ไม่พบผลการค้นหา
‘ไอลอว์’ บุกสภาแล้ว ยื่นรายชื่อภาคประชาชนกว่าแสนรายชื่อต่อประธานรัฐสภา ให้แก้ไข รธน.ฉบับประชาชน ใน 5 ประเด็น ดักคอประธานรัฐสภาบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ด้านเลขานุการประธานสภาฯ รับเรื่องยันขอตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมดก่อน

เมื่อเวลา 13.00 วันที่ 22 ก.ย. 2563 กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) : iLaw ได้เดินเท้ามาจากสถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูน มายังรัฐสภา ย่านเกียกกาย เพื่อนำรายชื่อประชาชนกว่าแสนรายชื่อ ส่งให้รัฐสภาเพื่อยืนยันเจตจำนงของประชาชน ในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีการตั้งเวทีปราศรัยประกาศเจตนารมณ์ของภาคประชาชน ที่รัฐสภาต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็น

1.ที่มาของนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น

2.ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

3.เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่

4.เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

5.ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครแบบคนเดียวหรือแบบกลุ่มก็ได้ แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวเบอร์เดียว จากนั้นเอาคะแนนมาคำนวณที่นั่งส.ส.ร. คล้ายกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

iLaw แสนรายชื่อ แก้รัฐธรรมนูญiLaw แสนรายชื่อ แก้รัฐธรรมนูญ

ต่อมา เวลา 14.00 น. กลุ่มไอลอว์เดินทางมาถึงหน้ารัฐสภา โดยมีรถเครื่องขยายเสียง รถซาเล้ง และประชาชนประมาณ 500 คน มาร่วมชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่แก้รัฐบาลต้องลาออก ซึ่งในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาได้ปิดประตูทางเข้า - ออก รัฐสภา บริเวณฝั่งถนนสามเสน ขณะที่ตำรวจ สน. บางโพ นำแผงเหล็กมากั้นพื้นที่หน้ารัฐสภาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ด้าน จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ระบุระหว่างการยื่นรายชื่อประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ที่ผ่านมารัฐสภาจะไม่ให้ความสำคัญกฎหมายของภาคประชาชน ถ้าประธานรัฐสภาไม่นำเรื่องนี้ไปพิจารณาและบรรจุในสภาผู้แทนราษฎรหรือในรัฐสภา ถือว่าไม่ใช่นักประชาธิปไตย

ด้าน สมบูรณ์ กล่าวว่า วันที่ 16 ก.ย. นายจอน ได้นำคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งผู้ริเริ่มขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนก็เป็นผู้มารับเอง ซึ่งขั้นตอนต่อมาคือการรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ และวันนี้ถือเป็นขั้นตอนที่ 2 หลังจากนี้ก็จะนำเข้าสู่การตรวจสอบความถูกต้องก่อนบรรจุเข้าสู่สภา และประธานสภาฯ ติดภารกิจไม่ได้ลงมารับด้วยตัวเอง แต่ตนจะนำเรื่องนี้ส่งให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันเจตนารมณ์ของฝ่ายค้านกับประชาชนสอดคล้องต้องกันเกือบทุกประการ มีรายละเอียดบางส่วนซึ่งมีอยู่นิดเดียวที่แตกต่าง และขอโทษด้วยที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นเร็วไปหรือยื่นก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนข้อกังวลไม่ให้แก้ไขหมวดหนึ่ง หมวดสองในรัฐธรรมนูญก็สามารถอ่านรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการได้โดยฝ่ายค้านจะคุยกันว่ามีที่นั่งที่จะให้ภาคประชาชนหรือไอลอว์ ต่อไปเป็นกรรมาธิการร่วมได้ในอีกวันสองวันนี้ ส่วนวันที่ 23-24 ก.ย. นี้ผ่านไปก่อนสาระทั้งหมดสามารถนำไปบูรณาการในวาระที่ 2 ได้ แต่ถ้าไม่ผ่านในวาระต่อไป ก็สามารถนำมาร่างของภาคประชาชนให้สภาพิจารณาใหม่ภายหลังได้

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลหรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ยืนยันการต้องมี ส.ส.ร. จากการเลือกตั้งของประชาชนมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตั้งแต่ก่อนเป็น ส.ส.ในสภา และยืนยันว่า ส.ส.ร.คือทางออกสุดท้ายของสังคมไทย จะให้ใครมาบิดเบือนหรือปล้นเรื่องนี้ไปจากสังคมไทยไม่ได้และอย่าให้มีการสืบทอดอำนาจรอบ 2 ได้อีก พร้อมกันนี้ยืนยันว่า ตนจะอภิปรายในสภาฯและในชั้นแปรญัตติในกรรมาธิการอย่างเต็มที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง