ไม่พบผลการค้นหา
‘พิพัฒน์’ รมว.แรงงาน เผยรัฐบาลอิสราเอลพร้อมรับแรงงานไทยหากสู้รบเสร็จสิ้น เปิดจัดอบรม ‘จีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น-อังกฤษ’ แก้ปัญหา ‘ผีน้อย’ ลักลอบเข้าทำงานอย่างผิดกฎหมาย ระบุเตรียมเดินหน้าขยายตลาดแรงงานมีทักษะ 10,000 ตำแหน่งในพื้นที่ตะวันออกกลาง

วันที่ 21 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) นพ.อลงกต มณีกาศ สส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงมาตรการในการส่งแรงงานไทยกลับไปทำงานยังประเทศอิสราเอล และสถานการณ์แรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงผลกระทบของแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือผีน้อย

โดย นพ.อลงกต สอบถามว่า นอกจากเงินชดเชยแรงงานไทย 50,000 บาทต่อราย ทางภาครัฐได้ช่วยเหลือด้านอื่น อาทิ หนี้สินที่คงค้าง และแรงงานบางส่วนที่อยากกลับไปทำงานในประเทศอิสราเอล ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ประเมินสถานการณ์ และแผนสำรองหากเกิดการสู้รบอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ 

ด้าน พิพัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาทุกราย รายละ 50,000 บาท รวมถึงดูแลเรื่องหนี้สินในวงเงินไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนหนี้สินนอกระบบให้มาทำสัญญากับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารของรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ที่สามารถโอนย้ายมาธนาคารของรัฐได้ และแรงงานไทยบางส่วนที่ยังไม่เดินทางกลับมานั้นเนื่องจากอยู่ห่างจากพื้นที่สู้รบ จึงไม่แสดงความประสงค์ในการเดินทางกลับ 

พิพัฒน์ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยยังไม่ได้มีการอนุญาตให้กลับไป โดยตนได้หารือกับกระทรวงแรงงานอิสราเอล และเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอิสราเอล ซึ่งระบุตรงกันว่า ประเทศอิสราเอลพร้อมรับคนไทยกลับไปทำงานเช่นเดิมเมื่อการสู้รบเสร็จสิ้น 

ขณะที่สถานการณ์แรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ พิพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้จำนวน 18,962 ราย และในประเทศญี่ปุ่น 8,570 ราย แต่ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีแรงงานไทยที่ไปทำงานอย่างไม่ถูกต้อง โดยมีตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการประมาณ 100,000 คน ซึ่งกรมการจัดหางานพยายามอย่างทุกวิถีทางที่จะทำให้แรงงานที่ไปอย่างไม่ถูกกฎหมายมาขึ้นทะเบียนในระบบให้ถูกต้อง 

พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า หนึ่งในปัญหาที่ทำให้แรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ส่วนหนึ่งมาจากการทดสอบวัดระดับภาษา ทำให้มีบริษัทจัดหางานนำแรงงานไทยไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้การแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงแรงงานได้เปิดการจัดอบรมฝึกภาษา ประกอบด้วย ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น โดยเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานไทยไปทำงานยังต่างประเทศ 

พิพัฒน์ ระบุต่อว่า กระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือกันเพื่อฝึกอบรมการเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับแรงงานไทยเพื่อไปทำงานในภาคการประมง โดยคาดว่า หลังเดือนมีนาคม 2567 จะสามารถส่งแรงงานไทย 100,000 ตำแหน่งปทำงานยังประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศออสเตรเลีย ไต้หวัน ฮ่องกง ประเทศสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซีย รวมถึงกระทรวงแรงงานมีทูตแรงงานพำนักอยู่ใน 11 ประเทศ จำนวน 12 สาขาอาชีพ ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงแรงงานมีความพยายามต่อยอดไปยังประเทศอื่นๆ 

พิพัฒน์ เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เดินทางไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อร่วมประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 20 ประเทศ โดยพบว่า ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ต้องการแรงงานไทยที่มีทักษะจำนวนมากพอสมควร เนื่องจากประเทศในพื้นที่ดังกล่าวมีการขยายความเจริญเป็นอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับแผนการตั้งเป้าขยายตลาดแรงงานไทยไม่น้อยกว่า 10,000 อัตรา ในปี 2567 

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ตะวันออกกลาง กระทรวงแรงงานไม่สามารถส่งแรงงานไทยโดยตรงในระบบรัฐต่อรัฐ ต้องจัดส่งผ่านบริษัทตัวกลางเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นๆ กรมการจัดหางานส่งแรงงานไทยในระบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะไม่มีหัวคิว มีเพียงค่าเฉพาะการตรวจร่างกาย การซื้อบัตรโดยสาร และการขอวีซ่า อีกทั้งเมื่อไปถึงแต่ละประเทศต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมของแต่ละประเทศด้วย