ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อให้ FAA ปรับระดับความปลอดภัยด้านการบินไทยขึ้นไปอยู่ Category 1 ภายในปลายปีนี้ (62) หวังสายการบินของไทยได้รับอนุญาตให้ทำการบินเข้าสหรัฐฯ ได้อีกครั้ง

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13-22 พ.ค. 2562 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ตรวจสอบยืนยันอย่างเต็มรูปแบบ (Full ICAO Coordinated Validation Mission หรือ Full ICVM) ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องส่วนที่เหลือรวม 7 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมายและระเบียบ, ด้านการจัดการองค์กรกำกับดูแล, ด้านการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่, ด้านการปฏิบัติการบิน, ด้านความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน, ด้านบริการการเดินอากาศ และด้านสนามบิน

โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary) ของคณะผู้ตรวจสอบ Full ICVM พบว่าระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาใช้บังคับในประเทศ (Effective Implementation หรือ EI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 65.07 ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ ICAO กำหนดคือ ร้อยละ 60 โดยทาง ICAO จะส่งรายงานสมบูรณ์ให้ภายใน 3 เดือนจึงจะทราบว่า ยังเหลือข้อบกพร่องอีกกี่ข้อซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ไม่เร่งรัด เป็นข้อบกพร่องเล็กน้อย ซึ่งหากสามารถแก้ไขได้จะทำให้คะแนนมาตรฐานของประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ส่วนที่ ICAO ยังไม่ได้ตรวจสอบในครั้งนี้ คือด้านการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน ซึ่ง กทพ.เตรียมพร้อมที่จะรับการตรวจแล้ว แต่เนื่องจาก ICAO มีข้อจำกัดด้านผู้ตรวจสอบ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีเหตุที่เป็นปัญหาด้านการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ในเชิงร้ายแรง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการออกใบรับรองสนามบินนานาชาติ ซึ่งขณะนี้ สนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. จำนวน 6 แห่งได้รับใบรับรองแล้วเหลือสนามบินของ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และ การตรวจบริการทางอากาศ เช่น การพยากรณ์ทางอากาศ  และ การบริการเดินอากาศ  

สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ (FAA) ปรับลดระดับความปลอดภัยด้านการบินไทยลงจาก Category 1 มาที่ระดับ Category 2 ทำให้สายการบินของไทยไม่สามารถ���ำการบินในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 นั้น นายจุฬา กล่าวว่า กทพ.อยู่ระหว่างหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ (Inspector) ประมาณ 30 คน สำหรับตรวจนักบิน สำหรับเครื่องบินทุกรุ่น ซึ่งขณะนี้ยังขาดผู้ตรวจสอบนักบิน สำหรับเครื่องบิน ATR ซึ่งหายาก เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่ใช้เพียงสายการบินเดียวคือ บางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งอาจจะจ้างนักบินต่างชาติเข้ามาช่วย

โดยหากจัดเตรียมบุคลากรด้านการตรวจสอบนักบินได้ครบและพร้อมในการตรวจรับรองการออกใบอนุญาตนักบินใหม่ประมาณ 3,000 คน จะแจ้ง FAA เข้ามาตรวจสอบ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะแก้ข้อบกพร่องเพื่อปรับระดับให้ประเทศไทยเป็น Category 1 ในปลายปี 62  

ประเด็นส่วนใหญ่ของ FAA จะซ้ำกับของ ICAO ซึ่งเมื่อ ICAO ยืนยันและปิดข้อบกพร่องเรื่องนั้นไปแล้ว เชื่อว่า FAA ไม่น่ามีปัญหา เหลือเรื่องนักบินเท่านั้น ซึ่งหาก FAA ปรับระดับให้ไทยขึ้น Category 1 จะทำให้สายการบินของไทยได้รับอนุญาตทำการบินเข้าประเทศสหรัฐฯได้ และจะทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันผู้โดยสารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 6 ต่อปี แต่คาดการณ์ว่า ปัญหาความแออัดของสนามบินและการขยายขีดความสามารถที่ล่าช้า อาจจะทำให้การเติบโตของผู้โดยสารมีการชะลอตัวได้ในอีก 2 ปีข้างหน้าได้