ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญาพิพากษาสั่งยกฟ้อง คดี 'พ.อ.ร่วมเกล้า' ช่วงชุมนุม นปช. ปี 2553 หลังพิเคาระห์พยานโจทก์ให้การ โดยไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ

1 ก.พ.2564 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีระเบิดในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ส่งผลให้พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (ยศในขณะนั้น) และทหารอีก 4 นายเสียชีวิตที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยาระหว่างปฏิบัติการ ‘ขอคืนพื้นที่’ จากแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมกันอยู่จำนวนมากมาตั้งแต่ 12 มีนาคม 2553

คดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้รับผิดชอบและอัยการฟ้องคดีในปี 2562 ซึ่งนิชา ธุวธรรม ภรรยาของพ.อ.ร่มเกล้าได้ยื่นเป็นโจทย์ร่วมฟ้อง มีจำเลย 3 คน คือ 1.สุขเสก หรือเสก พลตื้อ แนวร่วมนปช. 2. พรกมล บัวฉัตรขาว หรือนางกนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์ อดีตผู้ดำเนินรายการช่องเอเชียอัพเดต 3.สุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ โดยจำเลยที่ 1 และ 3 กระทำความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงานและข้อหาอื่นๆ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับการประกันตัวตั้งแต่แรกเดินทางมารับฟังผลของคดี ขณะที่จำเลยที่ 1 และ 3 ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ได้ควบคุมตัวมายังศาลในวันนี้ ส่วนฝ่ายโจทก์ไม่มีผู้ใดมารับฟังคำพิพากษา


ให้การโดยไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ

ศาลพิพากษายกฟ้องโดยระบุตอนหนึ่งว่า ประจักษ์พยานทั้งหมดของดีเอสไอให้การไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ อีกทั้งพยานยังเข้าโครงการคุ้มครองพยานของดีเอสไอหลังเกิดเหตุนานถึง 7 ปีและก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยให้การเรื่องนี้ต่อหน่วยงานใด จึงเชื่อว่าเป็นการให้การโดยไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าโครงการคุ้มครองพยาน  

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษาว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พล.อ.ร่มเกล้า ครอบครัวพลทหาร และครอบครัวคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเมืองที่ไม่มีคุณธรรม ไม่แยกแยะ ซึ่งสะท้อนมาถึงการเมืองในปัจจุบัน

ในส่วนของคดีที่ศาลยกฟ้องนั้น วิญญัติกล่าวว่า จำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีก่อการร้ายตั้งแต่ปี 2553 มาก่อนแล้ว ซึ่งศาลยกฟ้องและกำลังต่อสู้คดีในศาลสูง อีกคนหนึ่งเป็นบุคคลถูกอ้างว่าเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน ทั้งหมดถูกยกฟ้องโดยศาลพิจารณาใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ

ประเด็นแรก ศาลพิจารณาว่าการเสียชีวิตของพล.อ.ร่วมเกล้าและทหารเกิดจากระเบิดชนิดใดและในสถานที่ใด ศาลรับฟังว่ามีการโยนระเบิดจากบ้านไม้โบราณตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา แต่ไม่มีประจักษ์พยานที่น่าเชื่อถือหรือน่ารับฟังได้ว่าเป็นจำเลยในคดีนี้ทั้ง 2 คน พยานที่โจทก์อ้างก็มีพิรุธหลายประการ

ประเด็นที่สอง ศาลพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 และ 3 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นคนร้ายและเป็นลูกน้องพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ได้รับงานจาก เสธ.แดงเพื่อปฏิบัติการตอบโต้ทหารในวันที่ 10 เมษาจริงหรือไม่ จากพยานหลักฐานศาลเห็นว่าไม่มีใครยืนยันชัดเจน และรับฟังได้ว่าทั้งสองคนอยู่ในที่เกิดเหตุและเป็นคนร้าย

อย่างไรก็ตาม ในอดีตมีการโต้เถียงกันว่าการโจมตีทหารในจุดดังกล่าวเกิดจากอาวุธ M79 หรือระเบิดยิงนั้นเป็นความเชื่อของทหารส่วนใหญ่ แต่ผลการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นระเบิดขว้างชนิด M67 ซึ่งในทางการนำสืบทนายจำเลยพยายามพิสูจน์ว่าเป็นระเบิดที่ใช้ในราชการหรือไม่ นอกจากนี้ในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุมีชาย 4-5 คนอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไปเก็บกระเดื่องระเบิดซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญชี้ถึงที่มาของระเบิด คำถามคือคนกลุ่มนี้หายไปไหน

ประเด็นที่สาม ศาลพิเคราะห์ว่าคดีนี้เป็นการฟ้องซ้อนกับคดีก่อการร้ายหรือคดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 เมื่อเป็นฟ้องซ้อนก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 75 จึงเป็นการยกฟ้องทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

วิญญัติกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามจำเลยในคดีนี้จะยังไม่ได้ปล่อยตัวจากเรือนจำ เนื่องจากดีเอสไอยังฟ้องคดีอีกอย่างน้อย 2 คดี โดยเป็นการนำหนักฐานชุดเดิมมาดำเนินการฟ้องว่าทั้งสองเป็นคนก่อเหตุทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตที่สี่แยกคอกวัวด้วย

อ่านเพิ่มเติม