ไม่พบผลการค้นหา
'หมอยง' แจงปมวัคซีนโควิดของจีนได้ผลต่ำในประเทศบราซิล ชี้เหตุฉีดในบุคลากรการแพทย์เสี่ยงสูง แนะรัฐบาลไทยเจรจากับผู้ผลิตโดยหาวัคซีนมาทดสอบ ก่อนฉีดจริง

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 14 ม.ค. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมรายการ “ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19” ทางช่อง NBT โดยกล่าวว่า ปัจจุบันตลาดวัคซีนโควิด-19 เป็นของผู้ขาย เพราะตลาดขาดแคลน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้วัคซีนที่ดีที่สุด เนื่องจากวัคซีนมีอยู่อย่างจำกัด ผู้ชื้อไม่มีสิทธิ์เลือกตามใจชอบมากนัก จึงเป็นเรื่องที่ว่าใครมีอำนาจมากกว่า ใครมีเงินในกระเป๋ามากกว่า

ตอนนี้เราบอกว่าไอ้นี่ดีกว่าไอ้นี่ ถึงจะบอกไป เราก็ซื้อไม่ได้ เพราะเราต้องยอมรับว่าตลาดเป็นของผู้ขาย ทั่วโลกจ้องมาที่วัคซีนหมด เมื่อของมีอยู่แค่นี้ แต่ความต้องการเยอะ มันก็คงต้องแย้งกัน

นพ.ยง กล่าวว่า องค์การอนามัยโรค รับรองวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป สำหรับกรณีสื่อของประเทศบราซิล เผยว่าวัคซีนบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ประเทศจีน ได้ประสิทธิผลเพียง 54 เปอร์เซ็นต์นั้น เห็นว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องไปดูว่ามีการทดลองกับคนกลุ่มใด

ยกตัวอย่างการศึกษาในอดีต เกี่ยวกับวัคซีนโรคเอดส์  โดยวัคซีนตัวเดียวกันเมื่อมาศึกษาในประเทศไทย จะได้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 30 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อศึกษาในประเทศทางแอฟริกา กลับได้ 0 เปอร์เซ็นต์ นั่นเพราะแอฟริกามีความเสี่ยงสูงของเอดส์กว่าไทยมาก

อีกตัวอย่างคือ วัคซีนท้องเสียในเด็ก เมื่อฉีดกับเด็กแอฟริกา ประสิทธิผลจะต่ำว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อนำวัคซีนตัวเดียวกันมาฉีดกับเด็กในยุโรป ประสิทธิภาพการป้องกันโรคมีถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ นั่นเพราะเด็กยุโรปกับแอฟริกามีสภาวะความเสี่ยงต่อโรคแตกต่างกัน

นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ก่อนหน้านี้มีการศึกษาในประเทศตุรกี พบประสิทธิภาพกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อินโดนีเซีย 64 เปอร์เซ็นต์

ส่วนกรณีประเทศบราซิล พบว่า กลุ่มที่ทำการศึกษาประมาณ 10,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนต่ำลงไป เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ศึกษากับประชากรทั่วไป

นพ.ยง กล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐบาลเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ไทยได้ทำการจองให้นำวัคซีนมาทดลองศึกษากับคนไทย ก่อนจะเริ่มฉีดอย่างจริงจังในปลายเดือน ก.พ.นี้ ทั้งนี้ เพื่อทราบถึงภูมิต้านทาน อาการข้างเคียง เป็นต้น