ไม่พบผลการค้นหา
ถือเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ของเหตุการณ์ที่ จ.ระยอง หลังตำรวจได้คุมตัว 2 นักศึกษา ‘ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก’ - ‘นนท์ ณัฐชนน’เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย หลังไปชูป้ายประท้วงการลงพื้นที่ จ.ระยอง ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม หลังเกิดกรณี ‘ทหารอียิปต์’ ที่สะท้อน ‘ความบกพร่อง’ ของรัฐ จึงตอกย้ำคำถามที่ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แท้จริงแล้วควบคุมโรคเป็นหลักอย่างเดียว หรือหวังผลควบคุมการเมืองไปพร้อมกัน

ทำให้เกิดกระแสในโซเชียลมีเดียทันที วันต่อมา กมธ.กฎหมายฯ สภา ส.ส. ได้รับเรื่องร้องเรียนของ 2 นักศึกษา หลังถูกตำรวจตั้ง 3 ข้อคือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหนีการจับกุม จากนั้นกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็น ‘แฟลชม็อบ’ ที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 3 เดือนถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘แฟลชม็อบ’ ที่ลุกลามไปจังหวัดต่างๆ อีกครั้ง

ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงชี้ว่าการที่แฟลชม็อบครั้งนี้ ‘จุดติด’ เพราะเหตุการณ์ที่ จ.ระยอง หลัง ตร. คุมตัว ‘ไมค์-นนท์’ จึงทำให้ทั้งคู่เป็นที่รู้จักมากขึ้น

เพราะทำให้ทั้งคู่ ‘มีตัวตน’ ขึ้นมาทันที โดยทั้งคู่ต่างมีบทบาทในวงนักกิจกรรม ในพื้นที่ จ.ระยอง ด้วย ซี่งจุดนี้ทำให้ตำรวจมี ‘บทเรียน’ ต่อเหตุการณ์ที่ จ.ระยอง ทำให้ต้องปรับแผนในการรับมือแฟลชม็อบ 

ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคง ประเมินแฟลชม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ไม่ค้างคืน เพราะการจัดการชุมนุมถูกวางแผนมาเพื่อเป็นแฟลชม็อบเท่านั้น แต่เมื่อมีผู้มาชุมนุมจำนวนมาก จึงประกาศยกระดับค้างคืนแบบกระทันหัน ทำให้ไม่มีการเตรียมตัวมาของผู้ชุมนุม รวมทั้งช่วงดึกจำนวนผู้ชุมนุมลดลงและมีเหตุชุลมุนขึ้น ทำให้แกนนำประกาศยุติการชุมนุมช่วงเที่ยงคืน โดยให้เหตุผลถึงเรื่องความปลอดภัย โดยจะยกระดับการชุมนุมอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า หากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ยุบสภา เลิกคุกคามประชาชน และแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้รับ ‘สัญญาณ’ ตอบสนอง

ม็อบมุ้งมิ้ง กองทัพบก ภานุพงศ์ จาดนอก เยาวชนปลดแอก อนุสาวรีย์ปราธิปไตย มศว 0721.jpg

ทั้งนี้ หากย้อนดูม็อบในอดีตที่มีการค้างคืน เช่น กลุ่มพันธมิตร นปช. และ กปปส. จะมีการจัดทัพที่ชัดเจน มีการจัดเตรียมสถานที่ การระดมทรัพยากรต่างๆ เพราะการจัดม็อบแต่ละครั้งมี ‘รายจ่าย’ ไม่น้อย และต้องใช้เวลาที่ยืดเยื้อ จนกว่า ‘ข้อเรียกร้อง’ จะสัมฤทธิ์ผลในระดับที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม ‘พรรคก้าวไกล’ ถูกจับตาว่าอยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเกิดขึ้นของแฟลชม็อบ เพราะมี ส.ส.พรรคก้าวไกล อยู่ในพื้นที่ แม้ว่า ส.ส. จะชี้แจงว่าไปในฐานะ ‘ผู้สังเกตุการณ์’ เท่านั้น และให้เหตุผลว่าเป็นเรื่อง ‘ส่วนบุคคล’ เท่านั้น แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ย้ำถึงหลักฐานที่มีอยู่ แต่ไม่ขอเปิดเผย

อย่างไรก็ตามในขบวนการนักศึกษาก็แตกเป็น 2 ฝ่าย เพราะมีแนวทางไม่ตรงกัน โดยสิ่งที่กลุ่มนักศึกษากังวลคือการพูดประเด็นแหลมคมบนเวทีและการแสดงออกในพื้นที่ เพราะเกรงจะถูกดิสเครดิตในการเคลื่อนไหวจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดแฟลชม็อบ และไม่ต้องการให้ข้อความเหล่านั้นถูกใช้เป็น ‘เงื่อนไขทางการเมือง’ ในอนาคต

ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง มองว่าเป็น ‘โมเดลแฟลชม็อบ’ เป็นรูปแบบ ‘พฤษภาทมิฬ 2535’ เพราะมีเรื่องของการ ‘อดอาหาร’ เข้ามา โดย ‘ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์’แกนนำกลุ่มนวชีวิต ที่ปักหลักบริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยสมัยปี 2535 คือ 'ร.ต.ฉลาด วรฉัตร’ แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ในแฟลชม็อบครั้งนี้คือ ‘ผู้นำทางความคิด’ ของคนในสังคม ที่ยังคงแสดงออกผ่านโซเชียลฯ เท่านั้น และยังไม่มีพรรคการเมืองเปิดตัวชัดเจนในการขับเคลื่อนการชุมนุม ซึ่งในพื้นที่ชุมนุมยังเป็นเพียง ‘คนรุ่นใหม่’ เป็นส่วนใหญ่เท่านั้น

อดข้าวประท้วง_200720_1.jpg

รวมทั้งสถานการณ์ในปัจจุบันไม่บีบเท่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จากการตระบัดสัตย์ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หากถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ เห็นถึง ‘จุดเสี่ยง’ นี้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มองเห็นแน่นอน หลังนำประชุม ศบค.ชุดใหญ่ แม้ว่าจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีก 1 เดือน แต่ให้ยกเว้นการใช้ มาตรา 9 โดยให้จัดการชุมนุมได้ แต่จะบังคับใช้ ‘กฎหมายปกติ’ แทน

แต่ดูเหมือนอีก ‘เชื้อไฟ’ ของแฟลชม็อบคือการโพสต์ข้อความของ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร นายทหารประจำกรมยุทธการ ทบ. และอดีตรองโฆษก ทบ. ที่โจมตีการชุมนุมว่าเป็น ‘ม็อบมุ้งมิ้ง’ ทำให้ ‘อานนท์ นำภา’ ประกาศนัดชุมนุมหน้า บก.ทบ.ราชดำเนิน วันต่อมาทันที เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อสิ่งที่ ‘ผู้พันเจี๊ยบ’โพสต์ พร้อมตอบโต้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในฐานะผู้บังคับบัญชาด้วย

ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. ออกมาชี้แจงว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคล ในฐานะประชาชนในสังคมไทย และเนื้อหาที่โพสต์อาจไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือสร้างความเสียหายให้ประเทศ แต่อาจทำให้บุคคลบางกลุ่มไม่สบายใจ นำไปเชื่อมโยงกับตัวองค์กร พ.อ.หญิง นุสรา จึงลบโพสต์ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกนำไปใช้ขยายผล และไม่ต้องการให้มีการโพสต์ข้อความและภาพเสี่ยงผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตามมา

จึงทำให้ถูกวิจารณ์หนักว่า เมื่อฝั่งทหารโพสต์ข้อความการเมืองในลักษณะดังกล่าว กลับระบุว่าอาจไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายและทำประเทศเสียหาย รวมทั้งเป็นการการกระทำส่วนบุคคล เหมือนเป็นการปัดความรับผิดชอบออกจาก ทบ. 

พริษฐ์ เพนกวิน กองทัพบก อภิรัชต์ ม็อบ 200763 led.jpg

ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนของฝั่งตำรวจในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งเรื่อง ‘จังหวะ’ และ ‘มูลเหตุ’ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ เช่นเหตุการณ์ที่ จ.ระยอง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทราบดีถึง ‘กระแสจุดติด’ ครั้งนี้ จึงเลี่ยงการตอบคำถาม เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็นขึ้นอีก

“สั่งการให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะเห็นใจเด็กๆ เยาวชน รวมทั้งผู้ปกครอง แต่ต้องระวังการละเมิดก้าวล่วง ซึ่งเชื่อว่าประชาชนไม่ยอมอย่างแน่นอน ไม่สมควรเกิดในประเทศเรา ผมไม่อยากพูดมาก เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็น ส่วนข้อเสนอ 3 ข้อของนักศึกษา ก็เสนอมาตามขั้นตอน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประยุทธ์

หากดูสิ่งที่ นายกฯ กล่าวก็เป็นการ ‘เตือนนิ่มๆ’ เพื่อ ‘ปราม’ ให้ได้เห็น ในฝั่งรัฐบาลเอง ก็ต้องพยายามปิดรูรั่วตัวเอง บริหารงานไม่ให้เกิด ‘ข้อผิดพลาด’ ขึ้นมา เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็น ‘โอกาส’ ในการทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายไปกว่าเดิม

ในส่วนของกลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เช่น ‘เพจเชียร์ลุง’ ที่เคยจัดงาน ‘เดินเชียร์ลุง’ ตีคู่ ‘วิ่งไล่ลุง’ ก็ประกาศชัด ‘อยู่ในที่ตั้ง’ โดยอ้างถึงสถานการณ์โควิด-19 ไม่อยากเป็นภาระของ นายกฯ และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ขอให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้นเป็นปกติก่อน

จึงเปรียบเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ที่เป็นคุณกลุ่มแฟลชม็อบ แต่เป็น ‘น้ำกรดกลางใจ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog