ไม่พบผลการค้นหา
'พรรณิการ์' เรียกร้องให้สื่อเป็น 'เสียงแห่งเหตุผล' ทำหน้าที่สื่อกลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างฝ่าย 'นักศึกษา-รัฐ-กลุ่มอนุรักษ์นิยม' อย่างมีเหตุผล เลี่ยงความขัดแย้งความเกลียดชัง ที่อาจนำไปสู่เหตุนองเลือด

พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยชำนาญ จันทร์เรือง อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องสถานการณ์การเมือง ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ณ โรงแรมมณีจันทร์รีสอร์ท จ.จันทบุรี โดยมี ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. เขต 1 พิษณุโลก และญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.เขต 3 จันทบุรี รวมถึงศิริพงษ์ รัศมี ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ ร่วมเวทีด้วยในฐานะกรรมาธิการ

ในเวทีดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนกันเรื่องการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาอย่างกว้างขวาง ซึ่งพรรณิการ์ กล่าวว่าการชุมนุมของนักศึกษาวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที แต่เป็นการสั่งสมความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระบบรัฐสภา ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เมื่อประชาชนเห็นว่าเสียงของพวกเขาในสภาฯ แก้ปัญหาไม่ได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงต้องออกมาตะโกนส่งเสียงด้วยตนเอง และเมื่อตะโกน เสียงย่อมดัง ข้อความหลายส่วนก็แหลมคม เช่น การเสนอการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ การเรียกร้องในเรื่องที่แหลมคมเช่นนี้ ย่อมมีผู้ไม่สบายใจ ตกใจ กระทบกระเทือนใจ แต่มันคือการนำปัญหาที่พูดกันในที่ลับ ขึ้นสู่เวทีสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข

โดยปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ก็คือการเปิดใจ พูดคุยกันอย่างมีหลักการและเหตุผล อย่างมีวุฒิภาวะ 

5402.jpg

พรรณิการ์ ย้ำว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่สนับสนุนการพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ หลีกเลี่ยงการสร้างความเกลียดชังและการนองเลือด นอกจากสภา รัฐบาล ก็คือสื่อมวลชน ที่ผ่านมาในฐานะอดีตสื่อมวลชน ตนกังวลใจอยู่ว่าข้อเสนอและจุดยืนของนักศึกษา ไม่ถูกนำเสนอในสื่อหลักส่วนใหญ่ มีเพียงการนำเสนอแบบปลุกปั่นโดยสื่อบางสื่อก็โหมกระพือวาทกรรมชังชาติ-ล้มเจ้า ซึ่งอาจเป็นการเปิดทางให้นักศึกษาตกเป็นเป้าของการใช้ความรุนแรง ทั้งจากรัฐและประชาชน เหมือนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สังเกตว่าสื่อเริ่มปรับตัว โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เริ่มกล้านำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 10 ข้อของนักศึกษามากขึ้น สื่อทีวีช่องใหญ่ๆก็เริ่มจัดรายการเชิญนักการเมือง นักวิชาการที่เห็นต่างมุมมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และอยากเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่สื่อกลาง เวทีกลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างฝ่ายนักศึกษากับฝ่ายรัฐและกลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างมีเหตุผล ยึดหลักการ เพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ที่อาจนำไปสู่เหตุนองเลือดได้

"ในสถานการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ นี่คือโอกาสที่สื่อจะได้แสดงบทบาทอันตรงตามจรรยาบรรณสื่อ ใครๆ ก็พูดว่าสถานการณ์กำลังจะเดินไปสู่ 6 ตุลาคม ซึ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม สื่ออย่างดาวสยาม วิทยุยานเกราะ ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์เลือด ว่ามีส่วนสำคัญในการปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังจนถึงขั้นคนไทยลุกขึ้นมาฆ่ากันเอง แต่ครั้งนี้ สื่อจะได้มีโอกาสจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ว่าเป็นเสียงแห่งเหตุผล ไม่ใช่เครื่องผลิตความเกลียดชัง เป็นผู้เปิดเวทีให้คนคิดต่างได้มาคุยกัน หาทางออกร่วมกัน พาสังคมไทยเลี่ยงจุดจบนองเลือด เดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติได้"

นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนายังได้สอบถามถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนบางเจ้า ที่เสนอข่าวยุยงปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง กล่าวหาว่านักการเมืองอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของนักศึกษา ว่าคณะกรรมาธิการฯ จะจัดการกรณีเช่นนี้อย่างไร 

5403.jpg

ปดิพัทธ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ ยืนยันว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับการกดดันสื่อ เนื่องจากทราบกันดีว่าพรรคก้าวไกล และอดีตพรรคอนาคตใหม่ ตกเป็นเป้าการโจมตีของสื่อบางเจ้า หากตนเองในฐานะประธานกรรมาธิการ เรียกสื่อมาสอบ หรือใช้อำนาจกดดันสื่อที่โจมตีพรรคตนเอง ก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่สิ่งที่กรรมาธิการจะทำได้ ก็คือการตรวจสอบการทำงานของกสทช. ว่าเที่ยงตรงเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของสื่อโดยตรง ส่วนกรณีเสนอข่าวเท็จ สร้างความเกลียดชัง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

นอกจากนี้กรรมาธิการยังจะติดตามบทบาทของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกระทรวงที่ดูแลเรื่องข่าวปลอมและการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: