ไม่พบผลการค้นหา
คลังเข็น 4 มาตรการอุดเศรษฐกิจรับพิษ 'โคโรนา' ขยายเวลายื่นภาษีบุคคลธรรมดาถึง มิ.ย.2563 - เปิดทางภาคธุรกิจหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าจากการจัดประชุมสัมมนาต่างจังหวัด-ให้ธุรกิจโรงแรมหักค่าใช้จ่ายรีโนเวท 1.5 เท่า - ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินเหลือ 0.20 บาท/ลิตร

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 จากการระบาดของโรคปอดอักเสกจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย

  • หนึ่ง ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) ออกไปอีก 3 เดือน จากกำหนดการเดิมยื่นแบบผ่านสำนักงานสรรพากรสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2563 ยื่นแบบผ่านออนไลน์ สิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย. 2563 เลื่อนไปสิ้นสุดสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 
  • สอง ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายจากค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายประเทศที่จัดแก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่จ่ายแก่ธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายเพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 ธ.ค. 2563 
  • สาม ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบการกิจการโรงแรมตามกฎหมาย หักรายจ่ายจากการต่อเติม ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ซึ่งทรัพย์สินของกิจการ หรือ รีโนเวท ได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2563
  • สี่ ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับเที่ยวบินในประเทศ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่ออกประกาศกฎกระทรวงจนถึง 30 ก.ย. 2563 โดยกระทรวงการคลังคาดว่า จะมีผลให้รายได้เข้ารัฐหายไปประมาณ 2,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการเงิน ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม จากเดิมที่ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ขยายไปสู่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา อาทิ 

  • ให้ธนาคารออมสินขยายเวลาชำระหนี้ให้ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญา แต่สูงสุดไม่เกิน 5 ปี 
  • ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พักชำระหนี้เงินต้น สำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน แต่ผู้กู้ต้องมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันเข้าร่วมโครงการ และต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล
  • ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผัดผ่อนการชำระหนี้ได้ครั้งละ ไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายเวลาชำระหนี้ได้ไม่เกิน 20 ปี
  • ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
  • ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดเล็ก พักการชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ 12 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พักที่ได้รับผลกระทบ

พร้อมกับให้ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน วงเงินรวม 123,000 ล้าบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ต่อปี 

"ดูเหมือนว่า มาตรการที่ออกมานี้จะเป็นสิ่งที่เราเคยทำมาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำนี้ เราได้เร่งทำ และออกมาอย่างรวดเร็ว รองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ตามการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 สศค.ยังต้องการให้เศรษฐกิจปีนี้ขับเคลื่อนด้วยการลงทุน ขณะที่มาตรการที่ออกมาล่าสุดนี้ เป็นการออกมาประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสฯ" นายลวรณ กล่าว

สรรพากรประเมินรัฐสูญรายได้ปีละ 207 ล้านบาทพยุงภาคท่องเที่ยว

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรณีมาตรการขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) คาดว่า จะช่วยให้ประชาชนผู้มีเงินได้ต้องชำระภาษีมีเวลาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากสถิติการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2561 พบว่า จัดเก็บภาษีได้ 2 หมื่นล้านบาท มีผู้ยื่นแบบทั้งสิ้น 11.7 ล้านราย ขอคืนภาษี 3.7 ล้านราย ส่วนที่เหลืออีกกว่า 7 ล้านรายเป็นผู้ยื่นแบบทั้งที่ต้องชำระภาษีและไม่ต้องชำระภาษี 

ส่วนมาตรการหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าจากการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการรับประโยชน์ประมาณ 1,000 ราย ทำให้รัฐขาดรายได้ภาษีประมาณ 87 ล้านบาทต่อปี ขณะที่มาตรการหักค่าใช้จ่าย 1.5 เท่าจากการปรับปรุงกิจการโรงแรม จะมีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ประมาณ 1,000 ราย รัฐขาดรายได้ภาษีประมาณปีละ 120 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2562 (ข้อมูล ณ 2 ก.พ.2563) พบว่า มีผู้ยื่นแบบฯ 1.3 ล้านราย ขอคืนภาษี 7 แสนราย และได้รับเงินคืนภาษีแล้ว 5 แสนราย ซึ่งในจำนวนเป็นการรับเงินคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์มากถึงร้อยละ 90 และปีนี้ยื่นแบบเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 10 ขณะที่มีจำนวนผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2562 ทั้งหมด 11.7 ล้านราย 

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง :