ประเทศไทยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาอาจนิยามได้ว่าตกอยู่ใน 'ความไม่สงบ' ซึ่งตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า 'unrest' ที่มีรากมาจากคำว่า 'un' ในฐานะคำอุปสรรค (prefix) ที่แปลว่า 'ไม่' ผสานเข้ากับคำนามหลักอย่าง 'rest' ที่แปลว่าการพักผ่อน ท้ายสุดจึงอาจแปลได้เป็นภาวะที่ผู้คนไม่ได้หยุดพักหายใจให้เต็มปอดอย่างที่เคย
เมื่อหลักการ การเสียสละในวันนี้เพื่อหวังให้อนาคตที่ดีกว่าถูกเลือกใช้ ท้ายที่สุดแล้วเครื่องมืออย่างการประท้วงจึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นได้แค่เพียงปฏิกิริยาโต้กลับเพื่อสะท้อนอารมณ์ขุ่นเคืองของผู้คนหรือเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งชัยชนะอันแท้จริง
'เซย์เนป ตูเฟกซิ' รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ผู้ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และภาวะสังคม จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา บรรยายทัศนะของเธอผ่านบทความในนิตยาสาร ดิ แอตแลนติก ชี้ชัดว่า การประท้วงนั้นย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ แม้สิ่งที่ประชาชนมองเห็นอาจเป็นความพ่ายแพ้ก็ตาม
บทความดังกล่าวของนักสังคมวิทยาหญิงได้รับการตีพิมพ์ตั้งแต่ช่วง มิ.ย.ซึ่งหากปัจเจกบางส่วนนับว่าการประท้วงในไทยเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมจากครั้งที่ 'เยาวชนปลดแอก' ลุกขึ้นมาเรียกร้องในเดือน ก.ค. คงต้องมองว่า บทความนี้ไม่ได้มีปูมหลังที่เกี่ยวข้องกับขบวนการ 'ราษฏร' แม้แต่น้อย ทว่าใจความหลักที่ตั้งอยู่บนเรื่องราวการประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียมทางสีผิวอันมีต้นกำเนิดการตายของ 'จอร์จ ฟลอยด์' กลับไม่ได้ต่างกันแต่อย่างใด
เซย์เนป เล่าว่า เธอมักถูกถามอยู่บ่อยครั้งว่า ชาวอเมริกันที่เสี่ยงชีวิตท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เพื่อออกมาแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องการปฏิรูปองค์กรตำรวจไปจนถึงการปฏิบัติที่เท่าเทียมระหว่างคนผิวดำ ผิวขาว และท้ายสุดคือทุกสีผิว ผ่านขบวนเรียกร้อง Black Lives Matter ก่อให้เกิดอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นรูปธรรมบ้างหรือไม่
คำตอบที่ดูให้กำลังใจและโรแมนติกไม่น้อยของเธอนั้นระบุว่า "หลายครั้ง การประท้วงเสมือนเผชิญหน้ากับความล้มเหลวในช่วงสั้นๆ ทว่าพลังอำนาจของการเคลื่อนไหวแท้จริงฝังอยู่ในเกมยาว ทั้งกับตัวผู้ประท้วงและสังคมส่วนที่เหลือ"
ในช่วงสั้นๆ นั้น เซย์เนป ชี้่ว่า การประท้วงที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวโกรธของผู้คนเป็นผลให้เหล่าผู้มีอำนาจเกิดความหวาดกลัวขึ้นมาได้จริง เพราะการลงถนนเป็นเครื่องสะท้อนชัดแล้วว่าประชาชนไม่มีความสุขเป็นกับสิ่งที่เป็นอยู่ และจะไม่อดทนอยู่ในภาวะนั้นอีกต่อไป อย่างไรก็ดี เธออธิบายต่อว่า ภาวะ "ฉันจะไม่ทนอีกต่อไป" ยังต้องผ่านบททดสอบที่ชื่อว่า 'ความน่าเชื่อถือ' อยู่เช่นเดียวกัน ก่อนจะสามารถเปลี่ยนผ่านเป็นความสำเร็จได้
