ไม่พบผลการค้นหา
ประมวลสถานการณ์ละเมิดสิทธิเสรีภาพ หลัง 1 สัปดาห์จัดกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง' ประชาชนถูกออกหมายเรียก-ปรับ-คุกคามต่อเนื่อง

ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ กับกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง' ที่ได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนอย่างคึกคัก ทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ และในอีกหลายจังหวัด หากแต่ภายหลังการจัดงานดังกล่าวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านนั้น มีบุคคลจำนวนไม่น้อย ที่เข้าร่วมกิจกรรม ถูกคุกคาม ไปจนถึงการออกหมายเรียก และสั่งปรับ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

'วอยซ์ออนไลน์' ชวนดูสถานการณ์สิทธิ เสรีภาพ หลังกิจกรรมวิ่งไล่ลุง

วิ่งไล่ลุง สวนรถไฟ

ออกหมายเรียก - ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ อนาคตใหม่ ตกเป็นเป้าหมาย

เริ่มด้วยเพียง 1 วัน หลังจากกิจกรรมดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 มีรายงานว่า น.ส.อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งไปร่วมวิ่ง ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ในวันที่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรสตึก โดยที่ น.ส.อิสรีย์ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ไปวิ่งในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ส่วนที่ จ.ยโสธร นายชัยวัฒน์ สายสีแก้ว อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองยโสธร โทรศัพท์เรียกให้ไปพบ ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่สวนสาธารณะพญาแถนในเย็นวันที่ 12 ม.ค. 2563

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า นายชัยวัฒน์ถูกตำรวจเจรจาแกมข่มขู่ให้รับสารภาพ และเสียค่าปรับเพื่อให้เรื่องจบๆ ไป จึงให้การรับสารภาพ โดยพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 3,000 บาท

ที่ จ.สุรินทร์ รองผู้กำกับการ สภ.เมืองสุรินทร์ ได้นำหมายเรียกไปให้ นายนิรันดร์ ลวดเงิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เพื่อให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา ที่ สภ.เมืองสุรินทร์ ในวันที่ 17 ม.ค. 2563 ภายหลังเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานายนิรันดร์ว่า ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุม ก่อนเปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท

14 ม.ค. 2563 ที่ จ.นครพนม นายพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 4 พรรคอนาคตใหม่ เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม เพื่อรับหมายเรียกผู้ต้องหา ตามที่ตำรวจนัดหมาย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกหมายเรียก อีกทั้งตำรวจยังได้จัดทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และพยายามเจรจาให้เขารับสารภาพ พร้อมทั้งจ่ายค่าปรับ 1,000 บาท แต่นายพิศาลคัดค้าน และ ไม่ลงชื่อในบันทึกข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยนายพิศาล ยืนยันให้ตำรวจออกหมายเรียกมาให้ถูกต้อง และพร้อมจะสู้คดี

ธนวัฒน์ บอล  สน.ปทุมวัน_200110_0007.jpg
แกนนำหลักถูกหมายเรียก แม้ยืนยันการจัดกิจกรรม วิ่งไล่ลุง ไม่ใช่การชุมนุม

16 ม.ค. 2563 ตามมาด้วย บอล ธนวัฒน์ วงศ์ไชย หนึ่งในแกนนำจัดวิ่งไล่ลุงที่สวนรถไฟ กรุงเทพมหานคร ถูกหมายเรียกไปรายงานตัวที่ สน.บางซื่อ เหตุ จัดชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้ง ขณะที่ ก่อนหน้านี้ ธนวัฒน์ เคยให้สัมภาษณ์กับ วอยซ์ออนไลน์ ก่อนจะมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ยืนยันว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว ไม่ใช่การชุมนุม จึงไม่ต้องแจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ


นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ถูกคุกคาม

12 ม.ค.2563 มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไลน์หลุด สั่งปลด นักศึกษา 4 คน ที่ไปร่วมวิ่งไล่ลุง ออกจาก ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส มวล.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ได้หลุดออกสู่สาธารณะ

กระทั่ง วันที่ 13 ม.ค. 2563 ศูนย์ดังกล่าวออกแถลงการณ์ โดยระบุว่าขอชี้แจงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอข่าวในประเด็นเกี่ยวกับการเรียกคืนเครื่องแบบและป้ายแสดงตนในการปฏิบัติหน้าที่จากนักศึกษาจำนวน 4 คน ที่ไปร่วมกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง' ออกจากกลุ่ม ศอ.ปส.มวล. โดยย้ำว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่มีความสนใจในการปฏิบัติภารกิจการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีเจตนารมณ์มิให้สมาชิกนำความขัดแย้งทางการเมืองเข้ามาภายในกลุ่ม และขอยืนยันว่า ประเด็นดังกล่าว "เป็นการตกลงภายในกลุ่ม" ไม่เกี่ยวข้องกับทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ นายหัสดิน​ จริยา​ นักศึกษาสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถูกเจ้าหน้าที่ส่วนกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ‘ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล’ โดยการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของนักศึกษาในกลุ่มไลน์ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย หลังจากที่เขายืนยันว่าจะเข้าร่วมงานวิ่งไล่ลุง ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แม้มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้น

สำหรับข้อมูลที่ถูกนำไปเผยแพร่นั้น เป็นข้อมูลระเบียนประวัติของนักศึกษา ที่แสดงหมายเลขบัตรประชาชน ที่อยู่บ้าน เบอร์ติดต่อพ่อและแม่ อาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้งข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ด้วย ซึ่งภายในกลุ่มดังกล่าว มีบุคคลภายนอกที่ไม่มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของนักศึกษารวมอยู่

วิ่งไล่ลุง สวนรถไฟ_๒๐๐๑๑๒_0009.jpg


องค์กรสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตตำรวจจัดการผู้ร่วมกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง'

ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการดำเนินคดีภายหลังกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ว่า หนึ่ง บางกรณีตำรวจใช้วิธีโทรศัพท์เรียกให้บุคคลที่ตำรวจคิดว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม เข้าไปพบและแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่ออกเป็นหมายเรียกตามกระบวนการ ทำให้ผู้ถูกเรียกไม่ทราบล่วงหน้าว่า ตนเองจะถูกดำเนินคดี จึงไม่ได้ติดต่อทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจให้เข้าไปพบเจ้าหน้าที่ด้วย

สอง ในกรณีที่มีการออกหมายเรียก พนักงานสอบสวนเร่งรัดให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหมายเรียก ทำให้ผู้ถูกออกหมายเรียกไม่สามารถจัดหาทนายความเพื่อเข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาได้ทัน

สาม ในสถานการณ์ที่ไม่มีทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจเข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยเหตุดังที่กล่าวมา จึงทำให้ผู้ถูกเรียกมีความกดดัน กังวล และหวาดกลัว พนักงานสอบสวนมีการพูดจาหว่านล้อม รวมทั้งบางกรณีมีการข่มขู่ ให้รับสารภาพ และเสียค่าปรับ เพื่อให้คดียุติโดยเร็ว โดยจูงใจด้วยค่าปรับต่ำๆ โดยไม่ได้แจ้งสิทธิในการปรึกษาทนายความหรือสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของผู้ต้องหา


เพจ 'วิ่งไล่ลุง' ประณามรัฐ-หน่วยงานความมั่นคงคุกคาม ดำเนินคดีประชาชนหลายจังหวัด

14 ม.ค. 2563 เพจเฟซบุ๊ก 'วิ่งไล่ลุง - Run Against Dictatorship' รายงานว่า จากกรณีที่มีการจัด “งานวิ่ง” คู่ขนาน กับงานวิ่งไล่ลุง ซึ่งจัดขึ้นโดยประชาชน ในหลายจังหวัด ทั่วทุกภาค ของเมืองไทย จนกลายเป็นมหกรรมระดับประเทศ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมหาศาล อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 โดย เพจ 'วิ่งไล่ลุง' ระบุหลังงานวิ่งในหลายจังหวัด ประชาชนจำนวนหนึ่งถูกหมายเรียก ถูกดำเนินคดี ถูกคุกคาม จากเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานความมั่นคง พร้อมประณามและขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที ชี้จะเป็นผลเสียและเกิดการบานปลาย ย้ำ 'วิ่งไล่ลุง' เป็นสิทธิเสรีภาพที่ใครก็พึงกระทำได้


กมธ.กฎหมายฯ ลุยสอบ เชิญ 'จักรทิพย์' - 'สมบัติ' อธิการ ม.วลัยลักษณ์

ขณะที่ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 15 ม.ค. 2563 กรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีมติทำหนังสือเชิญ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาชี้แจงว่าทำไมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ไม่เหมือนกัน และนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ชี้แจงว่าทำไมไม่สามารถปกป้องพื้นที่ในการแสดงออกของนักศึกษาได้ และผู้บังคับการตำรวจภูธรเมืองพะเยา มาชี้แจงในวันพุธ ที่ 22 ม.ค.2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง