ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ตรวจราชการ สธ. เขต 11 เผยมาตรการเชิงรุก จ.ภูเก็ต เดินหน้าปูพรมค้นหาผู้สัมผัสเชื้อไวรัสโควิด-19 มั่นใจปลายเดือน เม.ย.นี้ ตัวเลขไม่ถึง 700 ราย ด้าน สปสช.สนับสนุนงบประมาณ-การดำเนินงานเต็มที่

นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 11, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต, สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช, ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทัพภาคที่ 4 ได้ตรวจเยี่ยมจุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ณ ซอยบางลา อ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา

นพ.พิทักษ์พล เปิดเผยว่า ซอยบางลา จ.ภูเก็ต ซึ่งเต็มไปด้วยสถานบันเทิงและนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นพื้นที่การระบาดไวรัสโควิด-19 แบบกลุ่มก้อน (Cluster) เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสนามมวยลุมพินี แต่ที่ซอยบางลามีลักษณะเฉพาะบางประการที่แตกต่างไปจากพื้นที่ทั่วไป นั่นทำให้การสอบสวนโรคทำได้ยาก

นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า ซอยบางลามีข้อจำกัดอยู่ 3 ประการ ทั้งหมดคืออุปสรรคต่อการสอบสวนโรค ได้แก่ 1. การซักประวัติ ซึ่งมีข้อจำกัดในชาวต่างชาติ อาทิ ภาษา ความไม่สะดวกใจที่จะให้ข้อมูล ส่งผลให้การตามหาผู้สัมผัสโรค (Contact Cases) กลายเป็นเรื่องยาก 2. พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ไม่อยู่ในที่พักและผู้ประกอบการยังลักลอบเปิดกิจการ 3. ปัญหาคอขวดในการตรวจเชื้อเนื่องจากมีห้องปฏิบัติการ (Lab) เพียงแห่งเดียว แต่ต้องรองรับสิ่งส่งตรวจจากจังหวัดใกล้เคียงด้วย

27067_0.jpg

“เมื่อสอบสวนโรคแบบดั่งเดิมไม่ได้ เราจึงต้องใช้วิธีปูพรมค้นหาผู้สัมผัสเชื้อเชิงรุก หรือ Active cases finding : ACF ด้วยการสแกนพื้นที่อย่างละเอียดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยผลจากการดำเนินงานเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ตรวจผู้ที่ไม่แสดงอาการจำนวน 201 ราย พบว่าติดเชื้อ 12 ราย คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์” นพ.พิทักษ์พล กล่าว

นพ.พิทักษ์พล กล่าวอีกว่า การใช้วิธี ACF ถือว่ามาถูกทาง เพราะสามารถค้นหาผู้ป่วยที่ซุกซ่อนอยู่ได้ โดยในวันที่ 5-6 เม.ย.นี้ จะมีการดำเนินการต่ออีก 2 ครั้ง ก่อนจะกลับมาประเมินผลอีกรอบหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้คาดการณ์กันว่ากรณีเลวร้ายที่สุด ปลายเดือน เม.ย.จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 700 ราย แต่หากมาตรการล็อกดาวน์ และ ACF ได้ผล คิดว่าตัวเลขจะไม่ถึง 700 อย่างแน่นอน

“เราได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามและประสานโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อสำรองเตียงไว้ถึง 700 เตียง และยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย จึงมั่นใจได้ว่า จ.ภูเก็ต มีความพร้อมรับมือสถานการณ์” นพ.พิทักษ์พล กล่าว

พญ.พนิดา จันทรังสิกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต11 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดบริการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อในพื้นที่ โดยมีการจัดพื้นที่คัดกรอง สอบสวนโรค และจัดสถานที่สำหรับกักกันผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) 

S__29466635.jpg

สำหรับสถานที่กักกันผู้ป่วยมีจำนวน 2 จุด ได้แก่ คลินิกหวัด โรงพยาบาลป่าตอง และโรงแรม Sleep with me ซอยบางลา ป่าตอง โดยเบื้องต้นได้ตรวจคัดกรองกลุ่ม PUI ที่เป็นคนไทย จำนวน 201 ราย และชาวต่างชาติอีก 7 ราย ซึ่งหากพบว่าเป็นผลบวก (ติดเชื้อ) จะส่งไปแอดมิดที่โรงพยาบาลสนาม จ.ภูเก็ต (ศาลากลางจังหวัด) ทันที

นอกจากนี้ สปสช. เขต11 ยังได้อำนวยความสะดวกและลดอุสรรคในการทำงานในพื้นที่ ด้วยการสนับสนุนข้อมูลการใช้งบประมาณตามประกาศฉบับใหม่ ทั้งในส่วนของผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และการส่งเสริมป้องกันโรค ตลอดจนการขอเบิกชดเชยตามเกณฑ์ให้กับหน่วยบริการ

ขณะเดียวกัน ได้ช่วยเร่งรัดการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการตรวจ PCR ของภาครัฐ คือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11/1 จ.ภูเก็ต และประสานขอความร่วมมือหน่วยบริการเอกชน คือโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ซึ่งมีศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19ด้วยเครื่องมือและวิธีตรวจแบบ RT PCR ให้มาสนับสนุนหน่วยบริการห้องปฏิบัติการของรัฐ 

“สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการทั้งหมด ซึ่งเราก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ ที่ยินดีรับเป็นหน่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อแบ่งเบาภาระงานของภาครัฐ และจาก พญ.สุภาณี สมศักดิ์ ผู้บริหารและเจ้าของกิจการโรงแรมรุ่งระวี ที่ช่วยเปิดโรงแรมเป็นที่พักสำหรับกลุ่ม PUI ให้กับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต” พญ.พนิดา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :