ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ ป.ป.ส. เห็นตรง ตร. ใช้เกณฑ์ครอบครองยาบ้า 5 เม็ดถือเป็นผู้เสพจึงจะเหมาะสม ป้องกันปมผู้ค้ารายย่อย-รายใหม่ โยน ‘เศรษฐา’ เคาะตัวเลขชัดเจน ธ.ค. นี้

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมประกาศกฎกระทรวงให้จัดเกณฑ์ผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีน(ยาบ้า) 10 หน่วย หรือ 10 เม็ด ให้อยู่ในสถานะผู้เสพสารเสพติดไม่ใช่ผู้ค้า

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า สำหรับประมวลกฎหมายอาญา ปี 2564 เป็นกฎหมายที่ใช้การสาธารณสุขนำการปราบปราม ซึ่งประมวลกฎหมายฉบับนี้มองผู้เสพเป็นเหยื่อ เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ากระบวนการคัดกรองเข้าสู่การฟื้นฟูไม่ได้มุ่งเน้นที่การดำเนินคดีเพียงอย่างเดียว ผู้เสพต้องได้รับการรักษาให้มีงานทำมีชีวิตที่ดีขึ้น 

ส่วนประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอเกณฑ์การครอบครองยาบ้า 10 เม็ดนั้น ในที่ประชุมมีการเสนอเอกสารทางวิชาการของคณะแพทย์ที่ระบุว่า การครอบครองเพียง 10 เม็ดให้จัดเป็นผู้เสพ เนื่องจากตามปกติแล้วผู้เสพยาบ้าจะใช้ยาอยู่ที่ 1-3 เม็ด ซึ่งปริมาณที่ต่ำกว่า 5 เม็ดนั้น ผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ผู้เสพอารมณ์ดี สดชื่น มีแรงในการทำงานหนัก แต่หากเสพเกินกว่า 5 เม็ดไปจนถึง 10 เม็ด ผู้เสพจะมีอาการกระสับกระส่าย ไม่สามารถควบคุมตนเองได้

โดยกรณีที่มีการเสพมากกว่า 10 เม็ด จะมีผลถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น เมื่ออ้างอิงจากเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงมีความเห็นว่า ผู้เสพน่าจะมีการใช้งานอยู่ที่ 10 เม็ดไม่เกินนี้

“ในมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตนเองที่เคยเป็นตำรวจมาก่อน มองว่า การจัดเกณฑ์ครอบครองเพื่อเสพ 10 เม็ด โทษที่ตามมา คือจะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น เพราะในการค้าแต่ละครั้งผู้ค้ารายย่อย จะไม่เกรงกลัวการพกพายาบ้า เพราะสามารถพกได้ถึง 10 เม็ด ก็ไม่ถือว่าได้รับโทษค้า” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าว 

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนในฐานะเลขาธิการฯป.ป.ส. มีหน้าที่ที่จะต้องบูรณาการการบำบัดฟื้นฟู คู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนตัวได้มีข้อเสนอว่า เกณฑ์การครอบครองควรจะอยู่ที่ 5 เม็ดซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานยึดหลักนี้มาตลอด เพราะมองว่าการครอบครองเกินกว่า 5 เม็ดก็จะถูกลงโทษเป็นผู้ค้า ฉะนั้นผู้ค้ารายย่อยเองก็จะมองว่าไม่คุ้มกับการที่พกพา 5 เม็ดแล้วถูกจับโทษหนัก ที่ผ่านมาจากรายงานการจับกุมผู้ใช้สารเสพติด 100 คนจะแบ่งเป็นผู้ค้าจำนวน 12.5 คน 

ดังนั้น หากมีการปรับเกณฑ์การถือครองได้มากขึ้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อการจะเพิ่มจำนวนผู้ค้ารายย่อย ซึ่งคาดว่าเรื่องตัวเลขการครอบครองจะมีความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งต่อไปในวันที่ 18-22 ธ.ค. นี้ แต่ขอยืนยันว่า ส่วนตัวได้พิจารณาเกณฑ์จำนวนยาบ้า 5 เม็ดจากหลายองค์ประกอบทั้งฝั่งของวิชาการ การแพทย์ ผู้บังคับใช้กฎหมาย และอนาคตที่จะต้องบูรณาการทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วานนี้ (31 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีได้สั่งการนโยบายเร่งด่วน หรือ quick win ให้ป.ป.ส. เร่งดำเนินการนำผู้ใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยการบำบัดนั้น จากข้อมูล พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ยาเสพติดทั่วประเทศประมาณ 530,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสพที่มีอาการทางจิตเวช 32,623 คน แบ่งเป็น กลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด 1963 คน (สีแดง) กลุ่มเฝ้าระวังสูง 5,024 คน (สีส้ม) และกลุ่มเฝ้าระวังทั่วไป 25,636 คน (สีเหลือง)

โดยจะนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการบำบัดก่อน เพื่อลดเงื่อนไขความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุรุนแรงกับประชาชน โดยให้ทุกจังหวัดกำหนดวิธีการนำบุคคลเข้าสู่การบำบัดรักษาในระบบของกระทรวงสาธารณสุข ควบคู่กับการสร้างความพร้อมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถร่วมกับภาครัฐ ดูแลและเฝ้าระวังเหตุต่างๆได้ พร้อมยกตัวอย่าง ‘หัวโทนโมเดล’ ในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้อย่างเห็นผล โดยนโยบายดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินนโนบายนโยบาย’ 1 โรงพัก 1 ตำบล’ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชุมชนด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ประกาศกำหนดพื้นที่เร่งด่วน ตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้ายาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทยตามแนวชายแดน ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 5 อำเภอ จังหวัดเชียงราย 6 อำเภอ และจังหวัดนครพนม 4 อำเภอ เพราะจากสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบัน พบว่า พื้นที่ตามแนวชายแดนภาคเหนือตอนบนและพื้นที่

ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นจุดที่มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดสู่ประเทศไทยแทบทั้งหมด โดยภาคเหนือ มีสัดส่วนประมาณ 57.7 %และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 42.3% ของยาเสพติดที่ลักลอบนำเข้าทั้งหมด ซึ่งหากยกระดับการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนทั้ง 2 ภาคได้มากขึ้นเท่าใด ย่อมส่งผลต่อการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติดมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงทั้งทางทหารและตำรวจ จะร่วมกันบูรณาการ เพื่อดูแลป้องกันลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้าประเทศ และจะได้ประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อประสานข้อมูลและจับตาความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ด้วย