไปนั้นจะช่วยเหลือเศรษฐกิจจริงของประเทศได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาจาก ธปท. นั้นสามารถช่วยประคองธุรกิจขนาดใหญ่หรือตลาดตราสารหนี้ได้จริงหรือไม่ ขณะที่ ร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจประเทศมาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งโครงการล่าสุดอย่างซอฟต์โลนก็เพิ่งแจกจ่ายเงินได้เพียงร้อยละ 10 จากวงเงินรวม 500,000 ล้านบาทเท่านั้น 

ดังนั้นสิ่งที่ตลาดต้องการฟังจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งในช่วงเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้คือ ธปท.จะเดินหน้าไปทางไหน จะดำเนินนโยบายทางการเงินเป็นศูนย์หรือติดลบ หรือบังคับใช้ QE อย่างไร แล้วที่สำคัญการบังคับใช้เหล่านั้นจะช่วยเศรษฐกิจจริงของประเทศได้มากแค่ไหน

ด้วยเหตุนี้ทิมจึงอธิบายว่าภาระสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศตอนนี้จึงน่าจะไปตกอยู่ที่ฝั่งของรัฐบาลผ่านกระทรวงการคลัง เนื่องจากขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) ในฝั่งนโยบายการเงินนั้นมีน้อยลงแล้ว และอาจจะเป็นการยากที่ ธปท.จะให้ความช่วยเหลือไปถึงเกษตรกรหรือประชาชนที่อยู่นอกเหนือระบบประกันสังคม จึงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงการคลังที่ต้องเข้ามาช่วยส่วนนี้


3 ความเสี่ยงสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศไทยยังต้องต่อสู้กับความเสี่ยงและความไม่แน่นอน 3 ประการเช่นเดียวกัน โดยประเด็นแรกอยู่ที่ความตึงเครียดของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจจะรุนแรงขึ้น อีกทั้งหากทั้งสองเศรษฐกิจใหญ่ของโลกมีปัญหาในครั้งนี้ ไทยจะไม่มีเกราะป้องกันแบบครั้งสงครามการค้าที่ประเทศยังมีการท่องเที่ยวคอยเข้ามาอุ้มเศรษฐกิจอยู่

ขณะที่ประเด็นที่สองอยู่ที่การอภิปรายในสภาเกี่ยวกับ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลัง ที่อาจจะสร้างความไม่แน่นอนให้กับแผนการช่วยเหลือเศรษฐกิจ ซึ่งทิมชี้ว่าตนเองเข้าใจดีว่าฝ่ายค้านต้องคอยตรวจเช็กความถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงการคลังควรทำคือดำเนินการช่วยเหลือฝ่ายต่างๆ ต่อไป แต่ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้จากทุกฝ่าย

ประเด็นสุดท้ายยังคงมีน้ำหนักมาที่สุด การกลับมาระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจประเทศต้องกลับมาปิดตัวอีกครั้ง ดังนั้นแทนที่ภาคธุรกิจจะได้ฟื้นตัวก็ต้องหยุดชะงักลงไปอีก โดยทิมชี้ความน่าเป็นห่วงใน 3 อุตสาหกรรมสำคัญ คือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิต และการท่องเที่ยว ที่ต้องพึ่งแรงงานต่างชาติ เช่น กัมพูชา-ลาว-เมียนมา ซึ่งภาครัฐอาจต้องเข้าไปดูแลเรื่องความเป็นอยู่รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยดูประสบการณ์จากสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง 

ในช่วงท้ายนั้น ทิมชี้ว่าที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็มีความพยายามในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ มูลค่าการอัดฉีดกว่าร้อยละ 10 ของจีดีพีผ่านกระทรวงการคลังเป็นการสะท้อนว่าเราไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนน้อยกว่าประเทศไหนๆ ในโลก แต่ความช่วยเหลือเหล่านี้จากทั้งฝั่งกระทรวงการคลังรวมไปถึงการบังคับใช้นโยบายใหม่ๆ จาก ธปท.และผู้ว่าฯ คนใหม่ก็มีความสำคัญที่ต้องดำเนินต่อไปเช่นเดียวกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;