ไม่พบผลการค้นหา
วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. เครือข่ายต้านโลกร้อนและภาคีสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ ยื่นข้อเสนอต่อส่วนกลาง แก้ไขภาวะไฟป่า หมอกควัน สารเคมีและเหมืองถ่านหินอมก๋อย

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. วันสิ่งแวดล้อมโลก ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย เครือข่ายต้านโลกร้อน สภาคริสตจักรในประเทศไทย สมาคมศูนย์การศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทย GISTDA GISTNORTH มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 (เชียงใหม่)และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดเวทีพลังเสียงนักปฏิบัติการกับ 3 ประเด็นร้อนของคน ดิน น้ำและป่าไม้ “กรณีไฟป่าและหมอกควัน การควบคุมสารเคมีบนพื้นที่ป่าต้นน้ำ และเหมืองถ่านหินอมก๋อย” ณ ห้องประชุม โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ การ์เดน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนจากพื้นที่ในเชียงใหม่ที่ประสบภาวะไฟป่า หมอกควัน สารเคมีและเหมืองถ่านหินอมก๋อยกว่า 150 คน ได้เข้าร่วม เพื่อสะท้อนปัญหา เท่าทันสถานการณ์และผลกระทบโดยตรงจากปัญหา ผนวกกับองค์ความรู้ บทเรียนและเทคโนโลยีเป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์หาแนวทางฟื้นฟูและร่วมระดมจัดทำข้อเสนอเป็นแนวทางต่อสังคมและผู้กำหนดนโยบายต่อการแก้ไขและพิจารณาปัญหาเหล่านี้ให้คลี่คลาย

นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้แม่แจ่มโมเดลเป็นที่พูดถึงในวงกว้างเรื่องลดจุดความร้อน Hot Spot อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปีนี้สถานการณ์รุนแรงจากหลายปัจจัย และเมื่อพิจารณาแล้วการนำตัวชี้วัด Hot Spot เป็นข้อท้าทายในการทำงานแบบบูรณาการ เพราะปริมาณเชื้อเพลิงกลับสูงขึ้นและยังนำตัวชี้วัดนี้ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ก็ทำให้เกิดการถกเถียงในสังคม แนวทางจากประสบการณ์นั้นควรต้องกำหนดตัวชี้วัดร่วมกัน ความยืดหยุ่นในมาตรการงดเผา 60 วันนั้นต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับสภาพภูมิอากาศเหมาะสมและภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นสำคัญ

อีกหลักคิดใหม่เพื่อเป็นแนวทางปีหน้า คือการบริหารจัดการไฟ ไม่ใช่การควบคุมไฟ ราชการต้องทำงานกับคนให้มากขึ้น เข้าถึงพี่น้องทุกกลุ่มที่ต้องใช้ไฟในอาชีพ ขยายไปยังทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงวัวบนภูเขา ตีผึ้ง หาของป่า เป็นต้น เพราะทุกอาชีพมีส่วนได้ส่วนเสียและใช้ทรัพยากรป่าไม้ร่วมกัน ส่วนการบริหารจัดการนั้นแม่แจ่มใช้ทีมตำบล มีปลัดเป็นหัวหน้า มีนายก อบต. และกำนันเป็นรองหัวหน้า ทุกหน่วยราชการเป็นหนึ่งในทีมตำบล การสั่งการจากหัวหน้าทีมตำบล รับข้อมูลและกระจายข้อมูล ไปยังผู้ใหญ่บ้านซึ่งจะสื่อสารและรับผิดชอบการจัดการไฟในแต่ละพื้นที่ของตนเอง สำหรับการแก้ปัญหางบประมาณก็เอากองรวมกันและตกลงร่วมกันมาถัวเฉลี่ยให้ครบทุกหมู่บ้าน


61971590_2297941563753613_5719242089884024832_n.jpg

นายอนรรค อุปมาลี นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ชี้แจงเกี่ยวกับประกาศการจำกัดการใช้สารเคมีว่า เนื่องจากมีการใช้ในปริมาณเกินความจำเป็นจนส่งผลต่อสุขภาพเกษตรกรและสารเคมีตกค้างในพืชผัก กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศการจำกัดการใช้สารเคมี(พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส) ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. นี้เป็นต้นไป ประกาศฉบับนี้มุ่งเน้นกำกับดูแลผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ไม่มีบทลงโทษต่อเกษตรกรผู้ใช้ แต่มุ่งเน้นให้ควบคุมการใช้ให้เหมาะสมและลดปริมาณการใช้ สำหรับช่วง180 วันนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ จะจัดอบรมมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีให้พี่น้องเกษตรกรด้วยและอยากให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว จึงไม่อยากให้พี่น้องเกษตรกรกังวลมาก

62175197_2537345132966514_2853768436889157632_n.jpg

นายพิบูล ธุวมณฑล ตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์อมก๋อย เล่าถึงสถานการณ์เหมืองถ่านหินอมก๋อยว่า ประกาศให้คัดค้านการทำเหมืองถ่านหินอมก๋อยนั้น ทางชุมชนรู้ก่อน 10 วันก่อนประกาศสิ้นสุด ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าทัน อีกทั้งพอได้ตรวจสอบผลอีไอเอนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงใดๆ ไม่มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอธิบายและตอนนี้ทางเครือข่ายร้องไปที่นายอำเภอเพื่อขอขยายการคัดค้านไปอีก 30 วัน ข้อเสนอแนวทางคือต้องการผู้มีความรู้หรือตัวแทนบริษัทอธิบายเรื่องผลกระทบและกฏหมายต่อชุมชนและชาวบ้าน ตอนนี้รอผลและหนังสือชี้แจงจากบริษัท อยากให้ทุกคนช่วยบอกเล่ากรณีนี้และช่วยให้เกิดการรับรู้สถานการณ์ เข้ามาหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันกับเครือข่าย

สำหรับข้อเสนอต่อการบริหารจัดการไฟป่าระดับนโยบายปีหน้านั้น เครือข่ายและภาคีขอให้จุดความร้อน (Hot Spot) ใช้ในการวางบริหารการจัดการไฟเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นตัวชี้วัดที่ดีกับการจัดการไฟป่า ยกเลิกมาตรการห้ามเผาแต่เปลี่ยนเป็นการจัดการบริหารไฟป่าและวางแผนการจัดการตามภูมินิเวศไฟป่าตามสภาพแต่ละพื้นที่ร่วมกับชุมชน การใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน การบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรม สนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการบริหารไฟป่า รวมถึงกองทุนสวัสดิการสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดการไฟป่า

หลังจากนั้นที่ประชุมได้รวมรวมข้อเสนอจากกลุ่มย่อยที่สะท้อนบริบทสังคมและชุมชนทั้งหมดที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน 9 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อส่งมอบต่อกับผู้บริหารระดับนโยบายจังหวัดให้เป็นแนวทางการพิจารณาการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควัน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นที่สูงและเหมืองถ่านหินอมก๋อยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการแนวทางร่วมกัน

61831137_307454530143870_4373744572530950144_n.jpg62246702_2226401497480720_3425724584542863360_n.jpg