'อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล' นักศึกษาไทยที่พำนักอยู่ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ รณรงค์โครงการ #BringThaiHome หรือ #คนไทยต้องได้กลับบ้าน รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศ Fit To Fly ผ่านเว็บไซต์ change.org/bringthaihome โดยเรียกร้อง (1) นายกรัฐมนตรี และ (2) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ให้ยกเลิกมาตรการที่เสมือนเป็น 'การกีดกันไม่ให้คนไทยกลับบ้านได้'
สิ่งที่เรียกร้องให้ยกเลิก คือ ประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนฯ ที่ออกมาช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งกำหนดว่า 'ผู้มีสัญชาติไทย' ที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ต้องมี 'ใบรับรองแพทย์' เพื่อยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to fly) และต้องมี 'หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทย' ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศ
ผู้รณรงค์ระบุว่า มาตรการดังกล่าวสร้างภาระ ทั้งด้านเวลาในการเตรียมเอกสารและเดินทางไปยังสถานพยาบาลและสถานทูต ซึ่งอาจอยู่ต่างเมือง หรือในบางประเทศไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ ทั้งยังอาจติดขัดเรื่องการเดินทางระหว่างเมือง เนื่องจากมีมาตรการจำกัดการเดินทางภายในประเทศช่วงแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เช่นกัน
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างภาระด้านการเงินที่ไม่จำเป็น เพราะในหลายประเทศ แม้ในเวลาปกติ การจะพบแพทย์ต้องมีเหตุจำเป็นและต้องนัดหมายล่วงหน้า การจะให้โรงพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพออกใบรับรองที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์หรือด้านสิทธิแรงงาน ถือเป็นเรื่องยาก
"ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบสาธารณสุขถูกใช้งานจนเกินหรือใกล้เกินขีดจำกัด วิธีที่แทบจะเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถได้ใบรับรอง 'ฟิตทูฟลาย' คือการขอจากคลินิกเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่รวมอยู่ในเงื่อนไขประกันที่เบิกได้ และก็มีกรณีที่ถูกปฏิเสธไม่ออกใบรับรองดังกล่าวให้จากศูนย์สุขภาพของมหาวิทยาลัยและจากเครือโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่เป็นอันดับสองในสหราชอาณาจักร"
นอกจากการรณรงค์ #คนไทยต้องได้กลับบ้าน 'อาทิตย์' ยังยื่นฟ้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอน ข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวกับใบรับรองแพทย์ 'ฟิตทูฟลาย' และหนังสือรับรองฯ
เนื้อหาในคำร้องยังระบุให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศฉบับนี้ด้วย เพราะหากให้มีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
"การเดินทางและการต้องไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อเตรียมเอกสาร 2 ฉบับดังกล่าว เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคแก่คนไทย ผู้ใกล้ชิด และชุมชนโดยรอบ และอาจทำให้ประชาชนชาวไทยในต่างประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงทางกฎหมาย กรณีพื้นที่ดังกล่าวมีการจำกัดการเดินทางเข้มงวด"
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สอบถามไปยัง 'อาทิตย์' และได้รับการยืนยันว่า การคัดกรองคนเข้าเมืองเพื่อควบคุมโรคติดต่อมีความสำคัญ และตนเองไม่ได้ต้องการคัดค้านนโยบายคัดกรองของรัฐบาล ทั้งยังเห็นความสำคัญของการควบคุมโรคติดต่อที่อาจมาจากผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แต่น่าจะมีวิธีการอื่นที่ไม่ใช่เป็นการผลักให้คนไทยที่เดือดร้อนต้องลำบากอยู่ต่างประเทศ
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่การเดินทางเข้าประเทศหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มความเข้มงวด ก็ยังไม่มีประเทศใดที่ใช้มาตรการกีดกันทางอ้อมไม่ให้พลเมืองที่มีสัญชาติของตัวเองเดินทางกลับเข้าประเทศ
"ผมและคนไทยอื่นๆ ยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือในการกักตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว”
'อาทิตย์' ระบุว่า ใบรับรอง 'ฟิตทูฟลาย' เป็นเพียงการรับรองว่ามีสุขภาพเหมาะสมที่จะเดินทางทางอากาศ เช่น มีอายุครรภ์ไม่เกินกำหนด หรือหากเพิ่งได้รับการผ่าตัดต้องได้รับการพักฟื้นมาแล้วเพียงพอหรือไม่ แต่ใบรับรองดังกล่าวไม่ใช่มาตรการที่ใช้คัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนาได้
การคัดกรองโรคติดต่อสามารถทำได้โดยมาตรการอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น การคัดกรองคนเข้าเมืองที่สนามบิน การอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้คนสามารถกำจัดบริเวณตัวเองอยู่ในบ้านได้ 14 วันหลังเดินทางเข้าประเทศ
นอกจากนี้ 'อาทิตย์' ยังอ้างอิงมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ระบุว่า “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้”
เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ระบุว่า "การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระ หรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้"
'วอยซ์ออนไลน์' สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ของคนไทยในไอร์แลนด์ 'อาทิตย์' ระบุว่า ที่นี่มีนักศึกษาไทยมาเรียนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงคนไทยที่ทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ และงานอื่นๆ ซึ่งเขาไม่อาจบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่คนไทยที่จะต้องเดินทางกลับประเทศมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ขณะนี้ไอร์แลนด์ประกาศมาตรการจำกัดการเดินทาง ไม่อนุญาตให้คนออกนอกพื้นที่หรือออกจากที่พักอาศัยโดยไม่จำเป็น รถโดยสารสาธารณะลดจำนวนเที่ยวลง และต้องตรวจสอบการเดินรถทุกวันว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ส่วนการพบแพทย์ในไอร์แลนด์นั้น 'อาทิตย์' อธิบายเพิ่มเติมว่า จะต้องนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งถ้าเป็นนักเรียนต่างชาติที่ไปอยู่ในระยะสั้น สามารถใช้บริการศูนย์สุขภาพของมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดตามที่ระบุไปแล้วในการรณรงค์แคมเปญ แต่ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ยาวเกิน 1 ปี จะถูกบังคับทำประกันสุขภาพของเอกชน ทำให้ลงทะเบียนนัดแพทย์ได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไอร์แลนด์มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ทำให้การนัดพบแพทย์เป็นไปได้ยากยิ่งกว่าเดิม เพราะรัฐบาลต้องการลดความเสี่ยงของประชากรในประเทศไม่ให้ติดเชื้อเพิ่มจากการไปโรงพยาบาล
แม้แต่ผู้ป่วยที่มีไข้หรือมีอาการบ่งชี้ว่าอาจติดโรคโควิด-19 ก็ยังถูกห้ามไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง แต่จะต้องใช้วิธีโทรแจ้งไปยัง Health Service Executive หรือ HSE ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบสาธารณสุขแทน จากนั้นจึงจะมีแพทย์ประเมินอาการอีกต่อหนึ่ง
"ตอนนี้คือ แค่จะไปหายังไม่ได้ โทรอย่างเดียว และต่อให้เข้าข่ายก็ห้ามไปโรงพยาบาลเอง ต้องให้แพทย์ GP (General Practitioner) ประเมิน และตัดสินใจรับมาตรวจที่คลินิกของ GP แล้วค่อยส่งตัวไปโรงพยาบาล"
นอกจากนี้ สถานกงสุลใหญ่ในกรุงดับลินไม่มีผู้สื่อสารภาษาไทยได้เลย การเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ของสถานกงสุลแห่งนี้จึงเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทำให้ไม่อาจระบุได้ว่าจะขอหนังสือรับรองการเดินทางอย่างไร
ส่วนกรณีที่คนไทยในไอร์แลนด์ต้องการลงทะเบียนเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน ได้รับคำแนะนำจากสถานกงสุลใหญ่ในกรุงดับลินว่าจะต้องติดต่อไปยังสถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทางแล้วเช่นกัน