ในฐานะผู้ศึกษาประเด็นเทคโนโลยีดิจิทัล สารพัดแพลตฟอร์มที่เหล่ามหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกทั้งมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และแจ็ค ดอร์ซีย์ ช่วยเชื่อมโลกให้ไร้พรมแดนกลับเสมือนเป็นเครื่องลดทอนความน่าเชื่อถือของการเคลื่อนไหว
เซย์เนป ชี้ว่า เมื่อการรวมตัวของคนนับล้านสามารถเกิดขึ้นไปจากจุดเริ่มต้น ณ บัญชีเฟซบุ๊กเดียวด้วยระยะเวลาไม่กี่เดือน จากปรากฏการณ์ที่เห็นได้กับกรณีของ 'การเดินขบวนของผู้หญิง' (Women's March) ในปี 2560 ที่คาดว่าจะมีผู้ร่วมกิจกรรมถึง 2 แสนคนในกรุงวอชิงตันดีซี ของสหรัฐฯ
ทว่าการเรียกร้องครั้งล่าสุด ที่มีเป้าหมายแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ กับประเด็นสิทธิสตรี กลับไม่สามารถสร้างความตราตรึงใจและผลลัพธ์อันจับต้องได้ เมื่อเทียบกับการประท้วงในสถานที่เดียวกันเมื่อหลายทศวรรษก่อนหน้า อย่างประวัติศาสตร์ที่การเคลื่อนทัพมวลชนของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ณ วันที่ 28 ส.ค. 2506 (1963) เคยประกาศศักดาเอาไว้ แม้ตัวเลขผู้ชุมนุมจะไม่แตกต่างกัน
คำอธิบายของปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นเพราะขณะที่ขบวนการแรกใช้เวลาและความยากลำบากเพียงเล็กน้อยในการรวมตัวกัน ขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้คนดำใช้เวลาประกอบร่างไม่ต่ำกว่า 10 ปี ก่อนจะมาอยู่ในจุดที่เคลื่อนขบวนไปยังกรุงวอชิงตันดีซี มิหนำซ้ำ ทั้งกระบวนการก่อนและระหว่างการเคลื่อนตัว มวลชนยุคนั้นเผชิญหน้ากับอุปสรรคในระดับที่แตกต่างกับปัจจุบันมาก
"เมื่อมันเป็นเรื่องยากมากที่จะกระทำการสิ่งหนึ่ง การออกมาเดินขบวนประท้วงจึงนับเป็นสัญญะสำคัญเพื่อสะท้อนไปยังเหล่าผู้ครองอำนาจแล้ว ขณะที่เมื่อการจัดการบางอย่างเป็นเรื่องง่าย กระบวนการนั้นจึงเป็นเพียงการตั้งคำถามต่ออนาคตว่า บางทีมันอาจจะเดินไปข้างหน้าต่อได้ หรือบางทีก็อาจจะไม่ไปไหน"
การแสดงออกที่ไม่ได้ผ่านความยากลำบากมากนักจึงถูกมองเป็นเรื่อง 'ไม่น่าเชื่อถือ' จนนำไปสู่การถูกเมินเฉยจากเหล่าผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ประท้วงเลือกกระทำการที่มีความเสี่ยง แสดงออกถึงการเสียสละ และพร้อมสูญเสีย สิ่งที่ได้กลับมาก็อาจไม่ใช่ชัยชนะแต่เป็นการถูกกดทับด้วยพละกำลัง อำนาจ และกองทัพ
เป็นเรื่องน่าเศร้าใจว่า 'การปราบปราม' เหล่านั้นมักได้ผลในตอนท้าย เพราะแม้ว่าประชาชนมีจิตใจที่แน่วแน่มากเพียงใด อำนาจในการต่อรองระหว่างคนธรรมดากับรัฐบาลก็ยังต่างกันหลายช่วงตัว (หรือไม่อาจเทียบกันเลยตั้งแต่ต้น)
เซย์เนป ยกตัวอย่างเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นช่วง 'อาหรับสปริง' ซึ่งเป็นการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลางว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวประชากรชาวบาห์เรนถึงหนึ่งในสามออกมาประท้วงบนท้องถนน (เทียบเท่าตัวเลขราวๆ 22 ล้านคนสำหรับประเทศไทย เมื่อคำนวณจากจำนวนประชากรรวม 65 ล้านคน ณ ปี 2562)
แทนที่จะยอมจำนวนด้วยมติของปวงประชา รัฐบาลบาห์เรนตอนนั้นกลับเลือกใช้กำลังเข้าปราบปรามฝูง ทั้งจับกุม ทรมาน ไปจนถึงการสังหาร และท้ายสุดชาวบาห์เรนเหล่านั้นก็พ่ายแพ้ ซึ่งเหตุการณ์ข้างต้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับบาห์เรนเท่านั้น แต่ยังย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์จตุรัสเทียมอันเหมินเมื่อ 31 ปีก่อน และอีกหลายที่ทั่วโลก
อย่างไรก็ดี รัฐบาลบางประเทศกลับไม่เลือกแนวทางข้างต้นและยอมแพ้ให้กับมวชนแทน เช่น ในครั้งที่ชาวฟิลิปปินส์นับล้านออกมาประท้วงขับไล่ ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ เอ็มมานูเอล เอดราลิน มาร์กอส เมื่อปี 2529 (1986) ผู้ครองอำนาจนานกว่า 2 ทศวรรษ
เหตุการณ์ข้างต้นเป็นที่มาซึ่ง เซย์เนป ยืมมาเป็นเครื่องยืนยันว่าที่สุดแล้ว 'การประท้วง' นำมาซึ่งความสำเร็จในระยะยาว โดยเธออธิบายว่าสิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวทำเป็นการบั่นทอนอำนาจที่สำคัญที่สุดของการคงไว้ซึ่งอำนาจ อย่าง 'ความชอบธรรม' อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่า การลงถนนนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการได้มาซึ่งชัยชนะ
เนื้อแท้ของการชุมนุมประท้วงนอกจากจะเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนควบรวมไปยังความคับข้องใจ แต่ยังเป็นการดึงความสนใจของมวลชนกลุ่มอื่น เพื่อเอื้อให้มีการเปิดบทสนทนาและการถกเถียง อันนำไปสู่ทางออกโดนทันทีบ้าง นำไปสู่ปัญหาที่เสมือนจะเลวร้ายลงบ้าง แต่ท้ายสุดแล้วกระบวนการเหล่านั้นจะหล่อหลอมทั้งตัวผู้เข้าร่วมการชุมนุมเอง ไปจนถึงสังคมโดยรอบ ท้ายสุดสิ่งนี้ต่างหากคือชัยชนะที่แท้จริงตามมุมมองของเซย์เนป
เธอเชื่อว่าการที่บุคคลหนึ่ง ผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วยแนวคิดหลวมๆ เปลี่ยนแปลงตนเองจนกลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวตลอดชีวิต สร้างคุณค่าและความสำเร็จให้กับกระบวนการเรียกร้อง เพราะภาวะเช่นนี้จะนำไปสู่การหมดความชอบธรรมของรัฐบาล
ในภาวะที่ประชาชนหมดความศรัทธาที่มีให้ต่อผู้บริหารประเทศแล้ว แม้จะถูกบังคับข่มขู่ให้ทำตาม แต่ผู้มีอำนาจก็ไม่อาจบังคับจิตใจผู้คนให้ฝักใฝ่หรือเสน่หาได้อีกต่อไป
เซย์เนปขมวดปมคำถามที่หลากหลายผู้คนพากันถามเธอเข้ามาว่าประท้วงไปแล้วจะได้อะไร ด้วยการการทิ้งท้ายว่า บางที่คุณค่าและความหมายของการประท้วงก็เติมเต็มตัวมันเองอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อผู้คนเลิกถามว่าการประท้วงครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมในระยะสั้นหรือระยะยาวอย่างไร เพียงแต่รู้สึกขับเคลื่อนด้วยศีลธรรมพื้นฐานว่าต้องออกไปร่วมเป็นอีกหนึ่งหน่วยที่ช่วยเติมเต็มพื้นที่บนท้องถนนนั้น
อ้างอิง; The Atlantic, PBS, NPR, WP, Britannica